‘ปาป้า-ทูทู่’ วอนทบทวน พ.ร.ก.ประมง หวั่นอวสานนิเวศทะเลไทย

มาสคอตเมืองแม่กลอง ขอพูดแทนเพื่อนปลาไทย หลังสภาสูงผ่านวาระ 1 แก้ พ.ร.ก. ประมง เอื้อใช้ ‘อวนมุ้ง’ จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ชวนประชาชนร่วมลงชื่อ ยกเลิก ม.69 ผ่าน Change.org

วันนี้ (17 ม.ค. 68) เพจ Plaplatootoo “ปาป้า-ทูทู่” มาสคอต จ.สมุทรสงคราม โพสต์ให้ข้อมูล พร้อมเรียกร้องการทบทวน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 69 โดยมองว่า เปิดช่องให้มีการใช้ อวนตามุ้ง (อวนตาถี่) ที่อาจนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศทางทะเลและการสูญพันธุ์ของปลาไทย

ในโพสต์ดังกล่าว ได้ระบุถึงความกังวลว่า การแก้ไขมาตรา 69 นี้ จะอนุญาตให้มีการใช้อวนขนาดตาถี่ 3-5 มิลลิเมตร เพื่อจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่ห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนกว่า 65 ชนิด การใช้แสงไฟล่อสัตว์น้ำในเวลากลางคืนถือเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายมาอย่างยาวนาน เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ

จึงขอให้ประชาชนร่วมลงชื่อในแคมเปญบนเว็บไซต์ Change.org ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 69 พรก. การประมง โดยอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่และวิธีล้อมจับในเวลากลางคืน พร้อมเสนอให้สนับสนุนการประมงเชิงอนุรักษ์ การใช้เครื่องมือประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนประมงอย่างยั่งยืน

“ปาป้าขอพูดแทนปลาทูไทย ไม่อยากให้ปลาทูไทยสูญพันธุ์ อวนที่จะถูกใช้จับสัตว์น้ำ
ในทะเลไทย… ดินสอยังผ่านแทบไม่ได้ ปลาเล็กปลาน้อยเพื่อน ๆ ปาป้า
หมดทะเลแน่นอน”

จากข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันมีเรือจับปลากะตักเพียง 175 ลำที่จดทะเบียนในไทย ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านมีมากถึง 50,000 ลำ ดังนั้น การออกกฎหมายใหม่ จึงไม่ใช่การสนับสนุนวิถีประมงเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเสี่ยงต่อการขัดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs ข้อ 14) อาจทำให้ไทยได้รับใบเหลืองจาก EU อีกครั้ง

ทั้งนี้การจับปลากะตักในตอนกลางวัน มีอัตราการสูญเสียปลาที่ไม่เป็นเป้าหมายเพียง 7% ขณะที่การใช้ไฟล่อในตอนกลางคืนอาจทำให้สูญเสียถึง 30 – 40% จึงควรจำกัดการใช้อวนตาถี่ในเวลากลางคืน เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

กฎหมายผ่านสภาสูงวาระ 1 พร้อมเสียงคัดค้าน!

ก่อนหน้านี้ (13 มกราคม 2568) ร่างแก้ไขกฎหมายประมงฉบับใหม่ ผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และ วุฒิสภา (สว.) ในวาระที่หนึ่ง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างจำนวน 21 คน เพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 7 วัน ก่อนเข้าสู่วาระต่อไป ซึ่งถ้าสำเร็จ อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนประมงพื้นบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงปลาที่ไม่ใช่เป้าหมายในการจับ (bycatch) ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เติบโตเต็มที่ และไม่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : มติ 165 : 11 สว. ผ่านวาระ 1 ร่างแก้ กม.ประมง มองมุมต่าง กลุ่มหนุน – ค้าน บุกรัฐสภา

ขณะที่ บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ในการพิจารณาแก้ไขมาตรา 69 จะให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรปลาอย่างเหมาะสม ไม่เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยข้อกำหนดจะยังไม่มีผลบังคับใช้โดยทันทีเมื่อกฎหมายผ่านเป็นพระราชบัญญัติแล้ว เพราะต้องนำไปพิจารณาในการกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขทางวิชาการ เช่น ขนาดตาอวนทั้งผืนต้องมีขนาดไม่น้อยกว่ากว่า 0.6 เซนติเมตร และกำหนดช่วงเวลาให้ทำได้ในช่วงที่มีการปนของสัตว์น้ำอื่น ๆ น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 500 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ สว. โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนระบบนิเวศทะเลไทย ดังนี้

  1. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน”
  2. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล
  3. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง
  4. เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ แก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ จำนวน 3 คน
  5. ขอให้ กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active