เรียกร้องเร่งรับหลักการ ตั้ง กมธ.พิจารณา เดินหน้าส่งเสริม สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมีเครื่องมือและมาตรการ คุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ด้าน สส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล หวังรัฐบาล เร่งนำร่างกฎหมายที่ใกล้คียงกัน รวม 5 ฉบับ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯพร้อมกัน
วันนี้ (19 ธ.ค.66) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้การสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…..
โดยรายละเอียดในแถลงการณ์ระบุว่า สพช.ซึ่งเป็นกลไกร่วมของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการผลักดันและติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและภาคีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำ องค์กรชุมชน และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมของตนเองในทุกด้าน รวมทั้งเป็นกลไกที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานวัฒนธรรม และปกป้องคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
ซึ่งที่ผ่านมา สชพ.และภาคี ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นำร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. กลับมาบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันอีกครั้ง (เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ) และ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายชี้แจง หลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมทั้งได้มีการอภิปรายสนับสนุนอย่างกว้างขวาง จนกระทั่ง ประธานที่ประชุมได้สรุปให้รับหลักการต่อร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. พร้อมทั้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการนำเสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว (ที่เป็นสัดส่วนของ ตนเอง) ในสัปดาห์ถัดไป
ด้วยเหตุนี้ สชพ. ภาคีองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมเสนอกฎหมาย จึงขอใช้โอกาสนี้กล่าวขอบพระคุณท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานที่ประชุม และดำเนินการให้สส. ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดย สส.ที่ร่วมอภิปราย ต่างให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงขอแสดงความขอบคุณ
อย่างไรก็ตาม สชพ.และภาคีฯ ยังกังวลว่าหากกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายมีความล่าช้า จะเป็นการเสียโอกาสของประเทศไทยที่จะขาดเครื่องมือที่เป็นหลักประกันในการปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นพวกเราขอยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะเสนอรายชื่อบุคคลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความเหมาะสม ไปเป็นกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระต่อไปแล้ว
“สชพ.และภาคี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ผลักดันให้รัฐบาลยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง และรัฐมีเครื่องมือและมาตรการคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและสนับสนุนให้มีการ จัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงอีกด้วย”
แถลงการณ์ระบุ
ด้าน มานพ คีรีภูวดล สส.สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเปิดเผยกับ The Active ว่า ได้รับข้อมูลจากวิป 2 ฝ่าย ว่าในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมเพื่อขอมติรับหลักการ โดยให้ครม.นำกลับไปศึกษาภายใน 60 วัน จากนั้นให้นำร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ รวมเป็น 5 ฉบับ ประกอบด้วย ประกอบด้วย 1. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งถือเป็นร่างฉบับรัฐบาล
2. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์
4.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล
และ 5.ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกันทุกฉบับ
“เราก็หวังว่า รัฐบาล คณะรัฐมนตรี จะยืนยันรับปากเรื่องนี้ เพื่อดำเนินการกลับไปพิจารณาตามกรอบที่จะเสนอ 60 วัน แล้วให้นำร่างทั้งหมด ซึ่งบางฉบับสถานะจ่อรออยู่ที่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และ 3 ฉบับ ที่ถูกตีเป็นกฎหมายการเงิน ให้นายกฯดำเนินการลงนามรับรอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”
มานพ คีรีภูวดล สส.สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล