เพิ่มโอกาสรอด ! จากอุบัติบนเครื่องบิน มีสติ เชื่อฟังลูกเรือ งดส้นสูง อย่าห่วงทรัพย์สิน

อดีตหัวหน้าแอร์เผยวิธีเอาตัวรอดบนเครื่องบินเมื่อเกิดเหตุคับขัน ย้ำ หากมีสติก็มีโอกาสรอดมากขึ้น 

จากกรณีที่เครื่องบินโดยสาร สายการบินสายการบินเจจูแอร์ (Jeju Air) ของเกาหลีใต้ เที่ยวบินที่ 7C2216 ที่เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย มุ่งตรงสู่ประเทศเกาหลีใต้ เกิดเหตุไถลออกนอกรันเวย์ ชนกับรัวกั้นของท่าอากาศยานนานาชาติ “มูอัน” ชอลลาโต้ เกาหลีใต้ และระเบิดจนเกิดไฟลุกท่วมขณะลงจอด เมื่อเช้าที่ 29 ธ.ค. 67 (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ผ่านมานี้

จากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 181 คน มีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 179 ราย (ในจำนวนนี้เป็นลูกเรือ 4 ราย) และมีลูกเรือรอดชีวิตเพียง 2 รายที่ติดอยู่บริเวณหางเครื่อง โดยขณะนี้ ยังคงอยู่ระหว่างการเร่งกู้กล่องดำเพื่อการระบุสาเหตุที่แน่ชัดของอุบัติเหตุ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการแชร์ความรู้ถึงวิธีเอาตัวรอดหากเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุไว้อย่างหลากหลาย

วันนี้ (30 ธ.ค. 67) สุทธินันท์ มณีหล่อสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าแอร์โฮสเตสสายการบิน Emirates และ Japan Airlines และเจ้าของสถาบันสอนแอร์ SkyCoachMam เปิดเผยกับ The Active ว่าหากเกิดสถานการ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดบนเครื่องบิน ควรท่องจำไว้อย่างน้อย 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ฟังคำสั่งของลูกเรือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
  2. อยู่ในท่า Brace for impact หรือเก็บคองอเข่า  
  3. หมอบคลานต่ำ หาผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกันควันไฟ
  4. อพยพตามเส้นสะท้อนแสงไฟที่พื้น
  5. ทิ้งสัมภาระทั้งหมด

ในขณะที่เครื่องบินกำลังจะลงจอด และลูกเรือประเมินแล้วว่าอันตราย อาจมีการชนหรือกระแทกอย่างรุนแรง จะมีมีการประกาศให้ผู้โดยสารว่าขอให้มีการ “เก็บคอ งอเข่า” หรือ “head down bend your knee” เพราะเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุด

Brace for impact หรือ เก็บคอ งอเข่า
ท่าป้องกันของผู้โดยสาร เมื่อเครื่องบินต้องลงจอดในภาวะวิกฤต

“Brace for impact หรือ ท่าเก็บคอ-งอเข่า  สำหรับเตรียมเมื่อเครื่องบินกำลังกระแทกพื้น ต้องก้มตัวให้มากที่สุด (ให้ต่ำกว่าเบาะหน้า) และกอดตัวให้แน่นที่สุด และหากนั่งเก้าอี้แถวหน้าสุด ไม่มีอะไรบัง ยิ่งจำเป็นต้องก้มตัวให้ต่ำที่สุดเพื่อให้พ้นระยะหากมีวัตถุปลิวและกระแทกจนกว่าเครื่องบินจะหยุด”

สุทธินันท์อธิบาย

เตรียมอพยพ หมอบคลานต่ำ เลี่ยงสำลักควันไฟ

เมื่อลูกเรือประเมินแล้วว่าต้องมีการอพยพ ขอให้หมอบคลานให้ต่ำ หาเสื้อผ้าอุดจมูก ป้องกันการสำลักควัน เนื่องจากควันไฟจะลอยตัวสูงขึ้น และคลานตามที่สะท้อนบนพื้นทางเดินเพื่อนำไปสู่ทางออก

“เมื่อเครื่องบินจอดสนิท ลูกเรือจะรอสัญญาณจากนักบินเพื่อประกาศอพยพ และประเมินว่าควรออกประตูฉุกเฉินฝั่งไหน จากนั้นจะมีการกาง “Slide-Raft” หรือ “ไลด์เดอร์แพยาง” ภายในเวลา 30 วินาที ทุกคนจำเป็นต้องทิ้งสัมภาระและทำตามทุกอย่างที่ลูกเรือบอก

“โดยปกติ เราต้องอพยพผู้โดยสารออกภายในเวลา 90 วินาที แต่ผู้โดยสารบางคนห่วงทรัพย์สินทำให้อพยพออกมาไม่ทัน เรามีบทเรียนจากสายการบินแจแปน แอร์ไลน์เมื่อปีก่อน ที่สามารถอพยพผู้โดยสารออกมาได้ภายใน 60 วินาทีเท่านั้น เพราะผู้โดยสารเชื่อฟังคำสั่งของลูกเรืออย่างเคร่งครัด และมีสติ” สุทธินันท์เล่า

นั่งตรงไหนปลอดภัยสุด ?

อดีตหัวหน้าแอร์เปิดเผยว่า บริเวณช่วงกลางของเครื่องบินเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะเป็นส่วนของน้ำมันและเครื่องยนต์ที่อาจระเบิดได้ ในขณะที่ในส่วนหางของเครื่องบินอาจปลอดภัยกว่า แต่ต้องแลกกับการเจอกับแรงกระแทกเวลาเครื่องตกหลุมอากาศหรือลงจอด

“ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเครื่องบินมีการระเบิด จะเกิดขึ้นที่ส่วนกลางของเครื่องเนื่องจากมี engine อยู่ แต่โดยสภาวะปกติ จะถือว่าเป็นส่วนที่เผชิญกับแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าเมื่ออยู่ในเขตอากาศแปรปรวนหรือตกหลุมอากาศ เมื่อเทียบกับบริเวณหางและหัวของเครื่องบิน”

สุทธินันท์ มณีหล่อสวัสดิ์
อดีตหัวหน้าแอร์โฮสเตสสายการบิน Emirates และ Japan Airlines  

สุทธินันท์ แนะนำว่า หากเป็นคนที่เมาเครื่องบินหรือกลัวการเดินทาง การนั่งกลางอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

แต่ไม่ว่าจะนั่งส่วนใด ควรเลือกที่นั่งใกล้กับประตูฉุกเฉินที่สุดห่างอย่างน้อยไม่เกิน 5 ที่นั่ง และคอยสังเกตว่าประตูฝั่งไหนที่ใกล้ที่นั่งเรามากที่สุดเพื่อให้ตัดสินใจได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ชุดที่เหมาะสม จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

สิ่งที่ไม่ควรสวมใส่เมื่อขึ้นเครื่องบินอย่างเด็ดขาดคือ รองเท้าส้นสูง เสื้อผ้าที่มีสายระโยงยาง เสื้อผ้าใยสังเคราะห์ และชุดที่รัดรูป

เนื่องจากในจังหวะที่ต้องอพยพ หากผู้โดยสารใส่ส้นสูงมาจะถูกสั่งให้ถอดออกทันที เพราะอาจไปเจาะกับ Slide-Raft หรือสไลเดอร์แพยางได้ ที่แม้จะแข็งแรงและหนามาก แต่ยังมีโอกาสที่ส้นสูงบางแบบจะเจาะจนรั่วและเกิดอันตรายได้

กางเกง-กระโปรงสั้น ก็ไม่ควรสวมใส่อย่างยิ่ง เนื่องจากหากต้องมีการใช้สไลเดอร์แพยาง ที่ต้องสไลด์ตัวลงมาด้วยความสูงมาก (ในระดับตึก 2 ชั้นเป็นอย่างน้อย) จะทำให้ผิวหนังเกิดการเสียดสีและไหม้ได้

อดีตหัวหน้าแอร์ยังบอกอีกว่า เสื้อผ้าประเภทใยสังเคราะห์ และเลกกิ้งเป็นอีกสิ่งที่ควรเลี่ยง เนื่องจากหากเกิดไฟไหม้ ไฟจะลุกติดเสื้อผ้าได้ง่าย และการใส่เสื้อผ้ารัดรูปแนบเนื้อจะทำให้ผิวหนังเราติดไฟได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการแต่งกายที่มีสายระโยงระยาง เมื่อถึงเวลาอพยพในภาวะหนีตาย อาจเกี่ยวกับเก้าอี้ทำให้สะดุดล้มและโดนคนด้านหลังเหยียบทับได้

โดยสรุปแล้ว หากเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดคิดบนเครื่องบิน ขอให้ประคองสติให้มากที่สุด เชื่อฟังคำสั่งของลูกเรือ คอยสังเกตตำแหน่งประตูทางออกฉุกเฉิน ไม่ห่วงทรัพย์สิน หากจำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากออกซิเจนหรือชูชีพ ต้องทำให้ตัวเองก่อนทำให้ลูกหลาน และแต่งกายให้เหมาะสมอย่างการสวมใส่เสื้อยืดผ้าฝ้ายแขนยาว กางเกงขายาวที่ไม่รัดรูปเกินไป กับรองเท้าผ้าใบจะดีที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active