แกนนำ ชี้ รัฐบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงมากขึ้น แนะชำระประวัติศาสตร์ ชวนถอดรื้อมายาคติเชิงลบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทำลายป่า ภัยต่อความมั่นคง ค้าอาวุธยาเสพติด และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจต่อประเทศ
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ชาติพันธุ์ปลดแอก” ประกาศจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ในวันที่ 9 ส.ค. 2565 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ โดยกิจกรรมดังกล่าว มีทั้งการแสดง Performance Art การเสวนาโดยผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาในแต่ละประเด็น รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ชาติพันธุ์ปลดแอก โดยประกาศว่า การผลักดันกฎหมายและนโยบายชาติพันธุ์อาจเป็นฐานขั้นแรก แต่จากการถูกกระทำมากว่า 5 ทศวรรษ กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอกต้องการมากกว่านโยบาย แต่หมายถึงความรับผิดชอบของทุกคน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ลิขิต พิมานพนา แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของพี่น้องชาติพันธุ์ คือการถูกมองเป็นอื่นในสังคม โดยเฉพาะรัฐที่มองชาติพันธุ์เป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาต่อสังคม เช่น ทำลายป่า ภัยต่อความมั่นคง ค้าอาวุธ ยาเสพติดและเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เอื้อหรือสร้างเศรษฐกิจต่อประเทศ ต้องมีการควบคุม จัดการและอนุญาตให้อยู่ในขอบเขตที่รัฐกำหนดเท่านั้นผ่านการออกนโยบายหรือกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐที่มาจากการยึดอำนาจ จะมีการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงมากขึ้น
เขา กล่าวอีกว่า ชาติพันธุ์ถูกกระทำและกดทับหลายระดับผ่านอคติชาติพันธุ์มายาวนาน ถูกสร้างชุดคิดหรืออุดมการณ์ในสังคมให้รู้สึกไม่มีอำนาจ และไม่ถูกอนุญาตให้เกิดชุดคิดในการสร้างอำนาจออกแบบสังคมและชีวิตที่ดีของตนเองถูกทำให้จำยอมผ่านการสร้างภาพมายาคติในการเชื่อ ศรัทธา และทำให้ต้องยอมรับที่จะถูกช่วยเหลือหรือสงเคราะห์จากผู้ปกครองและอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบบอำนาจแบบนั้น
ดังนั้นกระบวนการต่อสู่ของชาติพันธุ์ที่ผ่านมา จึงออกมาในรูปแบบการเจรจาหรือร้องขอให้มีการช่วยเหลือ กระบวนการต่อสู้แบบนี้ยังเป็นการสนับสนุนและรักษาอำนาจของผู้มีอำนาจเหนือรัฐให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย จึงจำเป็นต้องมีการปลดแอกปัญหาและชุดคิดอุดมการณ์ชาติพันธุ์ และสร้างใหม่
ลิขิต ย้ำว่า วันชนเผ่าพื้นเมืองสากล เป็นวันที่สากลให้การยอมรับในการในการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง และเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอันจะก่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม สิทธิ และปราศจากการเลือกปฏิบัติดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในการแสดงออกให้สังคมไทยและรัฐไทยให้การยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในไทย
“สังคมที่คนเท่ากัน คนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและใช้ชีวิตภายใต้สังคมประชาธิปไตย มีระบบสนับสนุนที่ดี มีสภาพแวดล้อมและพื้นที่กลาง ที่เอื้อและสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี”