ย้อนรอยปัญหา สู่การมีส่วนร่วม แก้ปม ‘ที่อยู่อาศัยคนจน’

เครือข่ายคนเปลี่ยนเมือง จัดมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก สะท้อนปัญหาคนจน ขณะที่คนรุ่นใหม่ ชี้ขาดการมีส่วนร่วม นำไปสู่ความขัดแย้ง เหลื่อมล้ำ ฝันอยากเห็น บ้านเป็นพื้นที่ต่อยอดอาชีพ ให้คนรุ่นต่อไป

เครือข่ายคนเปลี่ยนเมือง ร่วมกับภาคีเครือข่าย ชวนประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรม Community Trail เรียนรู้วิถี ความเป็นมา ที่อยู่อาศัย และปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยในแต่ละชุมชนที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อที่จะบอกเล่าให้สังคมได้ตระหนักถึง “สิทธิที่อยู่อาศัยคือสิทธิขั้นพื้นฐาน” เนื่องในวาระ “มหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก

โดยการลง 4 พื้นที่ชุมชนเมือง 4 เรื่อง 4 รส ที่เล่าจากปากของผู้คนในพื้นที่ ประกอบด้วย 1. “บ้านมั่นคงวังหลัง” ชุมชนการค้าหลังท่าน้ำวังหลัง กับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจากกลุ่มออมทรัพย์ขยับสู่สหกรณ์ เพื่อเปลี่ยนตลาดเก่า อาคารดั้งเดิมให้เป็นบ้านมั่นคง ที่ใช้ทั้งพักอยู่อาศัย และประกอบกิจการ

2. “ชุมชนวัดดวงแข” ชุมชนเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ที่ปรากฎหลักฐานในแผนที่โบราณ วัด และสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนไม้โบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ที่กำลังเผชิญปัญหาการขอพื้นที่สาธารณะคืนจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาเป็นอาคารที่จอดรถ ถือเป็นเส้นแบ่งบาง ๆ ของคำว่า “ส่วนรวม” กับ “ส่วนร่วม” 

3. “ชุมชนบ้านกล้วย คลองเตย” ชุมชนริมคลองหัวลำโพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่คือภาคบริการของเมือง ทั้งพ่อค้าแม่ค้ารถเข็น แผงลอย ลูกจ้างร้านค้า ฯลฯ …บ้านของคนที่ขับเคลื่อนเมืองกับแผนพัฒนาพื้นที่คลองเตย Smart City อนาคตที่แขวนบนเส้นด้ายของการพัฒนา

4. “ชุมชนริมทางด่วนบางนา” ชุมชนริมทางด่วนที่ตั้งอยู่บนที่ดินของเอกชน ที่มีการเจรจากับเจ้าของที่เอกชนจนได้ที่ดินที่จะย้ายไปอยู่ แต่การดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังอาศัยอยู่บริเวณนี้ที่มีสถานภาพเป็นชุมชนบุกรุก เข้าไม่ถึงสิทธิ์ใด ๆ จากรัฐ ตั้งแต่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จนถึงสิทธิความเป็นชุมชน 

นอกจากนั้นมีวงเสวนาเรื่องที่อยู่อาศัย ผ่านมุมมองของคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ ในหัวข้อ “คนเปลี่ยนเมือง” มีประเด็นที่พูดถึงอดีตการต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองชุมชนวัดดวงแข “พื้นที่สร้างสรรค์งานเด็กเยาวชน บนโจทย์ท้าทายแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะ …คำว่าสาธารณะของเราไม่เท่ากัน” , Community Trail  และบ้านของคนรุ่นใหม่ 

ศิริพร สวัสดี ชาวชุมชนบ้านกล้วย เขตคลองเตย เล่าว่า ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องใหญ่ของคนจน ที่ผ่านมาไม่มีใครมองเห็น และคนเหล่านี้ถูกไล่รื้อมาตลอด ชาวบ้านหลายชุมชนถูกไล่รื้อ พวกเขาไม่สามารถหาทางออกได้ กระเสือกกระสน ไม่มีความรู้มากพอ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ กระทั่ง ชาวชุมชนเห็นว่าหากยังเอาตัวรอดเพียงรายบุคคล ชุมชนก็ยังคงจะถูกไล่รื้อเรื่อย ๆ ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงได้รวมตัวกันเพื่อให้คนจนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาตัวเอง 

ศิริพร เล่าอีกว่า พวกเขาจึงได้ลงพื้นที่สำรวจคนที่ถูกไล่รื้อบ้าง จึงมองเห็นทางออกว่าหากจะแก้ไขปัญหานี้จะต้องสร้างบ้าน แต่ก็ยังติดข้อจำกัดเรื่องเงินทุน พวกเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น จนส่งผลให้หลายชุมชนตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย

ศิริพร สวัสดี ชาวชุมชนบ้านกล้วย

“การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงแค่มีเงินแล้วจะแก้ไขปัญหาได้แต่จะต้องติดต่อกับหลาย หน่วยงาน ที่อยู่อาศัยของคนจนยากมากกว่าจะได้มามีทั้งเลือด ทั้งเนื้อ ทั้งน้ำตา เมื่อก่อนเราแยกกันทำแบบตาสี ตาสาทำไปเรื่อย กระทั่งเราเห็นว่าถ้ามัวแต่ต่างคนต่างไปไม่มีทิศทางเรามารวมตัวกันดีไหมเป็นกลุ่มก้อนแล้วดูที่ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและมาแก้ไขกัน และทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย”

ศิริพร สวัสดี ชาวชุมชนบ้านกล้วย เขตคลองเตย กทม.
กษิดิส ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน

ขณะที่ กษิดิส ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน ระบุว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงเกิดความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำ หลายชุมชนต้องอยู่เพื่อความอยู่รอด บางชุมชนอาศัยอยู่ใต้ทางด่วนที่มีเสียงรบกวนตลอดเวลา และเท่าที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน ก็เกิดคำถามตามมาตลอดว่าปัญหาที่คนจนเผชิญด้านที่อยู่อาศัย พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร และหากจะต้องมีการออกแบบที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นคอนโด หรือพื้นที่สาธารณะชุมชน จะต้องมีส่วนร่วมด้วย ที่สำคัญบ้านควรเป็นมากกว่าบ้าน

“บ้านในมุมมองของคนรุ่นใหม่มองว่าจะต้องสามารถสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเขาได้ด้วย”

กษิดิส ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active