The Visual Talk “ข้อมูล” หัวใจสำคัญการสื่อสารยุคใหม่ แนะตั้งรับทุกภาคส่วน

เวทีเสวนา The Visual Talk ของไทยพีบีเอส ร่วมหาทางตั้งรับการสื่อสารโลกยุคใหม่ เชื่อ ‘ข้อมูลคือกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสังคม’ ทั้งในด้านธุรกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนการพัฒนานโยบายให้ตรงจุดและประหยัดงบประมาณ

15 พ.ย. 2567 ไทยพีบีเอส หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา The Visual Talk ภายใต้แนวคิด ‘Data is All Around’ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูล (Data) พร้อมส่งเสริมการนำข้อมูลมาใช้ขับเคลื่อนสังคมและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ซับซ้อนและเข้าใจยากได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

รศ. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอสยังคงยึดพันธกิจเดิม คือการสื่อสารเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถูกต้อง เป็นธรรม เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือและการใช้สื่อสารให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน เช่น การเทคโนโลยีอินเทอร์แอคทีฟ (Interactive) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้และแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนโยบายและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐตามหลักการของ Data Journalism จึงนำไปสู่การจัดเวทีเสวนาในวันนี้

คนไทยราว 4 ใน 5 ติดตาม ‘อินฟลูเอนเซอร์’
สู่กลยุทธ์การตลาดยุคใหม่

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดมุมมองถึงแนวโน้มข้อมูลและบทบาทของ “คีย์เวิร์ด” ในการกำหนดทิศทางสังคม พร้อมเผยถึงความท้าทายใหม่ที่ธุรกิจและสังคมต้องเตรียมรับมือในปี 2025 โดยชี้ว่า คนไทยกว่า 4 ใน 5 ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ และมีพฤติกรรมคล้อยตามการแนะนำของบุคคลดัง ส่งผลต่อกลยุทธ์ทางการตลาดในปีหน้า แพลตฟอร์ม อย่าง Tiktok จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนบริบทการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเชิงพาณิชย์​ แต่การสื่อสารวาระทางสังคมก็ต้องปรับตัวตามด้วยเช่นกัน

กล้า ระบุว่า ปีที่ผ่านมาเราเห็นบทบาทของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกขับเคลื่อนผ่านคีย์เวิร์ดบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นกระแสนิยม หรือเหตุการณ์สำคัญ เช่น การเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์, การส่งแรงใจเชียร์การแข่งขันโอลิมปิก หรือกระแสไลฟ์สไตล์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น หมีเนย หรือหมูเด้ง เป็นต้น เหล่านี้เป็นความท้าทายสำคัญในปี 2024 อยู่ที่การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในฐานะช่องทางหลักที่ดึงดูดทั้งแบรนด์และผู้บริโภค

พลังของคีย์เวิร์ดซึ่งกลายเป็นตัวกำหนดการรับรู้และการสื่อสารในยุคดิจิทัล มีผลกระทบเชิงบวกและลบต่อธุรกิจและผู้บริโภคอย่างมหาศาล โดยเราเห็นข้อมูลชัดเจนว่าคีย์เวิร์ดสามารถสร้างหรือทำลายแบรนด์ได้ ธุรกิจจึงควรลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจและจับกระแสได้อย่างรวดเร็ว กล้า แนะแนววิธีการปรับตัวให้ทันในยุคของข้อมูลคร่าว ๆ 3 ข้อ ดังนี้

  1. วิเคราะห์ผู้บริโภคเชิงลึก: การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบนแพลตฟอร์มใหม่ เช่น TikTok มีนัยสำคัญที่ธุรกิจต้องใส่ใจ โดยเฉพาะการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย
  2. อินฟลูเอนเซอร์ยังทรงพลัง: การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ขนาดเล็ก (Micro-Influencers) เพื่อสื่อสารเฉพาะกลุ่มยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญ
  3. แบรนด์ต้องตอบสนองทันที: สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็วโลกของข้อมูลมีพลวัตที่รวดเร็วและซับซ้อน ธุรกิจที่สามารถจับเทรนด์ได้ก่อนและปรับตัวได้ไว จะเป็นผู้ชนะในยุคที่คีย์เวิร์ดคืออาวุธทรงพลังในการกำหนดทิศทางของสังคม

ปฏิรูประบบราชการไทย สร้างแพลตฟอร์ม ‘ตลาดกลาง’
อาจประหยัดงบจากการจัดซื้อจัดจ้างได้ถึง 2 แสนล้านบาท

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยชูแนวคิด ‘สามเสาหลัก’ ได้แก่ เสาประสิทธิภาพ เสาความโปร่งใส และเสาความเป็นประชาธิปไตย เป็นหัวใจสำคัญในการใช้ข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างรัฐกับประชาชน

  • ประสิทธิภาพ: เพิ่มความรวดเร็ว ลดภาระขั้นตอน

ณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างวิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ภาครัฐมีปัญหาด้านการประสานงานระหว่างทีมช่วยเหลือและระบบข้อมูลที่ล่าช้า เช่น การระบุพิกัดบ้านผู้ประสบภัยที่ยังคงพึ่งคำบอกเล่าและแผนที่แบบดั้งเดิม ส่งผลให้การช่วยเหลือทางอากาศล่าช้าและไม่แม่นยำ นอกจากนี้ กระบวนการจ่ายเงินชดเชยยังคงใช้วิธีการแบบ Manual ที่ต้องมีเอกสารยืนยันหลายขั้นตอน

เขาเสนอให้รัฐบาลเร่งพัฒนาระบบ Geo-Coding Address Master Data ซึ่งสามารถบูรณาการกับฐานข้อมูลทะเบียนบ้าน พร้อมกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อให้เกิดการจ่ายเงินชดเชยแบบอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันของรัฐ เช่น แจ้งเตือนพื้นที่ประสบภัยและเปิดให้ประชาชนยื่นขอรับสิทธิโดยตรง ณัฐพงษ์ ย้ำว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ มีการเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้จริง

  • ความโปร่งใส: เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ลดการทุจริต

ณัฐพงษ์ กล่าวถึงตัวอย่างระบบจัดซื้อจัดจ้างในประเทศเกาหลีใต้ (Korea ON-line E-Procurement System หรือ KONEPS) ที่ใช้ระบบ “ตลาดกลางออนไลน์” คล้ายแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง เช่น Shopee หรือ Lazada สำหรับรายการสินค้าและบริการทั่วไป เช่น โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลทั้งหมดเปิดเผยต่อสาธารณะ ช่วยลดความซับซ้อนและป้องกันการทุจริตจากการล็อกสเปคสินค้า ภาครัฐสามารถจัดซื้อครุภัณฑ์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างโปร่งใส พร้อมชี้ว่าจะเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการใช้งบประมาณรัฐ

“ในเกาหลีใต้ 64% ของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้ระบบนี้ ถ้าประเทศไทยนำแนวคิดนี้มาใช้ เราอาจประหยัดงบประมาณได้ถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี”

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
  • ความเป็นประชาธิปไตย: ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจนโยบาย

ณัฐพงษ์ เน้นย้ำว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจ ถือเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐ พวกเขาก็ไม่อยากมีส่วนร่วม และนี่คือปัญหาหลักที่ต้องแก้ไข ที่ผ่านมามีสถิติพบว่า มีร่างกฎหมายของทางฝ่ายค้านที่ผ่านการพิจารณาของสภาเพียงฉบับเดียว คือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเหตุที่กฎหมายนี้ผ่าน เพราะนี่เป็นฉันทามติจากสังคม ดังนั้น รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาส่งเสียง แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายและนโยบายได้มากขึ้น

เขายังเสนอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสควบคู่กับการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เช่น การเสนอความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ และทิ้งท้ายว่า ข้อมูลไม่ใช่เพียงเครื่องมือ แต่คือกุญแจสำคัญที่สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศนี้ให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจอย่างแท้จริง

แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยพลังข้อมูล
กทม. ลดงบฯ จัดการขยะได้ถึง 141 ล้านบาท

อาทิตยา บุญยรัตน์ หนึ่งในทีมสื่อสารนโยบายกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพูดในหัวข้อ Empowering Connections with Data: สื่อสารข้อมูลผ่าน Visual เพื่อกลุ่มคนหลากหลาย โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของข้อมูล (data) ในการผลักดันนโยบายเมืองที่โปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชน และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะในกรุงเทพฯ โครงการต่าง ๆ เช่น Bangkok Green และ BK Food Bank เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ข้อมูลสามารถนำไปสู่การสร้างเมืองที่ยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

อาทิตยา เปิดเผยว่า การบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายถึง 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการลดปริมาณขยะไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการกำจัด แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ กทม. ได้ผลักดันโครงการ “ไม่เทรวม” โดยส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (BSF) และผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชผักและผลไม้ในตลาดสด ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะได้มากถึง 141 ล้านบาทในปี 2566 ต้องขอบคุณหน่วยงานต้นทางที่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ​ ได้

อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญคือ การจัดการขยะในช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นวันที่มีปริมาณขยะสูงกว่าปกติ ในปีที่ผ่านมา (2565) มีการเก็บกระทงจากแม่น้ำและคูคลองในกรุงเทพฯ มากถึง 639,000 ใบ โดย 94.7% ของกระทงทั้งหมดทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น ใบตองและต้นกล้วย แสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนเกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลในวันเดียวนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนากลไกการจัดการขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

“ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน”

อาทิตยา บุญยรัตน์

การเสวนา The Visual Talk ภายใต้แนวคิด “Data is All Around” สะท้อนบทบาทสำคัญของข้อมูลในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย การปรับตัวของธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์และคีย์เวิร์ด หรือการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนนโยบายรัฐเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่าข้อมูลคือกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

สามารถติตตามเนื้อหาอื่น ๆ ของวงเสวนาและผลงาน Data Visualization ของไทยพีบีเอสได้ ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active