เวทีสมัชชาเด็กฯ 2565 ระดมความเห็นพร้อมร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เตรียมยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ปัญหาเพื่อเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างกลไลแก้ไขปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาประจำปี 2565 เด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ในเทศกาลเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล “สานพลังคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมสิทธิ์ชนเผ่าพื้นเมือง”
โดยมีการระดมความคิดเห็นถึงบทเรียน อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ใน 4 ประเด็น 14 ข้อ ดังนี้
- ประเด็นด้านอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ภาษา/วัฒนธรรม เสนอให้เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นในระบบการศึกษา จัดให้มีกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ ภาษา ประเพณีวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยทางความคิดและการใช้ชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชน จัดให้มีหลักสูตรภาษาพื้นบ้าน/ภาษาแม่
- ประเด็นด้านโอกาสและการมีส่วนร่วม ได้แก่ ให้เปิดการมีส่วนร่วมในกลไกทางการเมือง เปิดโอกาสพัฒนาการเข้าถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงกับการต่อยอดศักยภาพทางชุมชน
- ประเด็นสิทธิที่ดิน บรรพบุรุษ/การจัดการทรัพยกร/ที่อยู่อาศัย คือ ให้แก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ให้หยุดดำเนินคดีกับแกนนำเยาวชน/ชุมชน
- ประเด็นสถานะ สัญชาติ/คนไร้รัฐ พลัดถิ่น ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาเพื่อเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างกลไลแก้ไขปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติที่สร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ จัดให้มีกองทุนช่วยเหลือเพื่อการศึกษาของเด็กที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะ ส่งเสริมนโยบายกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ สภาชนเผ่าพื้นเมือง และเปิดพื้นที่ในกระบวนการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่าง ๆ
สุรชาติ สมณา ตัวแทนเด็กและเยาวชน ชนเผ่า ปกาเกอะญอ ในฐานะประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) กล่าวว่า เครือข่ายขับเคลื่อนในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วม การพัฒนาศักยภาพ การศึกษา สถานะบุคคล แต่ประเด็นที่เป็นความเดือดร้อนมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่อง สถานะบุคคล เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่ไร้สัญชาติจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การรักษาพยาบาล รวมถึงสมาชิกผู้นำในครอบครัวของเด็กเอง มักได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ไม่ให้ค่าตอบแทนตามกฎหมายแรงงานไทย มีการกดราคาค่าจ้าง เมื่อศักยภาพในการหารายได้ของผู้นำครอบครัวน้อยลง มีผลต่อความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนโดยตรง
“แม้มีความพยายามในการขอสัญาชาติไทยแต่ก็พบว่า เวลาไปยื่นเรื่องก็มีกรณีการคิดเงินค่าดำเนินงาน ทั้งที่จริงแล้วไม่ต้องจ่ายเงิน มันเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้เยอะมาก และในช่วงที่มีสงครามในประเทศเมียนมาก็ทำให้มีผู้อพยพเข้าชายแดนไทยจำนวนมาก รวมถึงเด็กเยาวชนด้วย ตอนนี้เราก็พยายามที่จะทำข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป”
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์สมัชชาเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองไทย จะมีการร่างรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำไปยื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบและหาวิธีการดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน และแก้ปัญหา เพื่อไม่ทิ้งเด็ก (ชาติพันธุ์พื้นเมือง) ไทย เอาไว้ข้างหลัง