ห่วงเปิดช่อง ใช้ ‘อวนตาถี่’ ล้อมจับสัตว์น้ำตอนกลางคืน บ่อเกิดหายนะระบบนิเวศทางทะเล ชี้ โกยได้หมดไม่เว้น ลูกปลาขนาดเล็ก เสี่ยงทำปลาเศรษฐกิจสูญพันธุ์ ชง 5 ข้อเสนอ ทางออกทบทวนกฎหมาย
วันนี้ (13 ม.ค. 68) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 22 จังหวัด, สมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักตกปลา, นักดำน้ำ รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยกว่า 500 คน นัดรวมตัวที่รัฐสภา เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา
โดยนำ “อวนตาถี่” หรือที่เรียกว่า อวนมุ้งขึงล้อมรอบเดินรอบพื้นที่รัฐสภา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนถึง การอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ที่มีขนาดเล็กมาก จับปลาในเวลากลางคืน ตามที่มีการแก้ไข ม.69 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมงฯ จะนำมาซึ่งหายนะของทะเลไทย เพราะจะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับทั้งหมด โดยไม่ปล่อยให้ได้เจริญเติบโต จึงเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา พิจารณาทบทวน ม.69 ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมงฯ พร้อมขอให้ตั้งกรรมาธิการที่มีส่วนร่วม ทั้งตัวแทนประมงพื้นบ้าน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม เข้าไปร่วมทบทวนเรื่องนี้
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ถูกตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินกำลังการผลิตของทะเล รวมทั้งการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทย ซึ่งทำให้ประมงไทย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้การรับรอง แต่ปรากฎว่าสภาผู้แทนราษฎร กลับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการออกร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.กำหนดการประมงฯ ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งกรณีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ภาคการประมงทางทะเลของประเทศไทย กลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต รวมทั้งเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเล และความยั่งยืน รวมถึงการรักษามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ
ถอยหลังไปสู่การทำประมงแบบไม่รับผิดชอบ
วิโชคศักดิ์ ระบุอีกว่า ในร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้แก้ไขสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงทั้งหมด การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากว่า 40 ปี เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสั่งริบเรือ และเครื่องมือประมงในกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เปลี่ยนเป็นการให้ศาลมีดุลยพินิจในการสั่งริบเรือ และเครื่องมือได้หรือไม่ก็ได้ รวมทั้งการลดโทษปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของอัตราโทษเดิม
“ยืนยันว่าการออกมาร่วมกันคัดค้านแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนทางอาหาร พวกเราจึงมาเรียกร้องต่อ สว.ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย กรุณานำมาตรา 69 กลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน และผู้บริโภค ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกนี้อนุญาตให้อวนที่ตาถี่ขนาดนี้ทำการประมง เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ ถือเป็นมาตรฐานตามหลักสากลที่ทุกประเทศตระหนักและยึดถือกันมาตลอด มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตเหมือนกับกำลังถอยหลังกลับไปในยุคหลายสิบปีก่อน”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
หวั่น ปลาทู – หมึก ไม่หลงเหลือในทะเลไทย
ขณะที่ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า การแก้ไขมาตรา 69 นับเป็นข้อกังวลของชาวประมงแทบทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาประมงพื้นบ้านมีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ด้วยการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย ไม่ทําลายระบบนิเวศ แต่รัฐกลับจะอนุญาตให้เครื่องมือที่ทำลายล้างสูงอย่างอวนมุ้ง มาทำการประมง ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะถูกจับไปทั้งหมด ทั้งนี้การทำประมงใน จ.ประจวบฯ มีฤดูกาลเปิดอ่าว และปิดอ่าว ในช่วงปิดอ่าว ชาวประมงพื้นบ้านต่างร่วมมือร่วมใจไม่จับสัตว์น้ำในช่วงนี้ เพราะต้องการให้เกิดการขยายพันธุ์ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ สิ่งที่ชาวบ้านทำจะไม่มีความหมาย
“ในส่วนของอ่าวประจวบหากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้บังคับวันใด วันนั้นก็อาจจะถึงจุดจบของสัตว์น้ำหลายประเภท โดยเฉพาะลูกปลาทู และลูกปลาหมึก สองสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงหายไปจากอ่าวประจวบ เพราะสัญชาตญาณของลูกปลา เมื่อเห็นแสงไฟก็จะเข้ามาว่ายเล่นทําให้ถูกล้อมจับไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการแก้ไขอนุญาตอวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก ที่มีตาอวนขนาดเล็กเพียง 6 มิลลิเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า เรือจับปลากะตักสามารถใช้แสงไฟล่อลูกปลา แล้วใช้อวนตาถี่ตักปลาไปได้ทั้งหมดทุกชนิด จะไม่มีอะไรเหลือรอดในทะเลเลย คำถามจึงเกิดขึ้นว่าการที่ชาวบ้านหยุดจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูปิดอ่าวนาน 3-5 เดือน เราทําไปเพื่อให้ประมงพาณิชย์ได้กอบโกยหรือ”
จิรศักดิ์ มีฤทธิ์
แนะรัฐต้องส่งเสริมจับสัตว์น้ำโตเต็มวัย ไม่ใช่จับสัตว์วัยอ่อน
แกนนำประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ระบุด้วยว่า รัฐควรที่จะส่งเสริมเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำโตเต็มวัย ไม่ใช่มาส่งเสริมให้จับสัตว์น้ำขนาดเล็กแบบนี้ หรือไปส่งเสริมให้จับปลากะตักในเวลากลางวันอย่างที่เคยทำกันมา ไม่ควรใช้ไฟล่อในเวลากลางคืนเพราะเกิดความเสี่ยงกับสัตว์น้ำขนาดเล็ก การกระทำเช่นนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ว่าแก้ไขมาตรา 69 มาจากแรงกดดันจากประมงพาณิชย์ ที่เป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมืองหรือไม่ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่สุดท้ายก็จะกระทบต่อไปยังผู้บริโภค ที่ในอนาคตจะต้องเผชิญกับราคาปลาที่สูงขึ้น เพราะจำนวนทรัพยากรในทะเลลดลง
สอดคล้องกับ พล ศรีรัฐ ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จ.พังงา ที่เห็นว่า การแก้ไขมาตรา 69 เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยในพื้นที่จ.พังงา มีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 3,000 – 4,000 ลำ ที่ผ่านมาทรัพยากรในน้ำเริ่มลดจำนวนลง ประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู อีกทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทั้ง ปลา ปลาหมึก และกุ้ง ของประทงพื้นบ้านจะมีเครื่องมือเฉพาะแยกแต่ละชนิด จับเฉพาะปลาที่โตเต็มวัยเพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรในทะเล แต่ประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือชนิดเดียว ตาอวนถี่ และใช้ไฟล่อลูกปลาในเวลากลางคืน ถือเป็นการทําลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ในพื้นที่ จ.พังงา ปลาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ปลาสีเสียด และปลากะพง
“อาชีพพี่น้องประมงพื้นบ้านกําลังจะหมดไปแล้ว ต่อไปคือตายแน่นอน ปัญหาคือการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มทุนอยู่ข้างหลังหรือไม่ ทั้งที่กลุ่มนี้มีเรืออยู่เพียง 170 กว่าลำ และอยู่กันมาได้ 40-50 ปีแล้ว วันนี้เราจึงต่อมาต่อสู้ เพื่อปกป้องระบบนิเวศ สัตว์น้ำทุกชนิดต้องพึ่งพากันทั้งห่วงโซ่ เมื่อประมงพาณิชย์มากวาดสัตว์น้ำไปทั้งหมด จะมาไม่ได้มีแต่ปลาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่จะกระทบต่อไปยังปลาขนาดใหญ่ อย่างปลาวาฬบูรด้าด้วย จึงขอวิงวอนต่อวุฒิสภาทบทวนการแก้ไขกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศในท้องทะเล และรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนด้วย”
พล ศรีรัฐ
เช่นเดียวกับ ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา ตัวแทนนักตกปลา บอกว่า ในฐานะผู้บริโภค นักตกปลา ที่มีเพื่อน ๆ เป็นไต๋พานักท่องเที่ยวตกปลา ตกหมึก รู้สึกผิดหวังกับมติของ สส. ที่โหวตผ่านมาตรานี้ ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ที่ทุกคนควรได้เข้าถึงทรัพยากรอาหารทางทะเล โดยเฉพาะปลาตัวเต็มวัย การอนุญาตใช่อวนตาถี่จับปลาวัยอ่อน เป็นการตัดวงจร ความมั่นคงอาหาร การเข้าถึงทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและทุกอาชีพทางทะเล
เปิด 5 ข้อเสนอ ส่งถึงมือ สว.
สำหรับข้อเสนอนั้น ประกอบด้วย
- ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน”
- ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล
- ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง
- เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ แก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ จำนวน 3 คน
- ขอให้ กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษากมธ.วิสามัญฯ
“ใครกันนะ ขโมยปลาปิ้ง ?” กิจกรรมทวงคืนความเป็นธรรมสู่ทะเลไทย
ทั้งนี้ภายหลังการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา เครือข่ายชาวประมง ยังได้จัดกิจกรรม เชิงสัญลักษณ์ “ใครกันนะขโมยปลาปิ้ง ?” โดยการปิ้งปลาล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย พร้อมกับการมาของอวนยักษ์ที่จะมาขโมยปลาไปจากทะเลไทย และร่วมกันรับประทานปลาปิ้งกับชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมเวทีปราศรัย “อนาคตของทะเลไทยจะแย่แค่ไหนหากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภาฯ” โดยตัวแทนชาวประมงไทย
จากนั้นเวลา 13.00 น. จะมีกิจกรรม “ร่วมกันตามหาปลาที่หายไป” ที่พรรคเพื่อไทย ก่อนที่ในเวลา 16.00 น. จะจัดกิจกรรม “ร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะหายไป” ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่าง “ร่วมกันหยุดอวนมุ้งยักษ์ที่กำลังจะทำให้ปลาหายไปจากทะเลไทย” โดยกลุ่มศิลปินคอมมูนิตี้อาร์ต (ศิลปะเพื่อชุมชน) กิจกรรมล่ารายชื่อปกป้องลูกปลากับกลุ่มนักดำน้ำไทย ร่วมชิมปลาปิ้งจากทะเลไทยล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย
ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับลูกปลาทะเลไทยหากกฎหมายฉบับใหม่ผ่าน และฟังเรื่องเล่า “โลกใต้น้ำจะเปลี่ยนไปหากกฎหมายผ่านสภาฯ” โดย กลุ่มนักดำน้ำ “ไทยเราจะมีปลาให้ตกอีกหรือไม่หากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภาฯ” โดยกลุ่มนักตกปลาแห่งประเทศไทย และ “ประมงไทยจะเปลี่ยนไปแต่ไหนหากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภาฯ” โดยตัวแทนชาวประมง