‘Unlocking Town’ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เพื่อคนเมือง

อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ตัวแทนนำเสนอต่อยอดนวัตกรรม “ปลดล็อกเมือง เพิ่มโอกาสด้านที่อยู่อาศัย” รองผู้ว่าฯ ทวิดา ชี้ กทม. ต้องเพิ่มบทบาทการแก้ปัญหามากขึ้น

ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยยังเป็นปัญหาสำหรับผู้คนที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง รายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย อาจทำให้คุณภาพที่อยู่อาศัยน้อยตามไปด้วย นวัตกรรมหรือนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้จึงสำคัญ การนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายของผู้เข้าอบรมการสร้างนโยบาย จากหลักสูตร PPCIL รุ่น 5 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงมีการนำเสนอนโยบาย “Unlocking Town เพื่อชาวหมุนเมือง ปลดล็อกเมือง เพิ่มโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สู่เมืองที่เท่าเทียม” ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อต่อยยอดข้อเสนอแนะหลังจบหลักสูตร จนไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านที่อยู่อาศัย

ที่อยู่อาศัย

อดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ตัวแทนกลุ่มผู้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคม บอกกับ The Active ว่า การจะสร้างนโยบายนี้ต้องอาศัยการพัฒนากับการร่วมมือกันระหว่างรัฐและภาคเอกชน ในการให้โอกาสและมองเห็นทรัพยากรที่สำคัญ อย่าง ที่ดิน และทุน ซึ่งทางกลุ่มมองว่าการหาที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่มีการใช้งานหรือมีการเข้ามาดูแล เพื่อที่จะปรับเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าขาย หรือพื้นที่สันทนาการ เพื่อให้ตอบโจทย์กับชีวิตคนหมุนเมือง ซึ่งคนหมุนเมืองในที่นี้ คือ กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพในภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไรเดอร์ พ่อค้าแม่ค้า สตรีทฟู้ด หาบเร่แผงลอย และคนงาน

Unlocking Town
อดิเรก แสงใสแก้ว อุปนายกและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

ซึ่งกลุ่มประชาชนที่ทางกลุ่มได้ศึกษาเก็บข้อมูล คือ ชาวบ้านในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ระหว่างสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ คือ ชุมชนบ่อนไก่ และชุมชนคลองเตย ซึ่งชาวบ้านอยากมีที่พักอาศัยที่อยู่ใกล้แหล่งงาน ถ้าไม่มีพื้นที่ลักษณะนี้ก็ต้องไปพักอาศัยอยู่ที่ไกล ๆ อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดน้อยลง และในมิติของสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดเป็นคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขึ้นด้วย

อดิเรก บอกอีกว่า ปัญหาระหว่างการคิดค้นนวัตกรรมนี้ คือ เมื่อต้องการนำข้อมูล Data ของแต่ละกระทรวงมารวมกันนั้นทำได้ยาก จึงต้องแก้ปัญหาโดยใช้ กทม. เป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และหากนโยบายได้รับเลือกให้ทำงานร่วมกับทาง กทม. เพื่อจะผลักดันนโยบายที่ทำให้พื้นที่ว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยของผู้คนที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่ หรืออาจสร้างพื้นที่ตลาด พื้นที่สันทนาการ เพื่อให้คนหมุนเมืองมีพื้นที่ทำกิน

หากนโยบายนี้ช่วยให้คนหมุนเมืองมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานได้แล้ว คนระดับอื่นก็จะได้ประโยชน์ตามมาด้วย

อดิเรก แสงใสแก้ว

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์เมื่อปลดล็อกเมืองเรื่องที่อยู่อาศัยได้แล้ว แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ คนเมืองลดภาระด้านการเดินทาง มีรายได้มากขึ้นจากการมีที่อยู่ใกล้แหล่งงาน ผู้ประกอบการและประชาชนโดยรอบได้รับผลงานและบริการที่มีประสิทธิภาพจากคนหมุนเมือง ทุเลางบประมาณแผ่นดินจาก Cross subsidy model การสร้างที่อยู่อาศัยทุก 1 ล้าน ๆ บาทจะลดการใช้งบประมาณไปได้ถึง 5 แสนล้านบาท เป็นต้น

ด้านสังคม มิติทางสังคม ได้รับผลตอบแทนทางสังคม (SROI) คนหมุนเมืองมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น สร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนในวัยเรียนได้เข้าถึงระบบการศึกษาที่รัฐจัดเตรียมไว้ มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ลดลงจากการที่คนหมุนเมืองเดินทางไปทำงานใกล้ที่อยู่อาศัย มีพื้นที่สีเขียวและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และโครงการที่เกิดจากนโยบาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่อยู่อาศัย
ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

ด้าน ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. มองว่า ปัญหาของเมือง คือ การมีพื้นที่จำกัด ราคาแพง และคนมาอยู่เยอะ ทั้งที่มาจากต่างจังหวัด หรือมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว ฉะนั้น การได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายของที่อยู่อาศัยจึงลำบากมาก

เบื้องต้นมีคนที่กำลังประกอบอาชีพและมีรายได้ไม่เพียงพอกับที่อยู่อาศัยราคาแพง ซึ่งตอนนี้ทาง กทม. ทำผังข้อมูลเกี่ยวกับห้องเช่าที่มีราคาไม่แพง ราคาประมาณ 1,000 – 3,000 บาทต่อเดือน โดยห้องเช่าเหล่านี้กระจายตัวอยู่ใน 6 โซนเขตของกรุงเทพฯ 437 แห่ง ที่สามารถเข้าไปติดต่อได้ แต่ข้อมูลนี้เป็นการทำให้เห็นเฉย ๆ ว่าห้องพักอยู่ที่ไหนบ้าง แต่การที่จะทำให้มีตัวเลือกที่มากขึ้นยังคงเป็นปัญหาสำคัญของ กทม. อยู่

ผศ.ทวิดา กล่าวเสริมว่า ทางสํานักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม. ยังไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการจัดหาที่อยู่อาศัยลักษณะนี้ อาจจะมีความหมายว่าเราต้องมีการปรับข้อบัญญัติบางอย่าง เพื่อให้ กทม. มีบทบาทเรื่องนี้โดยตรงมากขึ้น

จากการนำเสนอนวัตกรรมดังกล่าว ผศ.ทวิดา บอกว่า มีความพยายามร่วมมือกันระหว่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กทม. ภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก ซึ่งมองว่าสิ่งนี้เป็นพัฒนาการอีกอย่างหนึ่ง และจากการนำเสนอก็ทำให้เห็นถึงชนิดของพื้นที่ว่าแบบไหนสามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ประชาชนที่มีอาชีพอยู่ในเมืองมาก ๆ ก็เหมาะอยู่พื้นที่แบบหนึ่ง หรือประชาชนพอจะขยายตัวออกไปรอบนอก กับภาคส่วนที่เป็นธุรกิจใหม่ อย่างเช่น ตลาด ก็อาจจะเหมาะอยู่ในพื้นที่อีกแบบ

โดยอาจเป็นโมเดลเดิมของ พอช. ที่จะทำให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น อาจจะเป็นโมเดลของ กทม. ในอนาคตของบางพื้นที่ อย่างเช่นที่ทำอยู่ตอนนี้คือ กำลังทำเรื่องที่อยู่อาศัยราคาถูกให้กับนักศึกษาจบใหม่ แต่ก็ยอมรับว่ายังดำเนินการได้ไม่เร็ว เพราะต้องหาพื้นที่ที่สามารถทำได้จริง

“ใน 600 กว่าชุมชน คิดว่ามีคนหลักแสนแน่นอนที่กำลังเบียดเสียดกันอยู่ ซึ่งหมายความว่ามีคนที่ต้องการบ้านพักอาศัยอยู่ในหลักพัน หลักหมื่น”

ผศ.ทวิดา กมลเวชช

นอกจากนวัตกรรมเพื่อชาวหมุนเมืองแล้ว ในงานดังกล่าว ยังมีการนำเสนอจากผู้เข้าร่วมหลักสูตรจาก 5 กลุ่ม คือ

นวัตกรรมกำลังคน “นโยบาย TEENS ไม่เตะฝุ่น: เป็นคนที่ใช่ เรียนแบบที่ชอบ จบไปไม่ตกงาน” การสร้างกลไกให้ภาคอุดมศึกษา ได้ส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้เชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาการตกงานของบัณฑิตจบใหม่

นวัตกรรมด้านสาธารณสุข “นโยบาย NCDs FreeVer สุขภาพปัง เป๋าตังตุง ประเทศไทยมุ่ง ปลอด NCDs” เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไม่ติดต่อ เพราะการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค ใช้เทคโนโลยีให้ความรู้ด้านสุขภาพ แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ

นวัตกรรมเศรษฐกิจ “นโยบาย TiDE เพื่อนคู่คิด มิตรสร้างเมือง สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต กระจายเศรษฐกิจทั่วไทย” มุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ยกระดับเมืองด้วยการสร้างโอกาส กระจายอำนาจ พัฒนาท้องถิ่นให้การเติบโตและมั่งคงทางด้านเศรษฐกิจ และ “นโยบาย SMEs โต๊โตตตต: โตความรู้ โตรายได้ โตยั่งยืน”  การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active