ผลักดันร่างกฎหมาย คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ครอบคลุมสอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ด้าน ภาคประชาชน หวังรัฐบาลใหม่และรัฐสภาชุดที่ 26 เร่งดันร่างกฎหมายทุกฉบับให้มีผลบังคับใช้
วันนี้ (9 ส.ค. 2566) ตัวแทน สส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายต่อตัวแทน วันมูหะมัด นอร์มะทาร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 5 ชุด รวม 16 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้โอกาสเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก นำโดย มานพ คีรีภูวดล, เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล
มานพ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่ม ประชากรกว่า 6 ล้านคน คิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของประชากรในประเทศ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา รวมถึงรัฐสภาชุดที่ 25 ไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งฉบับเดิมที่พรรคก้าวไกลเสนอ จึงคาดหวังว่าสภาชุดที่ 26 และรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญและผลักดันร่างกฎหมายนี้
ด้าน เลาฟั้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงเผชิญกับปัญหาและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการจำกัดสิทธิด้านต่าง ๆ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ จึงต้องเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายนี้ ที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในวาระสำคัญ 3 เรื่อง
ขณะที่พรรคก้าวไกลได้มีการปรับร่างกฎหมายโดยนำส่วนสำคัญต่าง ๆ จากร่างของภาคประชาชน มาผนวกปรับปรุงให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น และยื่นเสนอในวันนี้
“สาระสำคัญ ส่วนที่หนึ่ง คือ การบัญญัติรับรองสิทธิและเป็นการห้าม โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติ หรือการกระทำการใดๆที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง และอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ อันที่สอง คือจัดโครงสร้างตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตชาติพันธุ์ และสุดท้ายคือการประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อนำไปสู่การออกระเบียบใหม่ แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเขตป่า ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กระทบสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์
ด้าน วิทวัส เทพสง ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ กล่าวว่า คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา และรัฐสภาชุดปัจจุบันจะสามารถผลักดันร่างกฎหมายนี้ ให้มีผลบังคับใช้ได้จริงซักที
“จริง ๆ แล้วแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้บรรจุให้มีกฎหมายคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในปี 2565 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติดูแลโดยนายกฯ และรัฐบาลชุดเก่า แต่ก็ทำไม่สำเร็จ กม.ออกไม่ทันบังคับใช้ จึงอยากให้รัฐบาลใหม่ รัฐสภา เร่งรัดการพิจารณาร่างกม.นี้“
วิทวัส เทพสง ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ ขปส.
ด้านตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นำโดย ศักดิ์ดา แสนมี่ ใช้โอกาสในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์ทุกฉบับ โดยเฉพาะฉบับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่บรรจุในวาระการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว
ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ / สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล
2.ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย / สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง / ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือฟีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์
4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ / คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
5.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ / กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน )