‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ แนะลูกค้าร้านบุฟเฟต์ชื่อดัง แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักฐาน หากยังไม่สามารถติดต่อเจ้าของร้านได้และส่อฉ้อโกง มูลนิธิฯ พร้อมช่วยประสานงานรวบรวมข้อมูลฟ้องแพ่งได้
จากกรณีที่ร้านอาหารบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง ขายบัตรรับประทานอาหารราคาโปรโมชัน หรือเวาเชอร์(voucher) ให้ลูกค้า แล้วพบว่ามีการปิดเพจเฟซบุ๊ก และปิดร้านสาขา ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อบัตรเวาเชอร์เป็นกังวล เพราะไม่สามารถติดต่อกับร้านอาหารได้ ขณะที่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ (Buffet Lovers) ยังมีการกล่าวถึงปัญหาเบื้องหลัง จากผู้ที่ระบุว่าเป็นผู้จัดการร้าน พนักงาน และผู้ลงทุนในลักษณะธุรกิจแฟรนไชส์ ว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการขายโปรโมชัน และไม่สามารถติดต่อเจ้าของบริษัทได้เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้ต้องปิดร้านกะทันหัน แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการประกาศหรือการแจ้งรายละเอียดจากทางบริษัทอย่างเป็นทางการ
The Active สอบถามไปยัง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงกรณีดังกล่าว โดยมีข้อเสนอว่า ผู้บริโภคหรือลูกค้าที่ได้ซื้อบัตรรับประทานอาหาร จะต้องพิจารณาจากพฤติกรรมและเจตนาของร้านค้า ว่าเข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ หากยังคงติดต่อทางร้านได้ ก็ให้ดูการตอบรับถึงแนวทางการแก้ปัญหา เยียวยา แต่หากไม่สามารถติดต่อหรือหาแนวทางการรับผิดชอบ ผู้บริโภคสามารถที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อดำเนินคดีทางอาญา ในเหตุหลอกให้เสียทรัพย์ต่อไป
“แจ้งความได้ ให้ดูเจตนาของร้านค้า หากปิดติดต่อไม่ได้ ก็เข้าข่ายเรื่องการโกง ถ้าปิดร้านเลย และไม่ได้มีการแสดงความรับผิดชอบ ผู้บริโภคต้องแจ้งความดำเนินคดี ถ้าไม่สามารถติดต่อหาแนวทางรับผิดชอบได้ ให้ดูว่าเข้าข่ายอะไร ฉ้อโกงประชาชนไหม ร้านค้าออกมายอมรับอะไรไหม”
ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สามารถรวบรวมข้อร้องเรียน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการแจ้งความคดีทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้ แต่หากเป็นคดีอาญา การฟ้องตรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสะดวกมากกว่า เพราะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่ต้องการร้องเรียนต่อมูลนิธิฯ สามารถแจ้งได้ผ่านทาง เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ล่าสุด ผู้ซื้อบัตรเวาเชอร์รับประทานอาหารร้านนี้ ได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊ก รวบรวมผู้เสียหายเพื่อดำเนินคดี โดยมีผู้เข้ากลุ่มมากกว่าหนึ่งหมื่นคนแล้ว โดยแอดมินกลุ่ม แนะนำให้ผู้เสียหาย เร่งแจ้งสถาบันการเงิน เพื่อระงับรายการชำระค่าเวาเชอร์ร้านดังกล่าว เบื้องต้น คาดว่า อาจมีการซื้อขายเวาเชอร์ดังกล่าวมากกว่า 2 แสนใบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท และยังมีรายงานว่า บริษัทแห่งนี้ ค้างชำระค่าวัตถุดิบปลาแซลมอนอีกว่า 30 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนแฟรนไชส์พร้อมผู้ลงทุนกว่า 10 ราย ได้ดำเนินคดีต่อนายเมธา ชลิงสุข ประธานกรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด แลัวเช่นกัน คาดว่าจะมีผู้เสียหายจากการลงทุนแฟรนไชส์ รวม 20 สาขา คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อบัตรเวาเชอร์รับประทานอาหาร ของร้าน โดยขอให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้อง ร้องเรียนมาที่ สคบ. หรือ ผ่านทางเว็บไซต์ OCPB complaint ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค หรือสายด่วน 1166 ในวันเวลาราชการ
มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้อาจคล้ายกับคดีฉ้อโกงของร้าน “แหลมเกต” อาหารซีฟู้ด ในปี 2562 ที่พบว่ามีการขายโปรโมชันให้ลูกค้าในราคาที่ถูกเกินจริง แต่ร้านค้าประกาศยกเลิกและงดให้บริการภายหลัง เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบให้เพียงพอได้ ทำให้มีผู้เสียหาย 350 ราย รวมมูลค่ากว่า 2,200,000 ล้านบาท นำไปสู่การฟ้องคดีอาญาโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ฉ้อโกงประชาชน มีผลให้ศาลพิพากษาเจ้าของบริษัท โทษจำคุก 1,446 ปี ถูกปรับ 3,615,000 บาท