ภาคประชาชนหวัง ส.ส. เร่งผ่านโดยไม่ตั้ง กมธ. ร่วม ห่วงไม่ทันอายุสภาฯ นักกฎหมาย มองแม้หลายเรื่องถูกตัด แต่สอดคล้องอนุสัญญาแล้ว
หลังร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา ให้แก้ไขเพิ่มเติมในบางเรื่องแล้ว ล่าสุดได้มีการบรรจุวาระดังกล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ ในเรื่องด่วนที่ 9 ท่ามกลางความคาดหวังจากภาคประชาชน ที่อยากให้ ส.ส. เห็นชอบตามร่างฯ แก้ไขของ ส.ว. โดยมองว่าหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่ไม่อาจตอบได้ว่าจะเกิดการยุบสภาเมื่อใด เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ไวที่สุด
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับ The Active ว่า ร่างกฎหมายนี้ถือได้ว่ามีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสูงกว่ากฎหมายอื่น ๆ แล้ว โดยครอบคลุมความผิดใหม่ทั้ง 3 ฐาน ในกฎหมายฉบับเดียว ทั้ง การกระทำทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย และการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งสมาชิกเห็นสอดคล้องกันทั้ง 2 สภา เป็นความเห็นที่ “ตรงกัน” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนเวลาที่ไม่แน่นอนในอนาคต ว่าจะเกิดการยุบสภาเมื่อใด หรือจะมีเหตุในทางการเมืองอื่นใดหรือไม่ จึงอยากให้กฎหมายนี้ผ่านให้เร็วที่สุด
“ถ้ายังไม่มีกฎหมายออกมา เราก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม ถ้าหากพ่อ แม่ พี่น้องของเราถูกซ้อม แล้วไปร้องเรียนที่ตำรวจ เขาก็จะถามหาหลักฐานต่อไป ซึ่งเราก็ไม่มี หรือกรณีหายไป ก็หายไปเลย ไม่สามารถที่จะร้องเรียนได้ ไม่ถูกริเริ่มการสืบสวนในทางอาญาได้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยทำได้ ตำรวจ พนักงานอัยการ ฝ่ายปกครอง เป็นกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำมีความพร้อม และควรมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านกฎหมายนี้”
พรเพ็ญ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้หลายคดีที่ยัง “ล่องลอย” อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น การหายไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ลี้ภัยทางการเมือง และหายตัวไปที่ประเทศกัมพูชา จนปัจจุบันนี้ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่การสืบสวนอย่างเป็นทางการของไทยยังไม่เริ่มขึ้น เนื่องจาก “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” ไม่เป็นความผิดทางอาญา เมื่อผู้เสียหายไปร้องเรียนกับพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ก็จะหาพยายามหา “หลักฐาน” ว่ามีใครมาทำร้ายจริงหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริง นี้ คือ “เขาหายไป” จึงทำให้ไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐาน การสืบสวนสอบสวนอย่างคดีอาญาจึงไม่เกิดขึ้น ไม่มีการตั้งคณะทำงานมาตามหาแต่อย่างใด
ถ้ามีกลไกอย่างกฎหมายนี้ออกมา ทางผู้เสียหายสามารถไปร้องเรียนได้หลายหน่วยงานมากขึ้น ร้องเรียนด้วยข้อหา “การกระทำให้บุคคลสูยหาย” ไม่ใช่แค่ “คนหาย” แม้คดีนี้จะเกิดในฝั่งกัมพูชา ประเทศไทยก็สามารถริเริ่มการสืบสวนอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ณ ปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ แต่เป็นข้ออ้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยเหตุผลต่าง ๆ แม้ขณะนี้คดีของวันเฉลิมจะมีคณะกรรมการขององค์การสหประชาชติ รับไว้พิจารณาอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในฐานะที่พลเมืองของตนเองหายไป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ เพื่อสืบหาความจริงด้วยตนเอง
‘นักกฎหมาย’ ชี้ร่างฯ สอดคล้องกับอนุญญาแล้ว แม้หลายประเด็นถูกตัดไป
รศ.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านการแก้ไขในชั้นวุฒิสภา โดยภาพรวมถือว่า “สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ” ทั้งการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ความผิดเหล่านี้ เป็น “ความผิดร้ายแรง” และไม่สามารถทำได้แม้ว่าสถานการณ์ใด ๆ และการกำหนดโทษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด มีอัตราโทษที่เหมาะสมตามอนุสัญญแล้วด้วย แม้จะมีบางประเด็นที่ถูกตัดออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
รศ.ปกป้อง กล่าวถึงเรื่อง “อายุความ” ในการดำเนินคดีตามร่างกฎหมายดังกล่าวว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศเรียกร้องให้มีการกำหนดอายุความ “ยาวเพียงพอ” ที่จะสะท้อนความรุนแรงของการกระทำผิดฐานอุ้มหายได้ ซึ่งในร่างฯ ของ ส.ส. ได้กำหนดอายุความอย่างยาวไว้ถึง 40 ปี แต่ร่างของ ส.ว. กลับตัดเหลือเพียง 20 ปี ซึ่งมองว่าน้อยเกินไป แต่อย่างไรก็ตามหลักการให้พิจารณาว่าเป็น “ความผิดต่อเนื่อง” ยังคงมีอยู่ นั่นหมายถึงความผิดตามกฎหมายนี้จะยังไม่เริ่มนับอายุความ จนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้เสียหาย
“ไทยในฐานะรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และเป็นประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการอุ้มหาย ถูกจับตาจากสังคมโลกว่า เมื่อไหร่เราจะมีกฎหมายเสียที องค์กรสิทธิมนุษยชนก็ติดตามการประกาศกฎหมายฉบับนี้มา หากวันนี้กฎหมายยังไม่บังคับใช้ จะส่งผลอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย…”
รศ.ปกป้อง ยังกล่าวถึงผลที่จะเกิดกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีการ “บันทึกการจับกุม คุมขัง ด้วยกล้องวิดีโอ” ถือเป็นนวัตกรรมทางกฎหมาย ที่ส่งผลดีทั้งต่อประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คือ คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เพราะจากงานวิจัยพบว่าการติดกล้องบันทึกการทำงาน ช่วยลดการกระทำทรมานได้มากกว่า 90% และไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานลำบากมากขึ้น หากทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ไปทรมาน และบังคับบุคลให้สูญหาย ในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือ ให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำการโดยสุจริต มีหลักฐานในการพิสูจน์ตัวเองอีกด้วย
ในขณะที่ ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องก้นและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. เปิดเผยว่า วุฒิสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จแล้ว และส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา คณะกรรมาธิการ ฯ ได้ปรึกษาหารือกันนอกรอบพบว่า ส.ว. ได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเล็กน้อย ไม่กระทบสาระสำคัญ โดยยังคงหลักการสำคัญที่อนุวัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประทศ จากนี้ไป กรรมาธิการวิสามัญฯ ที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะไปทำความเข้าใจกับที่ประชุมพรรคของตนเอง รวมทั้งประสานกับวิปแต่ละพรรคการเมืองเพื่อขอเลื่อนระเบียบวาระให้ขึ้นมาพิจารณาก่อนโดยรวดเร็วที่สุด