“มาเดาะ มากะ: เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง ชี้ระบบอาหารชาติพันธ์ุ คำตอบรับมือวิกฤตโลก หลังพบพื้นที่ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ ยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้ดี ด้วยกฎจารีต ระบบความเชื่อ ที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ
วันนี้ (27 ต.ค. 2567) บริเวณลานหน้ามิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ ภายในงาน “มาเดาะ มากะ“ The Rotate Festival เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง จัดเวทีสาธารณะ สำรับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กินอย่างเข้าใจธรรมชาติ (Ethnic and Indigenous People Food System to Nurture Nature)
ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD) อธิบายถึงคำในภาษาปกาเกอะญอ “มาเดาะมากะ” ว่าเป็นหลักการแห่งการแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือกันของชุมชน รวมถึงแนวปฏิบัติในการทำไร่หมุนเวียน โดยระบบอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ยึดหลัก “กินจากน้ำ ป่า เขา” ด้วยความเคารพและให้เกียรติต่อธรรมชาติ ซึ่งตามความเชื่อมีเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองดูแล
ชนเผ่า 5% ดูแล 80% ของความหลากหลายทางชีวภาพโลก
ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ การผลิตข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบอาหาร โดยให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน ท่ามกลางวิกฤตสภาพอากาศ ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีนานาชาติ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มุ่งความสนใจไปที่การจัดการระบบอาหารของชนเผ่า ซึ่งพบว่าพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพถึง 80% อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มชนเผ่าที่มีเพียง 5% อันเป็นผลมาจากกฎจารีตและระบบความเชื่อที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ
“ปัจจุบันประชาคมโลกเริ่มให้ความสนใจในวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และการจัดการทรัพยากรของชนเผ่า เราจึงต้องนำเสนอและผลักดันให้เกิดการยอมรับในวิถีเหล่านี้ เพื่อสร้างโลกที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
ดร.ประเสริฐกล่าว
ด้าน Dr. Dhrupad Choudhury Advisor TIP, Rome and NESFAS, Northeast India, ผู้เชี่ยวชาญเกษตรบนพื้นที่สูง(ไร่หมุนเวียน) ในระดับเอเชีย ได้ให้มุมมองหลังจากการสำรวจการจัดแสดงอาหารท้องถิ่นภายในงาน โดยชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายของอาหารที่นำมาจัดแสดง สะท้อนถึงความหลากหลายของชุมชน และที่สำคัญ คือ อาหารเหล่านี้ไม่ได้มาจากระบบการผลิตแบบเชิงเดี่ยว แต่มาจากวิธีการผลิตที่หลากหลายในชุมชน
ผู้เชี่ยวชาญเกษตรบนพื้นที่สูง(ไร่หมุนเวียน) ในระดับเอเชีย ยังบอกอีกว่า ความหลากหลายนี้เปรียบเสมือนการกระจายความเสี่ยง เช่นเดียวกับการสมัครงานที่ต้องส่งใบสมัครไปหลายที่เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน ระบบการผลิตที่หลากหลายก็เช่นกัน หากระบบใดระบบหนึ่งประสบปัญหา ชุมชนก็ยังสามารถพึ่งพาระบบอื่นๆ ที่เหลือได้
นอกจากนี้ ยังสังเกตเห็นลักษณะเด่นของชนเผ่า ที่มีการแบ่งปันมากกว่าการอยู่แบบปัจเจก ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับระบบการจัดการที่ดินและระบบอาหารของชุมชน
Dr. Dhrupad เสนอว่าเราควรยกระดับและสร้างการยอมรับระบบอาหารของชนเผ่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายกลไกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ในทางปฏิบัติยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนวิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากรของชนเผ่า โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ Dr. Phrang Roy Coordinator Indigenous Partnership for Agrobiodiversity and Food Sovereignty (TIP,Rome, Italy และตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง Khasi ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย กล่าวว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นดินโคลนถล่มที่บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย หรือพายุที่ทำลายบ้านเรือนในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุมาจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งจากการสูญเสียพื้นที่ป่า การทำลายดิน และการทำเหมืองแร่
แม้ชนเผ่าพื้นเมืองจะมีเพียง 5% ของประชากรโลก หรือราว 370 ล้านคนที่กระจายตัวอยู่ใน 7 ทวีป แต่จากรายงานปี 2017 พบว่าในพื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ยังคงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ดี โดยเฉพาะในป่าดั้งเดิม Dr. Phrang Roy จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ต้องการย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ป่า โดยยกตัวอย่างบ้านหินลาดในที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าได้อย่างยั่งยืน
“หัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า คือ การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน คนพึ่งป่า ป่าก็พึ่งคน ควรมีกลไกระดับนานาชาติที่สนับสนุนผู้ที่ทำหน้าที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้”
Dr. Phrang Roy กล่าว
ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง Khasi ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เสนอให้จัดงานพบปะระหว่างผู้นำชุมชนที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ควรสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้ดูแลป่า ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่าชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่กำลังกลับคืนถิ่น โดยนำความรู้มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ป่าเพิ่มเติม
บทเรียนจากภัยพิบัติบ้านหินลาดใน
พ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ ผู้นำและปราชญ์ชาวบ้านจากบ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งล่าสุดในชุมชนแม้จะเป็นภัยพิบัติ แต่ก็ทำให้เห็นถึงความร่วมมือของชุมชนและตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติมากขึ้น
พ่อหลวงชัยประเสริฐ บอกว่า ระบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร เมื่อเกิดภัยพิบัติ ชุมชนยังมีแหล่งอาหารหลากหลายชนิดที่ปลูกไว้ในไร่ ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองและรับมือกับสถานการณ์ได้ แม้ชุมชนจะปลูกข้าวโพดบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเพื่อเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ไม่ได้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว
“มีคนที่ไม่เข้าใจมักกล่าวหาว่าเราเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ ทั้งที่มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ” พ่อหลวงชัยประเสริฐกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าการที่ชุมชนดูแลพื้นที่ป่ากว่า 25,000 ไร่อย่างดี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติ สะท้อนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่นาเพียง 20% เท่านั้น
“ผมอยากเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เข้าใจให้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของเราในพื้นที่จริง ว่าเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินหรือกล่าวโทษใครๆ ควรทำความเข้าใจให้มากกว่านี้”
พ่อหลวง กล่าว
พ่อหลวงชัยประเสริฐ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลไม่ใช่ความช่วยเหลือมากมาย เพียงแค่ให้กำลังใจ และไม่ลิดรอนสิทธิชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ก็เพียงพอแล้ว
สวนคนขี้เกียจ แนวคิดใหม่สู่ความยั่งยืน
ด้าน ศิวกร โอโดเชา ผู้ริเริ่มธุรกิจชุมชนจากผลผลิตสวนคนขี้เกียจ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำไร่แบบเดิมที่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ จึงตัดสินใจปล่อยให้พื้นที่คืนสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันสวนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชผักมากกว่า 70 ชนิด สามารถเก็บหาของป่าไว้บริโภคได้ทุกวัน
คำว่า “สวนคนขี้เกียจ” มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “คนขี้เกียจ” ซึ่งเป็นคำที่ชนพื้นเมืองทั่วโลกใช้สื่อถึงวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ แท้จริงแล้ว “ความขี้เกียจ” ในที่นี้ หมายถึงการพึ่งพาธรรมชาติใน 2 รูปแบบ คือ การเก็บหาของป่าตามฤดูกาล และการทำไร่หมุนเวียนที่ใช้วิธีเผาเพื่อให้แร่ธาตุละลายกลับคืนสู่ดิน โดยสังเกตบทบาทของแมลงและสัตว์ในระบบนิเวศ
“คำว่าขี้เกียจเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง การขยันจนเกินไปกลับเป็นการรบกวนและทำลายระบบธรรมชาติ ไม่เปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ทำงานตามวงจร เพียงเพื่อความสำเร็จตามที่มนุษย์คิด”
ศิวกร กล่าว
“ป่าผู้หญิง” มิติใหม่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ขณะที่ แม่หลวงหน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ผู้ใหญ่บ้านห้วยอีค่าง จังหวัดเชียงใหม่ และอดีตประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงเอกลักษณ์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่มีการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นเขตของผู้หญิงและผู้ชายอย่างชัดเจน
“ป่าผู้หญิง” เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญในหลายมิติ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งรวบรวมพืชสมุนไพรเฉพาะสำหรับสุขภาพผู้หญิง และพืชอาหารสำหรับดูแลครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทอดภูมิปัญญาระหว่างคนรุ่นต่างๆ และเป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ
การมีพื้นที่ “ป่าผู้หญิง” สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของชุมชนที่ให้คุณค่าและยอมรับบทบาทของผู้หญิงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้หญิงในชุมชน นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน