เครือข่ายชาติพันธุ์ ร่วมส่งเสียงถึง “รัฐสภา” อย่ายื้อ เร่งเดินหน้าผ่าน กม.ชาติพันธุ์ ให้มีผลบังคับใช้ทันสมัยประชุมสภานี้
วันที่ 18-19 ก.ค. 2568 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรภาคี เครือข่ายชาติพันธุ์ จัดงาน “ก้าวย่าง 15 ปี มติคณะรัฐมนตรีชาวเลและชาวกะเหรี่ยง 2553 สู่กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”
เครือข่ายชาติพันธุ์ ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่อง 15 ปี มติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง สู่ความหวังกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า เป็นเวลานับศตวรรษ ที่บรรพชนชาติพันธุ์ได้ก่นสร้าง แผ้วถางแหล่งทำกิน ถักทอสายใยสายสัมพันธ์ฉันเครือญาติ ประกอบสร้างเป็นชุมชนอันอบอุ่นที่ยังอุดมไปด้วยวีถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และอัตลักษณ์อันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นหลักฐานการดำรงอยู่ของพวกเราในนามกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
แต่ชีวิตอันเคยสงบสุขและเรียบง่ายของกลุ่มชาติพันธุ์กลับถูกกระทำย่ำยีโดยภาครัฐ ที่เดินหน้าประกอบสร้างภาพลักษณ์ของเราให้ล้าหลัง ด้อยการพัฒนา ขีดแบ่งเส้นชนชั้นให้เราผู้มีวิถีแตกต่างจากวัฒนธรรมกระแสหลัก ต้องกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ปฏิบัติการอันเลวร้ายจากการผลิตสร้างอคติต่อเรานั้น คือการเกิดขึ้นของกฎหมายและนโยบายอันไม่เป็นธรรม ทำให้เราเข้าไม่ถึงการพัฒนาและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน สิทธิและสถานะบุคคล ตลอดจนถูกยึดแย่งที่ดินและทรัพยากรในนามการอนุรักษ์
แต่อีกด้านกลับให้กลุ่มทุนและชนชั้นนำ ทำให้วีถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ และอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ค่อย ๆ ถูกทำให้เปลี่ยนสภาพไปจนใกล้จะสูญหายเต็มที่
ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบากนั้น เรายังสั่งสมพลังใจลุกขึ้นร่วมกันต่อสู้ จนเกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นฐานทางนโยบายขั้นแรกที่ทำให้เราสามารถยืนหยัดในวิถีเผ่าพันธุ์ ตลอดจนลุกขึ้นต่อกรกับอำนาจรัฐ
นำมาสู่ความหวังว่าเราจะมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาคุ้มครองเรา และได้ร่วมกันผลักดันจนเกิดร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนและวุฒิสภาแล้วเสร็จ โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม ตามหลักการมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความเสมอภาค
“ซึ่งเราหวังว่ากฎหมายฉบับนี้นอกจากจะยกระดับสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่ม สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมต่อพวกเราแล้ว ยังจะเป็นโอกาสของสังคมไทยโดยรวมในการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทุนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และทุนวัฒนธรรมที่หลากหลายอีกด้วย” แถลงการณ์ระบุ




แม้ภายหลังการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีบทบัญญัติบางประการที่ถูกลดทอนลงไปจากความไม่เข้าใจของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งรวมถึงอคติของ สส. และ สว. บางคน อาทิ การไม่ยอมรับการมีตัวตนของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” และการไม่ยอมรับให้ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ได้เป็นอิสระจากกฎหมายป่าไม้-ที่ดิน แต่อย่างน้อยที่สุดในกระบวนการผลักดันร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมีมากกว่า 60 กลุ่ม เราได้ร่วมกันตั้งแต่การยกร่างกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อให้ร่างกฎหมายของภาคประชาชนได้บรรจุในการพิจารณาของรัฐสภาได้ในที่สุด
นอกจากนั้น ในร่างกฎหมายยังมีบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ ได้แก่ สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, สิทธิในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรม, สิทธิในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร, สิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และสิทธิในการคุ้มครองการได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ มีกลไกเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ได้แก่ สภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
รวมถึงมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ไม่สมบูรณ์ แต่เราเห็นว่าการมีกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือที่พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะสามารถใช้ต่อรองกับบรรดากฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ของหน่วยงานรัฐได้มากขึ้น
“เราขอส่งเสียงถึงรัฐสภาให้เห็นความสำคัญของการเดินหน้าพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยการเร่งเดินหน้าผ่านกฎหมายให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้น ว่าเราจะไม่ถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐสภายังเคารพเสียงและเจตนารมณ์ของประชาชนอยู่บ้าง รวมถึงเคารพตัวตนของเราในนามกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” แถลงการณ์ระบุ
จึงขอประกาศต่อสังคมว่า เป็นเวลา 15 ปี ในการเดินทางของพวกเราภายหลังมีมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เราจะยังเดินหน้าปกป้องสิทธิและเสรีภาพอันพึงมีของเรา ควบคู่กับการประกาศตนต่อสาธารณะให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเราคือผู้บุกเบิก มิใช่ผู้บุกรุก เรามิใช่ผู้อ่อนแอหรือตัวปัญหา แต่คือกลุ่มผู้มีพลังสร้างสรรค์ที่พร้อมจะเดินหน้าพัฒนาสังคมนี้ไปพร้อมกับทุกคน จนกว่าประเทศไทยจะโอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
แม้ กม.ชาติพันธุ์ ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา จะไม่เป็นตามที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองหวัง100% แต่ต้องเดินหน้า เพื่อโอกาสสิทธิที่เท่าเทียม และการพิสูจน์ตัวตนความเข้าใจต่อสังคม


ธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ 3 มิถุนายน 2553 นโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ได้แสดงความเห็นผ่านเวทีเสวนา “15 ปี มติคณะรัฐมนตรีชาวเลและชาวกะเหรี่ยง สู่กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ว่า โดยส่วนตัว เห็นว่า ภายหลังการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่างจนมาถึงชั้นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งหลายคนที่อยู่ตรงนี้ มีความกังวลเรื่องคำนิยามที่เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย ทั้งเรื่อง “กลุ่มคน“ กับคำว่า “ชาวไทย” แล้วก็ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ที่หายไปจากนิยาม
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวตนไม่ติดใจเท่าไหร่ เพราะชัดเจนว่า พวกเราทุกคนก็คือชาวไทย และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองที่ไทยไปลงนามไว้กับสหประชาชาติ โดยพฤตินัยรัฐบาลไทย ถ้าพูดถึงชนเผ่าพื้นเมืองเราจะคิดถึงคน 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนบนภูเขา 2.กลุ่มที่อยู่ในป่า คือชาวกะเหรี่ยง 3.กลุ่มชาติพันธ์ุในพื้นที่ราบ และ 4. คือตามเกาะแก่ง ตามชายฝั่ง เพราะฉะนั้นตัวแทนของกลุ่มชนพื้นเมืองเมืองไทยจึงทีความชัดเจนตามนี้
“ส่วนตัว จึงอยากให้ พ.ร.บ.นี้ได้ออกมาใช้ได้แล้ว ในอนาคตเราจะแก้ไขอะไรเพิ่มเติม ก็ค่อยแก้ไป เพราะ 15 ปีตั้งแต่มีมติ ครม.ทั้ง 2 ฉบับ มันนานมากแล้ว ซึ่งหากเป็น พ.ร.บ.หรือ กฎหมาย จะเข้มแข็งขึ้น มีอำนาจขึ้นมาเยอะดีกว่ามติครม. แต่ถ้าหากกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พวกเราติดใจมาก รวมถึงตัวแทนที่ไปเป็นกรรมาธิการติดใจมาก ก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม กับวุฒิสมาชิกอีกครั้ง ก็จะทำให้เสียเวลาพอสมควร แต่ในมุมผมก็ไม่ได้บังคับอะไร แต่ว่าโดยส่วนตัวแนวคิดของผมอยากให้เดินหน้าต่อเพื่อบังคับใช้” ธีระ กล่าว
ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรองค์การมหาชน เพราะว่าต้องเตรียมร่าง เตรียมออกระเบียบ เตรียมประกาศตามมา เพื่อขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัตินี้ คิดว่า 15 ปี มีความพร้อมมากแล้ว เมื่อมี พ.ร.บ.นี้ เราจะได้กฎหมายที่เต็มรูปแบบ ไปขับเคลื่อนให้กลุ่มชาติพันธุ์ มีความเสมอภาคดึงอัตลักษณ์ที่หายไปได้กลับมา ก็จะมีความภูมิใจที่พวกเรามีความเสมอภาค ที่พวกเรามีความสมบูรณ์แบบในเรื่องสิทธิหลายหลายเรื่องที่เราควรได้รับ

ศ.อรรถจักร์ สัตตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังจากกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “มองปัจจุบัน แลอนาคต วิถีชาติพันธุ์กับนโยบายรัฐไทย เปิดเผยกับ The Active ต่อประเด็นการผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ว่า แม้การพิจารณกฎหมายนี้ ทั้งในชั้น สส.และ สว.จะไม่เป็นไปตามที่กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองคาดหวัง 100 %
แต่ส่วนตัวเห็นว่า จะต้องเดินหน้าทำงานต่อ เพื่อพิสูจน์ให้กับสังคมเห็นและเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ อย่างเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงคุณค่าและประโยชน์ที่สังคมส่วนรวมจะได้รับ และเพื่อถักสานการวางแนวทางในอนาคต ซึ่งไม่เห็นด้วยถ้าหากจะปล่อยให้เกิดการตีตกไป แล้วต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่
“ห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นอุปสรรคต่อสิ่งที่ต้องใช้ในการพิสูจน์ต่อสังคม ตอนนี้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น เริ่มยอมรับในความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องเดินต่อ ส่วนจะเดินต่ออย่างไรเป็นสิ่งที่ต้องเดินควบคู่กับความระวังให้มากที่สุด ก็คือการพูดถึงเรื่องพื้นที่เฉพาะทางวัฒนธรรมนั้น อาจมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการแช่แข็งเพื่อที่จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบปลอมปลอม เราต้องเชื่อมสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้ของชุมชน ของพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การสามารถทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนได้มากขึ้น และทั้งหมดนี้จะเป็นตัวพิสูจน์“ ศ.อรรถจักร์ กล่าว
เพราะฉะนั้นในช่วงของการทำงานเพื่อที่จะเดินหน้า แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีผลออกมาที่ไม่ 100% แต่ก็เป็นโอกาสที่เราจะเดินต่อไปในการเชื่อมต่อกับทุกมิติ ในการชนวสังคมโดยรวมแน่นอนว่าในพื้นที่ที่ถูกเลือกสรรค์ให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรม จำเป็นต้องทำงานหนัก ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องในแต่ละพื้นที่ แต่เพื่อพี่น้องชาติพันธุ์โดยรวม
“สำหรับตนเองนั้นคิดว่า อย่าไปหวังความจริงใจจากพรรคการเมืองอย่างเดียว ซึ่งไม่คิดว่าพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีความจริงใจอย่างที่เราคาดหวัง จะต้องมีการเดินหน้าต่อโดยเป็นการแสดงออกให้เห็นชัดเจน เพื่อบอกว่า ถ้าคุณไม่เดินหน้า หรือพรรคการเมืองไหนไม่แก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่รับข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจะมีปัญหากับคุณ เราจะมีมาตรการต่าง ๆ กับคุณ ภาคประชาชน ร่วมกันกดดันพรรคการเมืองทั้งหลายโดยมาตรการทางการเมืองโดยการบอกย้ำว่าสิ่งนี้ทำไปเพื่ออะไรมีคุณค่าอะไร ถ้าคุณไม่เอาเราก็จะบอกกับสังคมว่าพรรคการเมืองนี้ไม่มีค่าที่จะอยู่ในสังคมไทย เพราะว่าสามารถที่จะทำได้แค่นี้เอง ทั้งยังไม่เข้าใจความหลากหลาย เราคงจะต้องทำงานกับสังคมมากขึ้นเพื่อให้สังคมโดยรวมช่วยกดดันพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง” ศ.อรรถจักร์ กล่าว
ศ. อรรถจักร์ ยังกล่าวฝากทิ้งท้าย โดยเห็นว่าสังคมไทย ควรที่จะเปิดตาให้กว้างมากขึ้น กับการเรียนรู้ที่กว้างมากขึ้น ที่จะมองเห็นคนที่มีความเท่าเทียม มีความเสมอภาค ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนเปราะบาง ที่ถูกมองต่ำ หรือ กลุ่มที่ถูกมองสูง แต่มันเป็นประโยชน์ของคนในสังคมและเป็นประโยชน์ให้กับชนชั้นกลางและสังคมด้วย
“ย้ำอีกทีไม่มีสังคมไหนที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ถ้าหากมันมีความเหลื่อมล้ำ อคติทางชนชั้นแทรกอยู่ ดังนั้นชนชั้นกลางในสังคมไทยควรจะเป็นพลังหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีงาม เพื่อชนชั้นกลางเอง เพื่อลูกหลานของคุณเอง เพื่อคนในสังคมโดยรวมด้วย”
ศ.อรรถจักร์ กล่าว