เครือข่ายชาติพันธุ์จัดกิจกรรมลงพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน สะท้อนปัญหาเร่งสร้างความเข้าใจกับสังคมอดีต ประธาน กมธ.ยืนยัน พื้นที่คุ้มครองฯ ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษ และชาติพันธุ์ ไม่ใช่ต่างด้าว
แม้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พศ.… ที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเห็นชอบแล้วในวาระ 2 และ 3 แล้ว แต่มีกระแสคัดค้านจากเครือข่ายชาติพันธุ์ เนื่องจากสภาฯ โหวตคว่ำ มาตรา 27 ซึ่งเป็นหลักการเรื่อง “พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์” และเป็นหัวใจสำคัญที่จำเป็นต่อการรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์แต่ละพื้นที่

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของชาติพันธุ์ คือปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน ที่เป็นพื้นที่ประกาศป่าทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อ้างว่าจากสถานการณ์ประกาศพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บางพื้นที่ ชาวบ้านถูกจับกุม ดำเนินคดี ไล่ที่ ตัดฟันพืชผลอาสิน ยึดที่ดินทำกิน จนไปถึงการสังหารนักปกป้องสิทธิในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ จากกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ, กฎหมายว่าด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า, กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
ฉะนั้น มาตรา 27 จึงถูกระบุเข้ามาเพื่อคุ้มครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมและคุ้มครองสิทธ์ชาติพันธ์ และไม่ให้นำหลักเกณฑ์ของกฎหมายป่าไม้ ป่าสงวน อุทยาน เขตห้ามล่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาบังคับใช้ อีกทั้งไม่ปรากฏ คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเข้าใจที่คาดเคลื่อน และพบอคติเกี่ยวกับ “พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์” และ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ว่า ชาติพันธุ์ไม่ใช่คนไทย, กังวลว่าการจัดการตัวเองจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแด และการให้สิทธิกับกลุ่มชาติพันธุ์เท่ากับสิทธิเหนือคนอื่น นี่จึงเป็นข้อกังวลของเครือข่ายชาติพันธ์ุ ที่แม้ว่ากฎหมายจะผ่านแต่หากหลักการณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายถูกปัดตกไปการคุ้มครองสิทธิ์ไม่อาจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมีกฏหมายได้
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์จัดกิจกรรมลงพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์ ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลําพูน เพื่อทบทวนบทเรียน สร้างความรู้จากชุมชนสู่การกําหนดแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากเครือข่ายชาติพันธ์ที่ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตที่ว่ากระทบทั้งในเชิงจิตวิญญาน และวิถีชีวิต

เครือข่ายชาติพันธุ์ม้ง กล่าวถึงเหตุผล ที่ต้องผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ ว่าสังคมยังเกิดความเข้าใจว่าถ้ามีกฎหมายแล้วจะเป็นการอนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์ทำลายป่า ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของกลุ่มชาติพันธุ์คือข้อมูล และต้องการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์รวมถึงสร้างความเข้าใจกับสังคมต่อไปว่าพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์อยู่อาศัย ควรได้รับการอนุรักษ์ และต้องสร้างความเข้าใจว่าไม่ใช่พื้นที่พิเศษที่ให้สิทธิพิเศษคนใดคนหนึ่ง
ตัวแทนกะเหรี่ยงชุมชนบ้านกลาง จ.ลำปาง กล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวเล และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศ คือการถูกคุกคามด้านมายาคติในสังคมและการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐ สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์อยากได้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษที่เหนือกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ แต่แค่ต้องการให้มีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองพวกเราได้ โดยกำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถอาศัยและทำไร่ได้ในพื้นที่ 20 ไร่
แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักราโวยเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า การท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวเลอย่างมาก เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่มีขีดจำกัดทางภาครัฐมีการออกโฉนดมาทับที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เช่น นส. 3ก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติอีก ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่อาศัยอยู่ตรงนั้นไม่สามารถดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมได้ นอกจากนี้ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการประกาศไปที่เกาะหลีเป๊ะ เป็นการประกาศท่ามกลางปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ เช่น แม้จะประกาศพื้นที่แล้วก็ยังไม่สามารถฝังศพเพิ่มเติมในพื้นที่สุสานได้ นอกจากนี้ ยังเกิดการน้ำท่วมขึ้นที่เกาะ ทั้ง ๆ ที่เป็นพื้นที่ติดทะเล และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง จนไปสู่การสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
สส. เพื่อไทย ยัน ชาติพันธุ์ ไม่ใช่ต่างด้าว
หลังจากที่ พ.ร.บ ผ่านการพิจารณาชั้น สส. ไปกระแสสังคมมีผลสะท้อนกลับด้านลบและไม่พอใจต่อพรรคเพื่อไทย
ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เดินทางลงพื้นที่ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของพรรคเพื่อไทยหลังจากที่ พ.ร.บ ผ่านการพิจารณาชั้นสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งในการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการเดินทางร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 24 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ปิยะรัฐชย์ สะท้อนถึงกรณีของการจัดการพื้นที่คุ้มครองฯ ที่ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ว่า การบริหารจัดการของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่ค่อนข้างที่จะครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเขาอยู่กับป่า วันนี้สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ
“ภาครัฐเองดูแลป่าได้ไม่ 100% ดังนั้นวันนี้เราต้องใช้หรือว่าขอยืม หรือพึ่งพาภาคประชาชนอย่างพื้นที่นี้เป็นต้น อันนี้คือต้นแบบไม่ว่าจะเป็นของภาคเหนือเองหรืออาจเป็นของทั้งประเทศ ว่าการบริหารจัดการของเขามีแบบไหนแล้วค่อนข้างครบถ้วนยังไง”
ปิยะรัฐชย์ กล่าวถึงกรณี ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ม.27 ว่าขอโทษและขอบคุณ พร้อมกับขอโอกาสในการที่จะทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ แม้ พ.ร.บ. จะพ้นมือ สส. ไปแล้ว แต่ตนและพรรคเพื่อไทยก็ยังเดินหน้ากันต่อ ร่างกฎหมายฉบับนี้มันไม่ใช่ก้าวสุดท้าย หลังจากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านจะมีการปรับปรุงแล้วก็เพิ่มเติมในอนาคตอย่างแน่นอน
“เชื่อว่าการ พิจารณากฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราทำกันมา ตั้งแต่ชั้น สส ก็เป็นส่วนหนึ่งกันของความต้องการของพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ที่สะท้อนออกมาถึงปัญหาที่เราอยากจะได้รับการคุ้มครอง ดูแลก็ยังมีความหวังนะ แล้วก็ เชื่อว่าทาง สว. เอง ณ เวลานี้ มีการพิจารณาอยู่ เชื่อว่าเขามองเห็นผลประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุอย่างสูงที่สุดอันนี้โฮมมีความหวังนะคะ แต่ถ้าสมมุติว่าการกลับเข้ามาชั้น สส. แล้วมันมีการแก้ไขเกิดขึ้นเนี่ย โฮมก็หวังว่าจะเอาปัญหาและอุปสรรคและความต้องการจริง ๆ ของพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์ ของ พวกเราทั่วประเทศเนี่ยเข้ามาสู่ชั้น ส.ส. อีก ครั้งนึง อันนี้มีความหวังจริง ๆ”
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำอคติสังคมต่กลุ่มชาติพันธุ์ว่าชาติพันธุ์ไม่ใช่ต่างด้าว แม้คนไทยบางกลุ่มอาจจะยังแยกไม่ออกในเรื่องของคำว่าชาติพันธุ์ ปิยะรัฐชย์ เล็งเห็นว่า เรื่องนี้ต้องขับเคลื่อนกันต่อ กระทรวงวัฒธรรมจะต้องเป็นโต้โผหลัก ที่จะต้องทำความเข้าใจว่าชาติพันธุ์คืออะไร
“ชาติพันธุ์ไม่ได้เท่ากับต่างด้าว อันเนี้ยอันนี้ยืนยันว่าไม่ใช่ ไม่ได้เท่ากับต่างด้าว ดังนั้นหน้าที่หลักวันนี้ทั้งของโฮมเองของพรรคเพื่อไทยของกระทรวงวัฒนธรรมเองเนี่ยคือ การทำความเข้าใจกับสังคมไทยว่าชาติพันธุ์คืออะไร ปัญหาของชาติพันธุ์คืออะไร สิ่งที่ชาติพันธุ์ต้องการและถูกละเลยมาเป็นเวลานานคืออะไร อันเนี้ยคือหน้าที่หลักแล้วโฮมยืนยันนะว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยกับโฮมก็ ยังเดินหน้าต่อนะคะเราจะทำความเข้าใจกับคนในสังคมและจะ เดินหน้าต่อในการช่วยกันเป็นหนึ่งเรี่ยวหนึ่งแรงในการแก้ไขปัญหาของพ่อแม่พี่น้องชาติพันธ์ุต่อ”