รมว.วัฒนธรรม เชื่อ ชาติพันธุ์ไม่ใช่ภาระ แต่คือพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศ มอบนโยบายหน่วยงานรัฐร่วมหนุนคุณค่าทุนวิถีวัฒนธรรม องค์ความรู้ จัดการดูแลรักษาทรัพยากร รูปธรรมสู่การเร่งรัดผลักดันร่าง กม.ชาติพันธุ์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
วันนี้ (8 มี.ค.67) เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ภริยา และอดีตรมว.กระทรวงวัฒนธรรม สุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน บ้านทับปลา-ลำปี ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา
โดยร่วมกับเครือข่ายชาวเล ปักหมุดประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 21 ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน บ้านทับปลา-ลำปี ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งถือเป็นพื้นที่คุ้มครองแห่งที่ 2 ของชาวเล หลังประกาศแห่งแรกเมื่อปี 2565 ที่ชุมชนทับตะวัน -บนไร่ อ.ตะกั่วป่า
ศักยภาพทุนวัฒนธรรม ความสำคัญของพื้นที่ชุมชนชาวเล บ้านทับปลา สู่การเป็นพื้นที่คุ้มครองลำดับที่ 21
หมู่บ้านทับปลา ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นหมู่บ้านอยู่ลึกเข้าไปจากถนนเพชรเกษมประมาณ 1 กิโลเมตร ติดกับทะเลและป่าชายเลน ชื่อหมู่บ้านทับปลา มีที่มาเพราะสมัยก่อนบริเวณนี้ยังไม่มีคนอยู่ ชาวมอแกลน จากหมู่บ้านลาปีมาหากินแถวทับปลา ถ้าจะเดินกลับก็ไกลจากบ้าน จึงสร้างเพิงพักหรือที่ชาวมอแกลนเรียกว่า “ทับ” ชาวมอแกลนชอบย่างปลาจนไฟไหม้ทับ ก็เลยเรียกบริเวณนั้นว่า “ทับปลา” จนถึงปัจจุบัน
โดยหมู่บ้านทับปลามีประชากร 266 คน ผู้หญิง 136 คน ผู้ชาย 130 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษามอแกลนได้ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่สืบต่อวิถีกันมายาวนาน สร้างรายได้และมีความมั่นคงทางอาหาร ป่าชายเลนที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์มาก จากการที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาฟื้นฟู บนหลักการใช้ประโยชน์ควบคู่การอนุรักษ์ ตัวชี้วัดสำคัญ คือยังความหลากหลายของสัตว์ในป่าชายเลน เช่นปูดำ ที่เป็นอาหารของคนพื้นที่ และส่งขายให้ผู้บริโภคภายนอกได้กิน
“หากเราจับได้ปูตัวเล็ก เราก็จะปล่อยคืนเพื่อให้มันโตเต็มวัยก่อน และจะต้องทิ้งเหยื่อไว้ให้ลูกปูได้กินด้วย ปูในพื้นที่เราไม่เคยหมด มีให้ผู้บริโภคได้กิน ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่นี่ “
คงเดช นาวารักษ์ ชาวเลมอแกน บ้านทับปลา จ.พังงา
นอกจากนี้ยังมีปลาเศรษฐกิจ ที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ อีกมากมาย เช่น ปลากระพงขาว กระพงแดง ปลากระบอก ปลาดุกทะเล โดยบริเวณป่าชายเลนและทะเลโซนหมู่บ้านทับปลา ยังเป็นพื้นที่หาอยู่หากินของชุมชนใกล้เคียงหรือคนภายนอกด้วย
ส่วนบริเวณป่าที่พบเริ่มเสื่อมโทรม ชาวบ้านจะช่วยกันปลูกฟื้นฟูทันที บริเวณภายในหมู่บ้าน แม้จะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตามการส่งเสริมนโยบายรัฐ แต่ก็มีการปลูกพืชหลากหลาย ต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า
ชาวเลมอแกลนทับปลา ยังมีองค์ความรู้ด้านสมุนไพร ที่ช่วยลดลดค่าใช้จ่ายการซื้อยาจากภายนอก รวมทั้งองค์ความรู้ในการจักสานข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน
ข้อจำกัดทางนโยบายที่สวนทางวิถีวัฒนธรรมลดทอนศักยภาพที่มี
จากนโยบายการอนุรักษ์พื้นที่ป่าของภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต จากเดิมในอดีตชาวเลเคยนำไม้มาซ่อมเรือ มาทำเรือมาด ที่มีความทนทานเหมาะกับการใช้ในป่าชายเลนไม่ได้เช่นเดิม ทำให้ต้องซื้อไม้จากภายนอกซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่สูง ขณะที่ภูมิปัญญาต่าง ๆ ทั้ง ภาษาประเพณี ตลอดจนการละเล่นกำลังสูญหาย และไม่มีค่อยผู้สืบทอดเพราะหลักสูตรการศึกษาไม่สอดรับกับบริบทพื้นที่ จนพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เช่นการศึกษาอย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่คนในชุมชนวัย 30 ปีขึ้นไป จะจบแค่ชั้น ป.4 -ป.6 คนรุ่น 30 ลงมา จบแค่ชั้น ม.3-ม.6
พวกเขาจึงอยากให้รัฐทำความเข้าใจ ให้โอกาสและส่งเสริมในวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีและวิถีของชนเผ่า ให้รัฐกันพื้นที่และรับรองสิทธิที่อยู่อาศัยที่ทำกินรวมถึงให้ดำเนินการกันแนวเขต มีหนังสือรับรองให้ใช้ได้ตามความเชื่อดั้งเดิม ด้วยการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ
- เพื่อเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาความร่วมมือในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
- เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในระดับพื้นที่จังหวัดและระดับนโยบาย
- เพื่อประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมและเสนอข้อเสนอต่อฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้อง
โดยชาวเลมอแกลนทับปลา -ลำปี ร่วมกันอ่านคำประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีสาระสำคัญระบุว่า พวกเราชุมชนชาวเลมอแกลนบ้านทับปลา-ลำปี จำนวน 213 หลัง 868 คน มีความพร้อมและยึดมั่นในหลักการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์และเชื่อมั่นในวิถีวัฒนธรรมมอแกลน ตามหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม” ยืนยัน “ความเป็นชุมชนดั้งเดิม” ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินบรรพบุรุษชาวมอแกลนบ้านทับปลา – ลำปี มาอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” และยึดหลักการบริหารจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์ใช้และรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน
เพื่อยืนยันกับบรรพบุรุษและผู้มีเกียรติทุกท่าน ณ ที่นี่ว่า พื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณของชุมชนชาวมอแกลนบ้านทับปลา – ลำปี ที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันปกป้องดูแลรักษามาเป็นเวลานาน เราขอยืนยันว่าจะสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ‘ความเป็นมอแกลน’ และรักษาแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานชาวมอแกลนบ้านทับปลา – ลำปี
“พวกเราขอประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ลำดับที่ 21 ชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนบ้านทับปลา – ลำปี เราคือผู้บุกเบิกดูแล รักษา ทรัพยากร และมีส่วนร่วมพัฒนา สร้างสังคมสงบสุขอย่างยั่งยืน ในพื้นที่อันดามันสืบไป“
คำประกาศระบุ
รมว.วัฒนธรรม มอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงนาม MOU คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ชาวเล
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่จะให้การส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม ซึ่งกำหนดมาเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยและนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลว่าทำไม ต้องมีพ.ร.บ.ที่จะมาคุ้มครองสิทธิพี่น้อง ซึ่งได้เข้าพิจารณาในสภา เมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตนเป็นผู้เสนอร่างกม.นี้ในนามรัฐบาลต่อสภาฯ และเชื่อว่ากฎหมายนี้จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี เรายืนยันเราจะเดินหน้าเร่งรัดติดตามให้กฎหมายนี้เป็นรูปธรรม ให้เกิดความหวัง ให้เป็นจริงที่สุด ตนจะมาเยี่ยมตลอด ให้กิจการนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
“ที่เชื่อเพราะว่า หลาย ๆ ท่านขึ้นเวทีเหล่านี้ได้สรุปปัญหา และความต้องการอย่างชัดเจน ผมจะประมวลทั้งหมดเสนอในคณะกรรมธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ฯ เพื่อให้สิ่งที่พี่น้องต้องการทุกอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็น พ.ร.บ.ที่ออกมาแล้ว โดนใจพี่น้องทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ สมที่เราตั้งไว้ ผมจึงอยากเรียนว่าผมมาวันนี้มาประกาศหมู่บ้านพื้นที่คุ้มครองแห่งที่ 21 ของประเทศไทย เราเปิดได้เป็นไปตามมติครม. 53 ต่อไปก็เปิดตามกม.ที่จะออกมา“
ทั้งนี้ ความปราถนาดีของรัฐบาล หน่วยงานที่อยู่ที่นี่ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนกระทรวงทบวงกรม ก็คือพวกเรามีภารกิจหน้าที่ทำให้งานรัฐบาลสำเร็จลุล่วงด้วยดี ราชการตรงนี้อยู่ใกล้ชิดพี่น้องที่สุด ที่จะทำให้นโยบายตรงนี้ เป็นรูปธรรมสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี จะทำให้พี่น้องที่ถูกมองว่าเป็นภาระเป็นพลังสำคัญ สิ่งที่จะเป็นพลังได้สิ่งแรก คือเราจะคุ้มครองที่อยู่อาศัยที่ทำกิน วัฒนธรรม ประเพณีของเรา ให้ยืนยังสถาพรต่อไป เราจะส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ส่งเสริมทุกเรื่องที่ทำให้เรายึดมั่นความเป็นพี่น้องคนไทย ส่งเสริมสังคมที่เรามีสิทธิต่าง ๆ อันพึงได้ ที่สำคัญคือเราจะทำให้มีความเสมอภาคอันนี้เรื่องใหญ่
จากนั้น รมว.วัฒนธรรม พร้อมด้วยตัวแทนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งวัฒนธรรมจังหวัดพังงา, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด, ศึกษาธิการจังหวัดพังงา, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิชุมชนไท, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, เครือข่ายชาวเลอันดามัน, ผู้ใหญ่บ้านชุมชนทับปลา-ลำปี ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่ามอแกลนบ้านทับตะวัน-ลำปี
ดันศักยภาพวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ สู่ซอฟต์พาวเวอร์
ขณะที่วานนี้ (7 มีนาคม 2567) รมว.วัฒนธรรม และ คณะ ร่วมงานเฉลิมฉลองพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลน ทับตะวัน-บนไร่ อ.ตะกั่วป่า ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองฯแห่งแรกของชาวเล ประกาศตั้งแต่ปี 2565
โดยได้มีการชมนิทรรศกาล ทุนทางวัฒนธรรมชาวเลทับตะวัน-บนไร่ 12 ด้าน เช่น เครื่องจักสาน การร่อนแร่ สมุนไพร การท่องเที่ยวชุมชน รวมทั้งอาหาร ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นอย่างมากของชุมชนนี้ ซึ่งได้มีการนำเสนอเรื่องราวของวัตถุดิบจากองค์ความรู้ในการเก็บหาจากทะเล และพืชในชุมชน ที่สดใหม่ปลอดสาร จากนั้นร่วมรับประทานอาหารร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์ชาวเล ที่ตั้งใจปรุงต้อนรับ
เสริมศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้เห็นรอยยิ้ม อาหาร อาชีพที่ดี ที่จะต้องส่งเสริมให้กินดีอยู่ดี พี่น้องมีความพร้อม และจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ ทั้งนี้มีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ 10 กว่าด้าน เกี่ยวข้องทุกกระทรวง จะต้องบูรณาการร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ต่อยอดการส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อมีการท่องเที่ยวพี่น้องในพื้นที่มีฝีมือทำอาหารก็ขายอาหารได้ มีผีมือร้องรำทำเพลง การแสดง มีความสามารถประเพณีก็จะทำให้ยิ่งใหญ่ และอีกมากมาย เชื่อมั่นว่า การเราประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง ไปพร้อมกับการที่จะมีกฎหมายออกมา การที่ต้องส่งเสริมพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้เป็นสิ่งดีงาม ถ้ามีกฎหมายสิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าอย่างรวดเร็วพี่น้องจะมีสิทธิเท่าเทียมกับพี่น้องคนไทย เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะไปด้วยกัน
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ ตนทราบดีถึงเหตุผลการประกาศพื้นที่คุ้มครองของที่นี่ และค่อนข้างเดินไปได้ดี อาจมีที่ดินทำกิน บางพื้นที่ ยังไม่ได้ตามที่เสนอ ก็ขอให้รอคอยที่จะได้รับสิทธิตรงนี้ และในเรื่องของที่ดินฝังศพ พิธีกรรม ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตนมาตรงนี้ขอให้ส่วนต่าง ๆ มาช่วยดู