‘ชาวเลหลีเป๊ะ’ ค้านเอกชน รื้อโรงอาหาร ห้องน้ำ รร.บ้านเกาะหลีเป๊ะ  

อดีตกรรมการฯ แก้ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ จี้ นายกฯ คืนงบฯ กลาง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานในพื้นที่ หวั่น ขัดแย้งบานปลาย จี้เดินหน้าพิสูจน์สิทธิ์ เพิกถอนที่ดินออกโดยมิชอบทับชุมชนดั้งเดิม 

วันนี้ (28 เม.ย.68) ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล รวมตัวที่โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ เพื่อคัดค้านเอกชนผู้อ้างสิทธิในที่ดิน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ธนารักษ์  ที่ดิน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสตูล เข้ามาแจ้งและดำเนินการเพื่อรื้อถอนโรงอาหาร ห้องน้ำ โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  

สลวย หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เปิดเผยกับ The Active ว่า เมื่อวานนี้เอกชนรายเดิมที่อ้างสิทธิในที่ดินและมีข้อพิพาทที่ดินกับทางชุมชนและโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นรายเดียวกับที่ปิดทางสาธารณะประโยชน์ เข้า-ออก ชายหาด จนส่งผลกระทบความเดือนร้อนกับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ได้ถือค้อนไม้ มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ทั้ง ธนารักษ์ ที่ดิน และประถมศึกษาจังหวัดสตูล เข้ามาเจรจากับ สำราญ ชูแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ พร้อมสำรวจเพื่อทำการรื้อถอนโรงอาหาร ห้องน้ำ โดยอ้างว่าทางโรงเรียนได้รุกล้ำพื้นที่ของตนเองมานานแล้ว  

ขณะที่ทางธนารักษ์อ้างการตรวจสอบแนวเขตตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล และพบว่าโรงเรียนมีพื้นที่เพียง 5 ไร่เศษ โดยชาวบ้าน ยืนยันว่า ผู้บริจาคที่ดินให้โรงเรียนแต่เดิม 6 ไร่ 36 ตารางวา 



ล่าสุดเอกชนได้เข้าตัดต้นไม้หลังโรงเรียน และทุบกำแพงโรงเรียนแล้ว โดยอ้างว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงอาหาร และส่วนต่าง ๆ ที่จะรื้อถอนให้เพื่อเป็นการแทนส่วนที่รื้อถอน ชาวเลเกาะหลีเป๊ะจึงมารวมตัวกันตั้งเต้นเพื่อคัดค้าน เพราะมองว่าการดำเนินการดังกล่าวไมถูกต้องไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งเขียนป้ายประท้วงขับไล่ ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากไม่ปกป้องทรัพย์สินของทางราชการ และยืนยันสิทธิในพื้นที่ สิทธิของนักเรียนและคนในชุมชน  

“ผอ.อ้างว่าถ้าหากไม่ให้เขารื้อถอนจะโดนเอกชนฟ้องร้อง ซึ่งจริง ๆ ควรต้องยืนยันสิทธิ ยืนยันพื้นที่จริงของโรงเรียน และปกป้องทรัพย์สินทางราชการ ตอนนี้ชาวเล นักเรียนโดดเดี่ยว หน่วยงานเข้าข้างเอกชนกันหมด ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อพวกเราเลย เราอยากให้คณะกรรมการแก้ปัญหาฯ ที่นายกฯ ตั้งขึ้น เร่งเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานในจังหวัด ที่เราเห็นว่าปฏิบัตหน้าที่ไม่ถูกต้อง และยุติและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน

สลวย หาญทะเล

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้ไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ที่สถานีตำรวจภูธรเกาะหลีเป๊ะแล้ว

จี้ นายกฯ คืนงบฯ กลาง ให้คณะกรรมการฯ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของหน่วยงานในพื้นที่

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามกรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  ที่ไม่มีการดำเนินการแจ้งความเอาผิดใด ๆ กับเอกชนที่จะเข้ามารื้อถอนทรัพย์สินโรงเรียน ทรัพย์สินราชการ

“ในกระบวนการควรจะมีการแจ้งความดำเนินคดี กับผู้ที่เข้ามารื้อถอนทำลายทรัพย์สินในโรงเรียน เพราะฉะนั้นนี่คือประเด็นคำถามว่า ทำไม ผอ.โรงเรียนไม่ไปแจ้งความ เพราะกระบวนการ ถ้าจะรื้อโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม  หรือเป็นพื้นที่ของรัฐ ต้องมีกระบวนการพิพากษาของศาล โดยที่มีคำสั่งศาลให้รื้อ ไม่ใช่ให้เอกชนเข้ามาถือสิทธิแบบนี้”

ไมตรี จงไกรจักร์

ไมตรี ยังชี้ว่ากรณีนี้ทำให้เห็นภาพสะท้อนและภาพจำว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสตูลล้วนอยู่ข้างเอกชนตั้งแต่ครั้งก่อนที่มีการปิดทางสาธาณะ เข้า-ออก ชายหาดแล้ว จึงชัดเจนว่าการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกพื้นที่นั้นแทบทำไม่ได้ และเป็นไปได้ยากมาก 

ทั้งนี้ในความเป็นจริง พื้นที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งรกรากมายาวนาน ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชวิตกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อปี 2567 แล้ว ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งการคุกคามใดๆต้องไม่เกิดขึ้น เพราะมีมติครม.คุ้มครองไว้ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมาช่วยเหลือปกป้องคุ้มครอง หรือชะลอการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ไปก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีคำสั่งศาล จะไปรื้อทรัพย์สินของโรงเรียน นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ตนคิดว่า โรงเรียน รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ จะปล่อยให้เอกชนเข้าไปรื้อโรงเรียน โดยไม่มีข้อสั่งการไม่ได้ 

ดังนั้นเมื่อพิสูจน์หลายครั้งว่า ในระดับพื้นที่ไม่อยู่ข้างประชาชน แก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องมีการตั้งกลไกคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาแก้ไขปัญหา นั่นคือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งปัจจุบัน มีชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน   

ทั้งนี้ยังเห็นว่าตอนนี้เร่งด่วน ทางประธานคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ต้องประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และทางตำรวจ ให้มีกระบวนการตรวจสอบขั้นตอนการใช้อำนาจในการเข้ามารื้อถอนอาคารทรัพย์สินในโรงเรียน เพราะถืออาคารของรัฐใช้ภาษีประชาชน จะให้เอกชนรายหนึ่งมารื้อ โดยไม่มีเอกสารหลักฐาน เอกสารข้อสั่งการที่ชัดเจนไม่ได้   

“ขณะเดียวกันเอกสารสิทธิ น.ส.3 ส.ค.1 แปลงนี้  ได้มีการตรวจสอบจนมีมติในการเตรียมเพิกถอนแล้วด้วย ผมคิดว่าการโต้แย้งกันขณะนี้ มันต้องใช้กระบวนการศาลในการตัดสิน  ไม่ใช่ว่าอ้างสิทธิ เดินมาแล้วมาขอราชการหน่วยงานมาคุ้มครองเอกชน แล้วมารื้อโรงเรียน  อันนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จังหวัดจะจัดการได้  กรรมการส่วนกลางจึงต้องทำหน้าที่และชะลอการดำเนินการไปก่อน”

ไมตรี จงไกรจักร์

ซัดรัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาชาวเลหลีเป๊ะ

ขณะที่ รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตกรรมการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นประธานขณะนั้นมองว่า ปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล จากความล่าช้าในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิ เพื่อเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบบนเกาะหลีเป๊ะ โดยรัฐบาลนี้ไปยึดงบประมาณหรือไม่อนุมัติงบฯ กลางในส่วนที่ให้คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวในการดำเนินงาน 

ในยุคพลเอกประยุทธ์ ได้มีการตั้งงบฯ กลางให้คณะกรรมการชุดนี้ พอมาเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย งบประมาณนี้ถูกยึดคืน กรรมการชุดนี้ จึงอยู่ในสภาพที่ไม่มีงบประมาณในการทำงาน เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐบาลยึดงบฯ กลางในการดำเนินการไป ก็แปลว่า รัฐบาลไม่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มชาติพันธุ์คนยากคนจนอย่างแท้จริง”

รศ.ธนพร ศรียากูล

ธนพร ยังสะท้อนปัญหาใหญ่จากการที่รัฐบาลยึดงบฯ กลางคืน ทำให้กระบวนการในการพิสูจน์สิทธิถูกชะงักลง ทั้งที่การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศเกาะหลีเป๊ะ ถูกส่งจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว เพื่อรอเดินหน้าสรุปและนำไปสู่การให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการในการเพิกถอนที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อได้ เพราะว่าไม่มีงบปริมาณในการขับเคลื่อนต่อ จากที่รัฐบาลที่ยึดงบกลางคืน 

ทั้งยังประเมินว่า หากนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดนี้ ไม่ตั้งงบฯ กลางให้คณะกรรมการฯ และปล่อยลอยแพปัญหาของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จะสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลที่บอกว่าจะแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ กินดีอยู่ดี มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และหากล่าช้าเชื่อว่าความขัดแย้งจะบานปลายรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบความเดือดร้อนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ และการท่องเที่ยวบนเกาะหมื่นล้าน 

ดั้งนั้น เร่งด่วนตอนนี้ กรรมการฯ ชุดหลีเป๊ะที่นายกฯ แต่งตั้ง ต้องรีบประชุมโดยด่วนภายในพรุ่งนี้ (29 เม.ย. 68) เพราะในโครงสร้างกรรรมการ มีหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว ต้องไถ่ถามว่าการดำเนินงาน กระบวนการของหน่วยงานในพื้นที่ทำไมถึงทำอย่างนั้นได้ เมื่อหน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอน ก็ต้องรายงานต่อนายกฯ เพื่อสั่งการลงโทษ  ไม่ว่าเป็นข้าราชการ กระทรวงทบวงไหนก็ตาม และ กรรมการชุดนี้ ก็ต้องทวงเงินงบประมาณดำเนินการที่ถูกยึดไปด้วย

“เมื่อไรจะคืน หรือคืนกี่โมง และหากได้งบประมาณแล้ว กรรมการชุดนี้ ก็ต้องรีบดำเนินการพิสูจน์สิทธิเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับชุมชนดั้งเดิมชาวเลเกาะหลีเป๊ะ” 

รศ.ธนพร ศรียากูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active