สายปลาดิบเลิกกังวล ! อย.ยังไม่พบอาหารทะเลปนเปื้อน

หลังญี่ปุ่นปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล กรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เฝ้าระวังอาหารทะเลนำเข้าอย่างเข้มงวด หากพบการปนเปื้อนส่งคืนหรือทำลายทันที

จากกรณีที่บริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ หรือ TEPCO ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิของญี่ปุ่นเปิดเผยภาพเจ้าหน้าที่เริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 24 ส.ค.66 ตามเวลาท้องถิ่น โดยทางบริษัทระบุว่า ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นลงนามในแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และได้รับการเห็นชอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แผนดังกล่าวสอดคล้องตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล

ทั้งนี้แผนการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และก่อนหน้าการปล่อยน้ำเสียมีรายงานชี้ว่าระดับรังสีในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ 1.5 กิโลเมตร สูงถึง 1.7 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งระดับรังสีที่พบอยู่ในธรรมชาติทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 0.05 – 0.2 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมงเท่านั้นขณะที่ประชาชนและรัฐบาลในหลายประเทศออกมาคัดค้าน เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ด้านผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น จากสถิติร้านอาหารญี่ปุ่นของไทย ปี 65 มีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 5,325 ร้าน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 65 ไทยนำเข้าอาหารทะเลจากทั่วโลก 3,954 ล้านเหรียญสหรัฐโดยเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่นสัดส่วนประมาณ 5% และถือเป็นประเทศแรกที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ในปี 2561 เป็นต้นมา จึงอาจส่งผลให้ประชาชนชนเกิดความกังวลว่าจะได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากการรับประทานอาหารทะเล 

ซึ่งทันทีที่ญี่ปุ่นทยอยระบายออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมประชุมกับผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.)  เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่าเกณฑ์กำกับดูแล (Regulatory Standards) สำหรับการปล่อยทิ้งของญี่ปุ่น และเกณฑ์แนะนำ (Guideline Level) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับน้ำดื่ม รวมถึงได้รับความเห็นชอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศให้สามารถปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเลได้

ภก.เลิศชาย กล่าวว่า ขอผู้บริโภคอย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย เพราะการนำเข้าอาหารทะเลเจ้าหน้าที่ด้านประมง ของกรมประมง และด้านอาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) เพื่อมิให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด หากพบจะสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที 

“กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังและตรวจสอบ ขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารทะเลที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นที่จะยกระดับความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร”

ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 กองด่านอาหารและยา อย. สุ่มตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี ไม่พบตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะ ส่งตรวจวิเคราะห์ในปี 65 จนถึงเดือนเมษายน 66 จํานวน 4,375 ตัวอย่าง พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีไม่เกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน

รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย.ร่วมกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวดซึ่งหากพบการปนเปื้อน อย.จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และกรมประมง ขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน  ภาครัฐมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ หากพบผลิตภัณฑ์อาหารใดที่เป็นอันตราย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active