สิ้นสุดการรอคอย! มติ สว. เห็นชอบ “สมรสเท่าเทียม”

ที่ประชุมวุฒิสภา โหวตด้วยเสียงเห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง

วันนี้ (18 มิ.ย. 67) ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภา ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และวาระ 3 ในที่สุดสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 152 เสียง ได้ลงมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ด้วยเสียงเห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง    

จากนี้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะถูกส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และจะถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  

สำหรับบรรยากาศที่บริเวณอาคารรัฐสภา มีภาคประชาชนร่วมแสดงความยินดี ภายหลังวุฒิสภามีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยได้มอบดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณต่อสมาชิก สว. และ สส. ที่ให้การสนับสนุนสมรสเท่าเทียม

กัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม ระบุว่า วันนี้เป็นวันที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยขอหยิบยกคำว่า Freedom เพื่อบ่งบอกว่า เสรีภาพของพวกเราต้องปักหมุดในพื้นที่นี้ สิทธิเสรีภาพ ต้องได้รับการยอมรับในประเทศนี้ และในเวทีโลกด้วย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล บอกว่า ความพยายามของประชาชนได้รับการตอบสนอง โดยนักการเมืองทั้งสภาฯ บน และสภาฯ ล่าง ชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ยืนยันในหลักการ สิทธิกี่อยู่ร่วมกัน การวางแผนครอบครัวร่วมกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศสภาพ

“ในช่วงที่การเมืองหดหู่ แต่มีความเป็นไปได้ที่ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเจตจำนงค์ของประชาชน และพิสูจน์ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ”  

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากนี้ภาคประชาชนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ที่เตรียมการเฉลิมฉลองการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมี วราวุธ ศิลปาอาชา รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นตัวแทนรัฐบาลคอยให้การต้อนรับ

The Active ชวนย้อนดูเส้นทางของ “สมรสเท่าเทียม” กว่าจะมาถึงวันนี้

ปี 2544

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกที่รับรองให้การแต่งงานของเพศหลากหลาย ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาด้วยหลายประเทศทยอยผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ใน “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” แต่แนวคิดนี้ตกไป โดยอ้างว่ากระแสสังคมในเวลานั้นยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้

ปี 2554

เกิดกรณีคู่รักเพศหลากหลายถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรส จึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ปี 2556

เริ่มดำเนินการร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ในสมัย “รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แต่ไม่ได้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ไม่เท่ากับ คู่รักชาย-หญิง ท่ามกลางกระแสโลกตอนนั้น ชาติตะวันตก มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ Civil Partnership ออกมาบังคับใช้ ไทยจึงเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ปี 2557

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยุติลง ภายหลังเกิดรัฐประหาร

ปี 2563

แนวคิด “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ใน “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว ภายใต้คำใหม่ “สมรสเท่าเทียม” พร้อมทั้งล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชนชน รวมถึงร่างกฎหมายจากพรรคก้าวไกล แต่ทะลุไปได้แค่วาระแรกในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเหตุสภาฯ ล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ ทำให้ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ตกไปตามรัฐธรรมนูญ

31 ธันวาคม 2563

ดลวัฒน์ ไชยชมภู หรือ ครูมิกกี้ ครูหญิงข้ามเพศ สูญเสียคู่ชีวิตที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธอร่วมอาลัยสามีเป็นครั้งสุดท้ายในชุดข้าราชการสีขาว สะท้อนปัญหา “สมรสเท่าเทียมไม่มีจริง” ส่งผลให้เธอไม่สามารถมอบสิทธิ สวัสดิการ เบิกจ่ายยา ค่ารักษาพยาบาล ให้กับคนรักได้ เนื่องจากเป็นคู่รักเพศเดียวกัน

ปี 2564

“เพชร-ดาว” คู่รักเพศหลากหลาย ถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส ทั้งคู่จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า การสมรสเพียงเพศชายและหญิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคหรือไม่

17 พฤศจิกายน 2564

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “เอกฉันท์” ว่า มาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่แนะให้ทุกภาคส่วน เร่งตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิเพศหลากหลาย

28 พฤศจิกายน 2564

“กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม” จัดชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ เรียกร้องรัฐบาลเคารพสิทธิในการสมรสของทุกเพศ พร้อมเปิดเข้าชื่อเพื่อนำเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ผ่าน www.support1448.org ตั้งเป้า 1 ล้านรายชื่อ

5 มิถุนายน 2565

งาน Bangkok Naruemit Pride 2022 จัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง Pride Month ครั้งแรกของ กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นที่หน้าวัดแขก ตลอนแนวถนนสีลม เรียกร้องประเด็นสำคัญ คือ ความเท่าเทียม สิทธิทางกฎหมายและสวัสดิการจากรัฐ

15 มิถุนายน 2565

สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ 4 ฉบับ ได้แก่

– ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ

– ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) (ฉบับที่….) พ.ศ…. หรือ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” เสนอโดย คณะรัฐมนตรี (ครม.) 

– ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

– ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… เสนอโดย ครม. 

21 ธันวาคม 2566

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หยิบ “สมรสเท่าเทียม” เข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยพิจารณาพร้อมกัน 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือ “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่เสนอโดย ครม. รวมถึง ร่าง พ.ร.บ. ที่มีลักษณะเดียวกัน อีก 3 ฉบับ ซึ่งเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ อรรณว์ ชุมาพร นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทั้งร่างของ ครม. พรรคการเมือง และภาคประชาชน ได้เสียงโหวตรับหลักการในวาระที่ 1 ถึง 369/10 เสียง โดยสภาฯ ให้ยึดร่างฯ ของ ครม. เป็นร่างหลัก และผ่านในวาระ 2- 3 ด้วยคะแนนท่วมท้นเช่นเดียว

2 เมษายน 2567

วุฒิสภา โหวตผ่านวาระแรก “ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ด้วยคะแนน 147/4 เสียง

18 มิถุนายน 2567

“ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่ผ่านการกลั่นกรองจาก กมธ.วิสามัญ 27 คน จากตัวแทนของทุกฉบับ ถูกนำกลับเข้ามาโหวตอีกครั้ง โดยวุฒิสภา มีมติโหวตผ่าน “สมรสเท่าเทียม”

ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 37 ของโลก เป็นแห่งที่ 2 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่การสมรสของคนเพศหลากหลายถูกรับรองโดยกฎหมาย


หมายเหตุ : สำหรับในเอเชียนั้น แห่งแรกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ “ไต้หวัน” เช่นเดียวกับ “ไทย” ที่กระบวนการออกกฎหมายผ่านกลไกรัฐสภา ส่วนกรณี “เนปาล” ที่อนุญาตให้คู่รักเพศหลากหลายแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายคู่แรกเมื่อปลายปี 2566 ก็ยังเป็นข้อถกเถียงเนื่องจากเป็นไปตามคำสั่งชั่วคราวของศาล ซึ่งขณะนี้รัฐสภาเนปาล ก็ยังไม่ได้ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active