หวั่นขัดกระบวนการสันติภาพ หลังผู้สื่อข่าวภาคสนาม WARTANI ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ด้าน รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ ข้อมูลพบผู้ที่ถูกควบคุมตัวอาศัยอยู่ในบ้านเช่าหลังเดียวกับผู้ต้องสงสัยก่อเหตุระเบิด จ.ยะลา หากสอบสวนแล้วไม่พบความเกี่ยวข้อง พร้อมปล่อยตัว
เพจสำนักสื่อ WARTANI ซึ่งติดตามประเด็นข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด ผ่านเครือข่ายประชาชนในฐานะนักข่าวภาคสนามออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ว่า ช่วงเวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่เข้ารวบตัวชายสองคนที่หอพัก แถวมลายูบางกอก ยะลา คือ อัฟฟาน เจะดิง มีอาชีพขายบอนด่าง อีกหนึ่งคือ ซาการียา ขอเดร์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามของสำนักสื่อ WARTANI
โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้ง 2 คนไปที่ สภ.เมืองยะลา เพื่อซักประวัติเเละบันทึกการควบคุมตัว พร้อมตรวจโควิด-19 และหลังจากนั้น ได้แจ้งกับญาติทั้ง 2 คนว่าจะนำตัวไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายวังพญา 41 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา
สำหรับซาการียา ขอเดร์ มีภูมิลำเนาใน ต.ม่วงเตี้ย อ.เเม่ลาน จ.ปัตตานี จบการศึกษาระดับ ป.ตรี สาขาการบริหารจัดการ สถาบัน Jamiah islam syeihk daud al-fathoni (JISDA) และได้ผ่านการอบรมนักสื่อสารระดับรากหญ้า (WARTANI GRASSROOTS MEDIA) รุ่นที่ 4 ปี 2562 และได้ทำงานเป็นนักข่าวภาคสนาม สำนักสื่อ WARTANI มาแล้วประมาณ 2 ปี
สำนักสื่อ WARTANI ระบุว่า การควบคุมตัวนักสื่อสารเพื่อสันติภาพ ในพื้นที่ความขัดเเย้ง ทำให้การสื่อสารหรือการสร้างพื้นที่กลางในการเเสดงออก เกิดความไม่ต่อเนื่อง เพราะผู้ที่ทำงานสื่อในพื้นที่เช่นนี้ เปรียบเสมือนพื้นที่กลางเพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพในปาตานี
การกระทำหรือการควบคุมตัวนักสื่อสาร เป็นการพยายามปิดพื้นที่กลางเเละควบคุมไม่ให้ความจริงได้ปรากฏ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ จึงขอเรียกร้อง ให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัวนักข่าวภาคสนาม และขอแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวนักสื่อสารในพื้นที่ เพราะการสื่อสารความจริงคือสิ่งสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพ
The Active ตรวจสอบเรื่องนี้ไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ยืนยันว่า กอ.รมน.ไม่เคยควบคุมตัว หรือ จับใคร กรณีการแสดงออกทางความคิดเห็น แต่จากการตรวจสอบพบว่า การควบคุมตัวนายซาการียานั้น เพื่อตรวจสอบ เพราะการจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุระเบิดในพื้นที่จังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ให้การว่า ได้ขับรถไปส่งผู้ร่วมก่อเหตุที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านเช่าที่เช่าอยู่ร่วมกัน และมีนายซาการียารวมอยู่ในนั้นด้วย
เจ้าหน้าที่จึงบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงควบคุมตัวเพื่อมาสอบสวนภายใน 7 วัน หากตรวจสอบแล้วไม่พบว่า เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด ก็ปล่อยตัวไป โดยญาตสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ พร้อมมั่นใจว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบกับกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่ เพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ
สำนักสื่อ WARTANI เริ่มก่อตัวขึ้นหลังเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังสะท้อนเสียงจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีการอบรมการทำสื่อให้กับภาคประชาชน สร้างนักข่าวภาคสนาม ไปพร้อมกับการสร้างแหล่งข่าวซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน