ขอ DSI รับเป็นคดีพิเศษ พร้อมตั้งคณะทำงานสนับสนุนให้ชาวเล เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 66 นาง พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล,นาย วัลลภ นาคบัว, นาย สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ และ นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดี DSI และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาติดตามรับฟังปัญหาชาวเลราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ผู้นำชุมชนและชาวเลราไวย์ ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูล
โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่กระทรวงยุติธรรม ทั้ง DSI ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ กรมคุ้มครองสิทธิ์ กองทุนยุติธรรม เคยรวมทีมเข้าช่วยค้นหาความจริง อำนวยความเป็นธรรมให้ความช่วยเหลือชาวเลทางคดีพิพาทเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินกับนายทุน ทำให้ชาวเลชนะคดี แต่คดียังไม่สิ้นสุด เนื่องจากมีการดำเนินการฟ้องร้องชาวเลต่อเนื่อง
หลังจากกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ได้รับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชนชาวเล และผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้มีแนวทางในการแก้ปัญหา โดยนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จะมอบหมายให้กองทุนยุติธรรมไปทำงานเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหานี้ต่อ
“เรื่องแรกคือเรื่องคดีของชาวเลราไวย์ เพราะทุกครอบครัวมีปัญหาเดียวกัน เพียงแต่ถูกฟ้องแยก ตอนนี้มีแนวทางการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ก็จะทำให้การดำเนินคดีของชาวเล มีพลังมากขึ้น พร้อมทั้งให้ดูแลการปล่อยตัวชั่วคราว การช่วยเหลือเรื่องคดีต่าง ๆ ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย จัดหาทนายความที่มีความเชี่ยวชาญช่วยเหลือทางคดีที่จะดูแลชุมชนดั้งเดิม “
พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของพื้นที่นี้ คือเรื่องของโฉนด หรือเอกสารสิทธิ์ที่นายทุนถืออยู่ ทั้งที่มีคำพิพากษา.shชาวเลชนะคดีแล้วก่อนหน้านี้ ตอนนี้ทางกระทรวง จึงต้องไปหาวิธี ว่าจะจัดการกับโฉนดใบนี้อย่างไร
ปัจจุบันชุมชนชาวเลราไวย์ มีจำนวน 258 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรกว่า 2,000 คน ที่ต้องอาศัยในพื้นที่จำกัด ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ จนต้องขยายออกไปนอนชายทะเล และหวังว่ากระทรวงยุติธรรมจะมีแนวทางสนับสนุนการแก้ปัญหาชาวเล ใน 2 แนวทาง คือ 1. ให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษเพื่อแก้ปัญหาให้จบสิ้นกันไปให้ถึงที่สุด และ 2. กระทรวงยุติธรรม ควรที่จะตั้งคณะทำงานสนับสนุน เอื้ออำนวย ให้ชาวเลเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องอำนวยความสะดวกในการเตรียมข้อมูล ขึ้นศาล ทนายความ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะลดภาระประชาชนกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม และให้มูลนิธิชุมชนไท ได้เป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป