นักวิชาการ ชี้ นโยบายพรรคการเมือง ยังไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์

เสนอจุดแรกที่ต้องทำคือเรื่องสิทธิเท่าเทียม พร้อมเร่งลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนเข้าถึงนโยบายแบบเสมอภาค หวัง พรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ประกาศนโยบายชัด ร่วมดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายเร่งด่วนให้มีผลบังคับใช้  ให้สิทธิคนเท่ากัน 

วันนี้ (5 พ.ค.2566 )  อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยกับ The Active ว่า จากการติดตามนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะเห็นแนวโน้มหลายนโยบาย ของหลายพรรคการเมือง ที่ประชาชน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าถึงได้เช่น นโยบายเกี่ยวกับที่ดิน การพิสูจน์สิทธิ ให้โฉนดที่ดินประชาชน เข้าถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัย  และนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งสวัสดิการเด็ก ผู้สูงอายุ ตลอดจนโยบายด้านการศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งหากมองภาพใหญ่ เหมือนจะให้สิทธิเสมอกันหมด กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 60 กลุ่มประชากรประมาณ 10 ล้านคน จะได้รับประโยชน์ด้วย แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่ครอบคลุม หรือไม่ทำให้ได้รับประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  และยังไม่มีนโยบายใด พรรคการเมืองไหน ที่จะพิจารณาประเด็นชาติพันธุ์ในมิติเชิงวัฒนธรรม 

“ตรงนี้สำคัญ เพราะหากบอกจะให้ที่ดิน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ดินของเขามันไม่ใช่แค่ที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย แต่มันมีพื้นที่จิตวิญญานเขาอีก ที่เราบอกโอเค เราจะให้ที่ดินชาวบ้านที่พิสูจน์มาว่าอยู่มาก่อนการประกาศอุทยาน  คนนี้จะกี่ไร่ แต่คือการแบ่งแบบนี้ไม่ได้  คือ ยังเป็นวิธีคิดแบบปัจเจกอยู่ เพราะฉะนั้นนโยบายคือเป็นประโยชน์แต่อาจจะยังไม่สอดคล้องและตอบโจทย์กับการแก้ไขปัญหาและวิถีชีวิตของพวกเขา “ 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน )

อภินันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตรงนี้ สะท้อนมโนทัศน์ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางนโยบายกับกลุ่มเฉพาะกลุ่มนี้มากนัก  คือประชากรก็กลุ่มเฉพาะ ลักษณะวัฒนธรรมก็เฉพาะ เพราะฉะนั้น ในเชิงนโยบาย จึงไม่เห็นนโยบายที่พุ่งเป้ามาที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง 

ในความเห็น คิดว่าประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ เชื่อมโยงเรื่องสำคัญ ๆ  1. คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะให้คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน  ให้ได้รับสิทธิวัฒนธรรมเหมือนกัน ก็คงหลายพรรคที่คิดแบบนี้เหมือนกัน แต่การปฏิบัติจริง ๆ น้อย  ดังนั้นอันนี้คือจุดแรกที่ต้องทำ 

อันที่ 2 คือ ถ้าสมมติว่า เราไม่ได้มองกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มเฉพาะ ที่ต้องมีวิธีจัดการแบบหนึ่ง จะกลายเป็นว่านโยบายต่าง ๆ ที่ออกมามันไม่ตรงตอบโจทย์กับเขาแทนที่ทุกคนจะได้เสมอเท่ากัน แต่เท่ากันไม่จริง  ก็จะนำมาสู่ประเด็นที่ 3 คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคงไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรอก แต่ข้อจำกัดของการกำหนดนโยบายที่เป็นภาพใหญ่อย่างเดียว  หรือที่ชอบพูดกันว่าตัดผ้าโหลนั่นแหละ  โดยที่ไม่ดูว่าเฉพาะชาติพันธุ์ต้องคิดลงรายละเอียด เพื่อที่จะให้ ความเหลื่อมล้ำไม่เกิดขึ้น ทุกคนได้เข้าถึงนโยบายแบบเสมอภาคกัน 

“เหมือนเลเวล ระดับของกลุ่มชาติพันธุ์  ไม่ได้ยืนอยู่ในระนาบเดียวกัน คือยกตัวอย่าง หากแยกบันได 3 ขั้นคุณบอกจะให้ทั่วถึงเท่ากันหมด แต่จริง ๆ เขาก็ได้แค่ขั้นที่ต่ำกว่า หรือต้องลบ 2 ก็จะยืนไม่เท่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ คือการดูแลเขากรณีเฉพาะ หนุนให้เขาขึ้นมาเสมอคนอื่นก่อน ถึงจะให้สวัสดิการต่างๆเสมอเท่ากันได้ “ 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน )
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน )

อภินันท์ ยังเชื่อว่า กฎหมายชาติพันธุ์ เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ และเป็นกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นแบบนั้น ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตามที่จะเข้ามาน่าจะผลักดันต่อ เพราะร่างกฎหมายรออยู่แล้วใน ครม. ผ่านขั้นตอนการรับฟังเสียงทุกฝ่ายที่ครอบคลุมแล้ว  หากผ่านครม. ก็ส่งต่อไปที่กฤษฎีกา ตีความแล้วก็เข้าสภานิติบัญญัติพิจารณาบังคับใช้  ดังนั้นคิดว่าในการเลือกตั้ง  จะเป็นโอกาสที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ที่ภาคประชาชนร่วมกันเสนอ เข้าไปสู่พิจารณาเพื่อประโยชน์มี่มำให้ทุกคนที่เป็นคนไทย มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน  และหวังว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านจะให้ความสำคัญกับเรื่องสำคัญนี้ เพราะจริง ๆ ก้อนหน้านี้เมื่อวันชนเผ่าพื้นเมืองปี 2565 หลายพรรคตบเท้าประกาศสนับสนุน ดังนั้นควรชูนโยบายและประกาศกันชัดเจนว่าจะเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ทันที 

“ อยากฝากทุกพรรคการเมือง คือกฎหมายนี้ไม่ได้สร้างผลเสียใด ๆ ต่อประเทศ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจอะไรเลย เป็นกฎหมายรับรองการดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ในประเทศไทย ให้กลไกทำงานชาติพันธุ์ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ และจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเท่าเทียมในสังคม “

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
แฟ้มภาพ : ยื่นสภาฯดันร่างกม.คุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เนื่องในวัน ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ปี 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active