ปรากฏการณ์วาย : จากหลุมดำ สู่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทย

นักวิชาการ – นักเขียน ชี้ กระแสวายไทย โดดเด่น ยกหนัง “รักแห่งสยาม” เมื่อ 17 ปีก่อน คือลมใต้ปีก ให้แก่อุตสาหกรรมวายทั่วเอเชีย

วันนี้ (22 มิ.ย. 67) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดเสวนา “สำรวจปรากฏการณ์วาย” โดยมี อรรถ บุนนาค นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT ร่วมด้วย รศ.นัทธนัย ประสานนาม จากภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทั้งนี้หนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่เป็นเหมือนก้าวแรกการจุดกระแสวายในสังคมไทยคงหนีไม่พ้นเรื่อง “รักแห่งสยาม” ในปี 2550 ผ่านมา 17 ปี หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉาย กระแสและความนิยมดังกล่าวได้รับการรยอมรับในวงกว้างมากขึ้นในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด

รักแห่งสยาม(2550)
กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ วัฒนธรรมวาย ในสังคมไทยต้องผ่านการเผชิญกับกระแสในแง่ลบและมีช่วงเวลาที่เรียกว่า ยุคมืด จนการหาซื้อนิยายวายต้องอยู่ในรูปแบบของ ตลาดใต้ดิน จนกระทั่งในปี 2551 นิยายเหล่านี้ยังถูกสั่งห้ามจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ด้วยข้อหา การเป็นสื่อที่มีเนื้อหา ขัดต่อศีลธรรมอันดี ด้วย

อรรถ ชี้ว่า ในช่วงเวลานั้นเอง ทำให้ผู้ชื่นชอบการเสพย์นิยายวายต้องหันไปพึ่งพาคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกย์แทน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบมังงะ หรือวิดีโอ เพราะการเข้าถึงนิยายวายเป็นเรื่องยาก

“ในช่วงเวลานั้น เราได้เห็นการสั่งปิดบูทนิยายวาย ได้เห็นการเอาการ์ตูนวาย ทิ้งลงใส่ลัง และสาววายทั้งหลายก็ถูกสันติบาลตั้งข้อหา เนื่องจากการ์ตูนวายเป็นการแสดงถึงความเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีงามของวัฒนธรรมไทย”

อรรถ บุนนาค

ขณะที่ นัทธนัย มองว่า การสั่งแบนสื่อวาย ส่งผลกระทบในวงกว้าง ลามไปถึงคอนเทนต์เกี่ยวกับ LGBTQ อื่น ๆ ด้วย แต่ก็นำไปสู่การขยายตลาดใหม่ ๆ ของกลุ่มดังกล่าว

“ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยประเมินค่า ‘สื่อวาย’ ในฐานะสื่อลามก กระทั่งเกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 2548  ทำให้ผู้เขียน-ผู้อ่าน วรรณกรรมวาย ต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารกันอย่างลับ ๆ เราเห็นปรากฏการณ์นร้านหนังสือเจ้าใหญ่แห่งหนึ่ง ประกาศไม่ยอมขายของนิยายเหล่านี้ จนกระทั่งปี 2550 เมื่อซื้อหาอย่างโจ่งแจ้งไม่ได้ เนื้อหาเหล่านี้จึงไปปรากฏในโลกอินเทอร์เน็ต ขยายออกไปทางเวบบอร์ดมากยิ่งขึ้น และถึงที่สุด คนที่ชอบสิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ทำให้เริ่มมีนักเขียนที่ผลิตและตีพิมพ์ผลงานของตัวเอง แต่ยังคงมีราคาที่สูงมาก” 

รศ.นัทธนัย ประสานนาม

ถ้าลองหันกลับมามองที่ยุคปัจจุบัน การมาสู่ของภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม (2550) เป็นเหมือนหมุดหมายใหม่ของวัฒนธรรมวายในประเทศไทย กลายเป็นแบบอย่างของภาพยนตร์อีกหลาย ๆ เรื่องของประเทศไทยรวมทั้งเอเชียด้วยจนเรียกได้ว่าเป็นลมใต้ปีก

“สื่อวายในยุคหลัง เราได้เห็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ที่มีเรื่องราวความระหว่างชายหนุ่ม หรือ ‘หลานม่า’ ที่แม้ไม่ได้มีเรื่องราวความรักแบบวาย แต่กลับมีกลิ่นอายที่คล้ายคลึงกับรักแห่งสยามไม่มีผิด ในภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า หรือซีรีส์อย่าง ‘ฮอร์โมน’ ทำให้เราเห็นการใช้ชีวิตของครอบครัวชาวจีนในห้องแถว ซึ่งต่างจากภาพยนตร์หรือเรื่องราวของชาวจีนที่ถูกเล่าในอดีตอย่าง ‘หงส์เหนือมังกร’ ‘อยู่กับก๋ง’ หรือ  ‘ลอดลายมังกร’ ซึ่งเป็น epic ที่ใหญ่มาก แต่ไม่ได้มีความร่วมสมัยกับชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วไป”

อรรถ บุนนาค
อรรถ บุนนาค
นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT 

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ JLIT ยังมองว่า ความโด่งดังของภาพยนตร์นี้ กลายเป็นต้นแบบของการสร้างซีรีส์หลายเรื่อง และสร้างกรอบความคิดในการสร้างภาพยนตร์ในเอเชีย ที่ไม่ใช่เพียงแต่การมองในแง่ของความเป็นวัฒนธรรมวายเท่านั้น

“ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหาของวัฒนธรรมวายในภาพยนตร์เท่านั้น แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยที่เป็นสถานที่เรียน หรือแม้แต่นมชมพู ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจประเทศไทยด้วย”

อรรถ บุนนาค

วันนี้ นอกจากวัฒนธรรมวายจะได้รับการยอมรับและเข้าใจในวงกว้างในประเทศแล้ว ยังขยายเขตแดนอย่างโดดเด่นในต่างประเทศด้วย ไม่เพียงแต่ตัวเนื้อหาของเรื่องราวเท่านั้น แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์หรือนิยายวายจากประเทศไทย ก็กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้ชาวต่างชาติรู้จัก และสนใจประเทศไทยมากขึ้นด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active