ชาวเลหลีเป๊ะ เคลื่อนขบวนรณรงค์สื่อสารความเดือดร้อนปัญหาที่ดิน

ขู่ รัฐบาล คณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่เร่งเพิกถอนที่ดินเอกชน ภายใน 15 มีนาคม นี้ บุกทำเนียบรัฐบาลแน่นอน ด้านตัวแทน แก้ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ ยัน เป็นเรื่องที่กรมที่ดินต้องชี้แจงความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 66 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จำนวนกว่า 200 คน ได้ตั้งขบวนรณรงค์ เริ่มต้นจากที่โบสถ์คริสต์ ชุมชนอู่เส็น ผ่านเส้นทางถนนคนเดิน และชุมชนตุโป๊ะ และปาดั๊ก ไปยังจุดที่เอกชนปิดทางเดินสาธารณะลงหน้าหาดซันไรซ์ โดยระหว่างทาง ได้มีการสื่อสารแจกเอกสารเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว ร่วมปกป้องเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจ รับรู้และเข้าใจสถานการณ์ความยากลำบากของชาวเล ซึ่งตัวแทนชาวสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวที่เก็บเอกสารไปอ่าน และร่วมถ่ายรูปไลฟ์สดสื่อสารต่อ

สำหรับเป้าหมายในการรณรงค์แสดงพลังของชาวเลครั้งนี้ เพื่อให้คณะทำงาน บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เร่งการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และให้คืนทางเดินสาธารณะ ที่ชาวเล ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จากนั้นได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ มีข้อความระบุว่า ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ มีความมุ่งมาดปรารถนา ที่จะทำให้เกาะหลีเป๊ะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยปีละ 7,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้รับในวันนี้ คือการถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากแผ่นดินของบรรพบุรุษ การถูกปิดเส้นทางเดินลงทะเล กั้นเส้นทางที่จะประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา

​การแย่งยึดที่ดินของชาวเล เกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 ด้วยการออกอุบายว่าจะไปทำเอกสารสิทธิที่ดินให้ โดยให้ชาวเลพิมพ์ลายนิ้วมือ และสุดท้ายที่ดินของชาวเล จำนวนหลายแปลง ก็ได้เปลี่ยนมือไป โดยชาวเลบางรายแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ได้สูญเสียที่ดินไปแล้ว ต่อมาเมื่อชาวเลบางรายต้องกลายเป็นผู้ต้องหา เพราะถูกเอกชนบางรายฟ้องขับไล่ให้ออกจากแผ่นดินของบรรพบุรุษ แต่ความเป็นธรรมก็ยังคงมีอยู่บนแผ่นดินนี้ เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาว่า “ชาวเลอยู่อาศัยมาโดยชอบด้วยกฎหมาย” และต่อมาได้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เข้ามาเป็นประธานแก้ไขปัญหากรณีพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะ มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่บุกรุกที่ดินของรัฐ ดำเนินคดีกับเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก่อสร้างอาคาร การยึดคืนที่ดินของโรงเรียน ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสถานการณ์กำลังจะดีขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นคือเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยังไม่ถูกเพิกถอน แม้ว่ามีผลการพิสูจน์ชัดแล้วว่า มีเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น 17 แปลง และแม้ว่าจะมีการตั้งกรรมการเพิกถอนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอันใด นั่นหมายความว่า กรณีปัญหาที่ดินอื่น ๆ ทั้ง สุสาน ทางน้ำสาธารณะ และทางเดินสาธารณะ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ใดๆทั้งสิ้น“

โดยเฉพาะในวันนี้ วันที่เอกชนรายหนึ่ง ได้ทำการปิดทางเดินลงหาดซันไรส์ ซึ่งเป็นทางที่ชาวเล ประชาชน นักท่องเที่ยว บริษัทเอกชน ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ชาวเลใช้ขนเครื่องมือทำประมง ชาวประมงใช้ขนสัตว์น้ำที่หาได้ไปจำหน่าย นักท่องเที่ยวเดินไปชมความงามของทะเล บริษัทเอกชนใช้ขนขยะไปกำจัด นักเรียนได้อาศัยเข้าโรงเรียน ผู้ประกอบการใช้ขนส่งวัตถุดิบ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องหยุดชะงักทั้งหมด เมื่อเอกชนรายนี้ ได้ปิดกั้นเส้นทางเดินสายนี้ ทางเดินนี้ เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเกาะหลีเป๊ะให้ยังคงมีชีวิต เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก สร้างรายได้ให้ประเทศปีละ 7,000 ล้านบาท

“เมื่อความเห็นแก่ตัวของคนไม่กี่คน ได้ตัดเส้นเลือดสายนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่า หลีเป๊ะจะต้องตายลงไปด้วย และหากหลีเป๊ะต้องตายไปเพียงเพราะความเห็นแก่ตัวของคนเพียงไม่กี่คน จะไม่ใช่มีเพียงแต่ชาวเลเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่จะมีผู้คนนับหมื่นคนที่จะต้องเดือดร้อนด้วยเช่นกัน ซึ่งเราชาวเลอูรักลาโว้ย จะไม่ยอมให้คนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน มาทำลายแผ่นดินถิ่นที่ของบรรพบุรุษของเรา และเราขอประกาศให้ทราบว่า ‘เกาะหลีเป๊ะ’ คือ ถิ่นที่กูเกิด ถิ่นที่กูอยู่ ถิ่นที่กูตาย’ และเราจะสู้จนกว่าจะเกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมบนเกาะหลีเป๊ะ“

ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ประกาศว่า จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ถ้าหากในวันที่ 25 มี.ค. นี้ ยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และยังไม่คืนทางเดินสาธารณะให้ได้กลับมาใช้ได้เป็นปกติ และการไปครั้งนี้ จะไปปักหลักจนกว่า เกาะหลีเป๊ะจะหลุดพ้นจากการถูกทำร้ายจากนายทุนผู้เห็นแก่ตัว เพื่อให้เกาะหลีเป๊ะยังคงเป็นถิ่นที่แห่งชีวิตและวัฒนธรรม เป็นเกาะแห่งความสุข ที่ใคร ๆ มาแล้ว ก็อยากมาอีกครั้ง

ด้าน ธนพร ศรียางกูล กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล มองว่า กรณีที่ชาวเลออกมาสะท้อนความเดือดร้อนและทวงถามคำตอบเป็นสิทธิ ซึ่งตนเห็นว่าจริง ๆ แล้วกระบวนดำเนินงานของภาครัฐก็ต้องมีการชี้แจงความคืบหน้าให้กับพี่น้องได้รับทราบ โดยเฉพาะความคืบหน้าคือหลังตั้งกรรมการเพื่อเพิกถอน น.ส. 3 เลขที่ 11 ของกรมที่ดิน

“คืองานที่ท่านประธาน คกก. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ดำเนินการในเรื่องบังคับใช้กฎหมาย ผมคิดว่าพี่น้องทุกคนรวมถึงสังคมไทยก็คงจะเห็นถึงความตั้งใจ และปฏิบัติการที่เป็นจริง คือ เราทำในสองส่วน ส่วนที่หนึ่งในการดูเรื่องของที่มาที่ไปของเอกสารสิทธิ ว่าออกชอบไม่ชอบ รวมถึงที่ดินในแปลงอื่น อันนี้เรามีอนุกรรมการรับผิดชอบชัดเจน คราวนี้ประเด็นที่พี่น้อง มาตามก็คือประเด็นหลัก ที่กรมที่ดินไปตั้งกรรมการ เพื่อที่จะเพิกถอน น.ส. 3 เลขที่11 ซึ่งกระบวนการตรงนี้พี่น้องเขาอยากรู้ ว่าขั้นตอนการดำเนินการของกรมที่ดิน ขั้นตอนที่ 1 ทำยังไง ขั้นตอนที่ 2 ทำยังไง แล้วกระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งผมคิดว่าในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องตอบให้พี่น้องเห็นกระบวนการในการทำให้ได้ ผมว่าเป็นเรื่องดีและผมก็สนับสนุนการถามของพี่น้องตรงนี้ด้วย“

ธนพร ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า เดิมคณะกรรมฯ แก้ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ ได้นัดประชุมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่เนื่องจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ติดภารกิจที่ต้องเดินทางไปชี้แจงเรื่องการค้ามนุษย์ กับทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็เลยต้องเลื่อนไปอีกซักประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งในส่วนคณะกรรมการเองในการติดตามความคืบหน้าจริง ๆ แล้วไม่มีปัญหาอะไร ทุกคดีการบังคับใช้กฎหมายก็เดินหน้าไปตามแผน แต่ประเด็นที่ชาวบ้านไม่เห็นการสื่อสารมากนัก ก็คือจากกระบวนการของกรมที่ดินนั้นทางกรมที่ดินต้องตอบความคืบหน้าเรื่องนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active