‘สหภาพฯ รถไฟ’ ขอสังเกตการณ์ใน กมธ.วิสามัญฯ ห่วงเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ‘นักวิจัย’ ชี้กฎหมายยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยได้ แต่รัฐควรกำหนดราคาและการแข่งขันที่เป็นธรรม
หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ในวาระที่ 1 และได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .… เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย มองว่าในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายดังกล่าว ยื่นหนังสือร้องขอต่อ ศุภชัย ใจสมุทร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 เพื่อขอเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และให้ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ด้วย
เมื่อยังมีข้อกังวลต่อกฎหมายที่ออกมาเพื่อจัดตั้ง ‘กรมการขนส่งทางราง’ ให้เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลเรื่องระบบรางในภาพรวม The Active พูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและนักวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว
สหภาพฯ รถไฟ มองอำนาจกรมรางฯ เกินกว่าคำว่า ‘กำกับดูแล’
สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสหภาพฯ ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ที่ให้อำนาจหน้าที่กรมการขนส่งทางรางเกินกว่าที่กำกับดูแล และอาจเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้ประกอบกิจการ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามาแสวงหาผลโประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐหรือไม่
“ถ้ากฎหมายนี้ออกมา เท่ากับว่ากฎหมายฉบับเดิมใช้ไม่ได้แล้ว เช่น เรื่องของที่ดิน การที่จะให้เอกชนรายอื่นเข้ามาเดินรถ ก็ต้องได้รับการยินยอมจากการรถไฟฯ ก่อน แต่กฎหมายฉบับนี้กลับให้ไปอยู่ในอำนาจของกรมการขนส่งทางราง เท่ากับว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการ กรมการขนส่งทางรางจะมาทำหน้าที่แทน ซึ่งมันเกินกว่าการทำหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง เป็นผู้กำหนดมาตรฐานเป็นผู้ดูแลเรื่องของมาตรฐานการเดินรถ”
สราวุธ กล่าวต่อว่า กฎหมายฉบับนี้ก็กำหนดไว้ว่าเมื่อผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการได้ ต้องให้กรมการขนส่งให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาดำเนินการแทน เมื่อพูดในมุมมองของคนรถไฟ ปัจจุบันมีปัญหา เรื่องกำลังคน ที่ขาดอัตรากำลังตามมติ ครม. ที่บังคับว่าเกษียณไป 100 รับได้แค่ 5 ในขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างรถจักร รถพ่วง ก็ต้องรอมติ ครม. เห็นชอบ รอสภาพัฒน์ดำเนินการอนุมัติด้วย จึงเกิดคำถามว่า เมื่อเอกชนมีความพร้อมสามารถซื้อรถมาได้ ก็ได้สิทธิในการบริหารจัดการเลยใช่หรือไม่
“เหมือนเป็นกรณีที่บังคับให้การรถไฟฯ ที่ไม่มีคน ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ ก็ไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางรางเห็นชอบได้ ก็ต้องให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแทน ก็จะกลายเป็นว่าเอื้อให้เอกชนเข้ามาแทนการรถไฟฯ ต่อไปในอนาคตก็จะเหมือน ขสมก. เหมือน บขส. เมื่อไม่มีคน ไม่มีรถ ในเส้นทางตัวเองก็ต้องให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน สุดท้ายประชาชนก็ได้รับผลกระทบ”
สราวุธ กล่าวถึงประเด็นสำคัญ คือ การดำเนินกิจการของการรถไฟเป็นลักษณะของรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ได้เพิ่มราคาค่าดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรณีที่ภาวะน้ำมันแพง ผู้ประกอบการเอกชนต่างเรียกร้องขอปรับเพิ่มราคา แต่การรถไฟฯ ยังยืนยันมาโดยตลอดว่า เราไม่ขึ้นราคาที่ให้บริการกับประชาชน แต่ในอนาคตเมื่อเอกชนเข้ามาแทนแล้ว อาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
‘นักวิจัย’ ชี้ กฎหมายช่วยยกระดับความปลอดภัยได้ แนะรัฐคุมราคาเอกชน
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI มองว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับบี้จะช่วยยกระดับการขนส่งทางรางให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางรางอย่างเป็นระบบ ส่วนข้อกังวลว่าการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนนั้น เห็นว่ารัฐว่าควรเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในบางเส้นทางที่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคา การให้บริการที่มีคุณภาพ และการแข่งขันที่เป็นธรรม
“ผมคิดว่าใน พ.ร.บ. ก็ได้มีแนวทางในการยกระดับการพัฒนารวมถึงการกำกับดูแลที่ดีในอนาคต ได้ดีกว่าผ่านระบบกฎหมายการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นในข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย แต่กำหนดว่า การกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยต้องทำอย่างไร ซึ่งในปัจจุบันเราไม่มีมาตรฐานการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของรถไฟอย่างเป็นระบบ”
สุเมธ ยกตัวอย่างว่า การที่มี พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย จะมีพนักงานการรถไฟฯ ที่มีการกำหนดตำแหน่งเพื่อลำดับ เช่น เป็นพนักงานขับรถไฟ หรือพนักงานช่างเครื่อง เกิดคำถามว่า ใครที่ไม่ได้เป็นพนักงานการรถไฟฯ จะเป็นพนักงานขับรถได้ไหม ซึ่งคำตอบในปัจจุบัน คือ ไม่ได้ เพราะว่า ไม่ได้มีการสอบ เหมือนการสอบใบขับขี่ ซึ่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง จะยกระดับเรื่องเหล่านี้
นอกจากนั้น นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวถึงในส่วนของการให้บริการนั้น คือ การเอารถมาวิ่งบนรางรถไฟที่รัฐลงทุน ก็สามารถเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมมือให้บริการได้ด้วย ในกรณีที่การรถไฟฯ อาจจะมีข้อจำกัด หรืออาจจะบริการได้แค่บางส่วน จึงมองว่า พ.ร.บ. นี้ควรเปิดโอกาสให้มีการดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปกับทางคู่ที่ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต
“จริง ๆ จะใช้คำว่าเอื้อประโยชน์ คือ เราเห็นภาพว่าในปัจจุบันมีเอกชนเข้ามาดำเนินการในการให้บริการสาธารณะหลาย ๆ ส่วน ซึ่งการให้บริการนั้น ประชาชนต้องได้ประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขในการแข่งขันที่เป็นธรรม การกำหนดราคาที่เป็นธรรม ผมว่าเรื่องข้อกังวลว่าเอื้อประโยชน์ให้ทุน คำถามคือว่า ถ้าเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปมากมาย แต่ว่าเราไม่เคยใช้งานมันอย่างสมประโยชน์ เหมือนกับเราบอกว่าเราสร้างสนามบินขึ้นมา แต่บอกว่าเดี๋ยวเราต้องให้เครื่องบินของรัฐบิลอย่างเดียว ไม่ให้เครื่องบินเอกชนมาลง มันดูจะตลกเกินไป”
จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ในชั้น กมธ.วิสามัญ จะมีมาตราใดที่เปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมบ้าง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สอง ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจต้องคำนึงถึงผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวทุกกลุ่ม เพื่อให้บริการสาธารณะ และโครงสร้างพ้นฐานทางรางสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง