พีมูฟ – สลัม 4 ภาค ชุมนุมวันที่อยู่อาศัยโลก จี้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยให้มั่นคง หลายเรื่องผลักดันนานกว่า 10 ปี UN สะท้อนสถานการณ์คนจนหน้าใหม่จากโควิด-19 ที่ต้องเร่งหาแนวทางรับมือ
วันนี้ (3 ต.ค. 2565) ประชาชนจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศรวมตัวในนาม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และสลัม 4 ภาค เคลื่อนไหวเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยช่วงเช้ารวมตัวกันบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีตัวแทนผลัดเปลี่ยนพูดถึงปัญหาด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย พร้อมเน้นย้ำการทำงานตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของภาคประชาชนว่า “สิทธิที่อยู่อาศัย ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้”
หลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ชาวบ้านสะท้อนว่าล้วนต่อเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนา เช่น สงวน อุ่นผาง ชาวชุมชนเทพารักษ์ 5 จังหวัดขอนแก่น บอกว่าได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อในโครงการรถไฟทางคู่มาแล้ว เวลานี้กำลังจะโดนอีกรอบเมื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเข้ามา “เราหาเงินมาสร้างบ้านมั่นคงแล้ว ก็โดนรื้ออีกแล้ว เราไม่ขัดขวางหรอก แต่อยากให้หาที่ใหม่รองรับให้หน่อยและอย่าไล่อีก ให้มั่นคง ไม่อยากไปไหนอีกแล้ว”
เช่นเดียวกับ อาทิตย์ สังขะศรี ชาวจังหวัดยโสธร บอกว่าที่ดินที่เคยทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ชาวบ้านจับจองเต็มพื้นที่ แต่มาถูกประกาศเป็นที่ดินสาธารณะทับที่ทำกินของชาวบ้านและถูกดำเนินคดี
“เราไม่ได้ตัดต้นไม้สักต้นเลย ที่ดินมันถูกจับจองเต็มที่มาตั้งแต่แรกแล้ว แล้วมาประกาศเป็นที่ดินสาธารณะ ตอนนี้ก็มาเป็น นสล. แถมถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกอีก”
ขณะที่ชาวชุมชนบ้านมั่นคง เขตคลองเตย ก็มาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว ในนามชุมชนต้นแบบที่ผ่านการต่อสู้เรียกร้องจนได้มีบ้านมั่นคง นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ประธานชุมชน บอกว่า ตั้งแต่ชุมชนถูกย้ายและได้อยู่ในบ้านมั่นคง ชีวิตถูกพัฒนาอย่างรอบด้านรวมถึงมีการสร้างคนขึ้นมาร่วมผลักดันปัญหาเหล่านี้อีกด้วย “ถ้าคนจนมีบ้าน ชีวิตเขาถูกแก้ปัญหา ยกระดับอีกหลายเรื่องทั้ง คนแก่ คนพิการ เด็ก อาหาร สุขภาพ รวมทั้งมีแกนนำทำงานด้วย”
สำหรับปัญหาที่เครือข่ายภาคประชาชนในนามพีมูฟ ได้รวบรวม นำมาสู่ข้อเสนอปีนี้ เพื่อขอให้เร่งรัดแก้ปัญหามี 8 เรื่องเร่งด่วน
ได้แก่ 1) ขอให้เร่งรัดพิจารณายกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนและดำเนินการตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชน 486 ชุมชน 2) ผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหาย ผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ 3) แก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนนไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้านและปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ 4) เร่งลงนามให้คำรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….” 5) เร่งรัดผลักดันนโยบายการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้า 9 ด้าน 6) เร่งลงนามให้คำรับรองใน “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ….” (ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย) 7) เร่งรัดผลักดันให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภท และ 8) เร่งรัดให้มีการดำเนินการตามมติการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย
ขณะที่สลัม 4 ภาค เน้นการดำเนินการบ้านมั่นคงในพื้นที่ต้นแบบ เพิ่มงบฯ ไล่รื้อ และพัฒนาสาธารณูปโภค
ด้านตัวแทน องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น อ่านแถลงการณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก โดยปีนี้เน้นรณรงค์ในหัวข้อ “การพัฒนาที่อยู่อาศัย ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” และกล่าวถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มคนจนหน้าใหม่ ซึ่งเกิดจากผลกระทบด้านโควิด ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการการกรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำว่า กทม. มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในระยะยาวให้มั่นคงภายใต้กลไกของ กทม. ขณะเดียวกันปัญหานี้คงทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลทำงานร่วมกัน ทั้งข้อมูลและการลงพื้นที่จริง เช่นเดียวกับตัวแทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ออกมาย้ำจุดยืนแทนจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ว่า รับหลักการทุกเรื่องที่นำมายื่นในวันนี้ และการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ