ทบทวน 10 ปี พ.ร.บ.การชุมนุม ใช้คุ้มครองหรือกดปราบผู้ชุมนุม

เครือข่ายด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ชวนทบทวน 10 ปี พ.ร.บ.การชุมนุม ชี้มีช่องโหว่หลายข้อ ตั้งข้อสังเกต ควรยกเลิกหรือไม่ ด้านผู้ได้รับผลกระทบจี้เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้ชุมนุม ไม่ใช่กดปราบ 

วันนี้ (12 พ.ค. 2568) ที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการจัดวงเสวนาสาธารณะ “พ.ร.บ. ชุมนุม: กับดักเสรีภาพการแสดงออก” โดย Human Rights Lawyers Association – สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน l ครช. 

เนื่องจากครบรอบ10 ปี การใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จึงอยากชวนประชาชนได้ทบทวนข้อมูล ข้อถกเถียง และร่วมกันติดตามสถานการณ์คดีอันเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 

ในเวทีเสวนา มีการตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายแง่มุมโดยอาศัยกฎหมายที่ออกโดย คสช.และสภาตรายางของ คสช.อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเครื่องมือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุม) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม จนถึงปัจจุบัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบปราม จำกัดเสรีภาพและประชาชนยังคงได้รับผลกระทบในแง่ที่ไม่สามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่และถูกดำเนินคดีมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเด็น “ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ: อดีตถึงปัจจุบัน“  บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน iLaw บอกกับ The Active ว่าที่ผ่านมา พ.ร.บ.การชุมนุมมีช่องโหว่อยู่หลายข้อ คือ

1.) ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ อย่างการประกาศห้ามชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล 50 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ไปร้องต่อศาลแพ่งได้ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมไม่ทราบและเสียโอกาสในการต่อสู่ด้วยตัวเอง และแม้ศาลจะตัดสินออกมาในเชิงบวกหรือชุมนุมต่อได้ แต่ก็ยังเกิดการใช้ประกาศซ้ำ ๆ และในตัวกฎหมายไม่ได้มีวรรคไหนที่บอกว่าในการไต่สวนของศาลจะต้องมีทั้งสองฝ่ายมา ศาลก็ไต่สวนฝ่ายเดียว ซึ่งนี่คือช่องว่างของกฎหมาย

2.) แม้จะมีการประกาศ ทั้งห้ามชุมนุมในรัศมีเท่าไหร่ แต่ทางตำรวจก็ไม่ได้มีการติดป้ายประกาศอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมไม่ทราบข้อประกาศ มีแต่การบอกปากเปล่าเท่านั้น และอาจทำให้ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีและถูกปรับ

3.) ปัญหาการแจ้งการชุมนุม หลายคนบอกว่าไม่อยากแจ้งแล้ว เพราะต้องเจอกับภาระในการรับผิด บางทีคนแจ้งอาจจะไม่ต้องเป็นแกนนำในการดำเนินคดี แต่ก็ถูกดำเนินคดีด้วย 

“ปัญหาช่องว่างทางกฎหมาย แม้ พ.ร.บ.การชุมนุมจะมีไม่กี่มาตรา ผู้ชุมนุมต้องรับผิดเยอะมากแต่ถ้าเป็นตำรวจที่ไม่คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมตำรวจต้องรับผิดอะไรบ้าง อันนี้ก็ไม่มีบทกำหนดโทษ แค่อยากตั้งคำถามว่าแบบนี้มันแฟร์ไหม”

บุศรินทร์ บอกอีกว่า ตลอด 10 ปี ไม่เห็นว่าใช้กฎหมายในเชิงการคุ้มครอง แต่เป็นการใช้ในเชิงการกดปราบ ทั้งตามกฎหมายนี้หรือมาตรการนอกกฎหมายนี้ ทำอะไรก้ได้ให้ผู้ชุมนุมไม่พูดในสิ่งที่รัฐไม่ต้องการฟังหรือไม่ต้องแสดงออก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม

วงเสวนาที่ 2 ประเด็น “ประชาชนในกับดักเสรีภาพการแสดงออก” ซึ่งมีผู้เสียหายจากการถูกดำเนินคดีมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move บอกว่า สาเหตุที่ต้องชุมนุมเพราะประชาชนเดือดร้อนจากปัญหานโยบายของรัฐ จึงต้องออกมาเรียกร้องจากกระทรวงและรัฐบาล แต่จากการชุมนุมก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 

การที่ตนถูกดำเนินคดี 9 คดี ส่งผลกระทบต่อการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และคาดการณ์จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ร่วมจัดการชุมนุมและร่วมการชุมนนุม มองว่า พ.ร.บ.การชุมนุมเป็นอุปสรรคต่อประชาชน เพราะทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนลำบากขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อการชุมนุม

“ย้ำว่ารัฐต้องกลับมาดูว่า พ.ร.บ.การชุมนุมทำให้ประชาชนที่บริสุทธิ์มีคนโดนคดีแล้วกี่ราย ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนที่เขาเดือดร้อนเลย และควรที่จะยกเลิก พ.ร.บ.นี้”

ด้าน กัญญ์วรา หมื่นแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งทำงานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ บอกว่า เนื่องจากศูนย์กลางการตัดสินใจอยู่ที่เมืองหลวง แต่ที่ต้องมาเพราะการดำเนินการที่ท้องถิ่นไม่มีความคืบหน้า มีการคุกคามในพื้นที่ เป็นปัญหาเรื้อรัง มีการเข้าไปยึดที่ชาวบ้าน จำเป็นต้องมาชุมนุมเพื่อสื่อสารไปที่ผู้มีอำนาจได้โดยตรง 

ส่วนตัวถูกดำเนินคดีมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุม (พีมูฟ) ในวันที่ 1 เม.ย. อีกรูปแบบคือมีความผิดฐานชุมนุมบริเวณ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล จึงเกิดความสงสัยว่าการร่วมกันชุมนุมนั้นเพียงพอในการถูกดำเนินคดีจริงหรือไม่ มีการถูกดำเนินคดีหลายคน นอกจากนี้ยังเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารายงานตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถอธิบายได้ว่าผู้ร่วมชุมนุมมีความผิดอย่างไร อาจเป็นเพราะตัวกฎหมายที่ทำให้เกิดการตีความได้กว้าง

“มันสะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมก็จะโดนดำเนินคดีใช่ไหม ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงในการออกมาชุมนุม”

ไม่ได้รู้สึกว่าได้รับการคุ้มครอง หรือความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ชุมนุม ภาพที่ออกมากลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม เช่น การแจ้งชุมนุม แต่กลับถูกปิดถนนไม่ให้เข้า

กฎหมายการชุมนุมของไทยฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องมีการตรวจสอบว่ามีช่องโหว่ตรงไหน ควรถามความเห็นจากประชาชนด้วย

สุนทร บุญยอด ตัวแทนอดีตพนักงานยานภัณฑ์ พูดถึงสาเหตุของการต้องไปปักหลักชุมนุมของแรงงานยานภัณฑ์ว่า พวกเขาถูกเลิกจ้างแล้วไม่ได้รับค่าชดเชย มีการเรียกให้นำเงินส่วนกลางจากรัฐมาเยียวยาแรงงาน และนำเรื่องเข้าสู่ ครม.แต่หลังจากชุมนุมมาหลายเดือนก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

“พ.ร.บ.ของสหภาพแรงงาน ปี 2518 มีการกำหนดเรื่องการชุมนุมอยู่แล้ว ว่าต้องมีขั้นตอนการแจ้งอะไรบ้าง มองว่ามีความซับซ้อบกับ พ.ร.บ.การชุมนุม ซึ่งโยงกับเรื่องของแรงงานไปโยงกับการเมือง จึงควรยกเลิกพ.ร.บ.การชุมนุนนี้ ที่มีการบังคับใช้ที่เหมือนเป็นการปิดปากผู้ชุมนุม”

ถ้าจะเป็นการแก้ไขต้องกำหนดให้ชัดว่าขั้นต่ำต้องชุมนุมกันกี่คน ต้องมีการแยกแยะว่าเป็นการชุมนุมข้อเสนออะไร ของกลุ่มอาชีพใด และในกรณีที่มีคำสั่งจากตำรวจให้ยกเลิกการแจ้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมให้ไปฟ้องกับศาลปกครองไม่ใช่ศาลแพ่ง

ส่วนวงเสวนาสุดท้ายในประเด็น “ข้อเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ชุมนุม” อัมรินทร์ สายจันทร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม  (EnLAW) เสนอว่า หากจะแก้หรือออกกฎหมายใหม่ ในเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงควรจะตัดเรื่องนี้หรือระเบียบที่ไม่เกี่ยวข้องออก และกำหนดการใช้ข้อกฎหมายให้รัดกุม ส่วนการห้ามเข้ามาชุมนุมใกล้กับทำเนียบรัฐบาลเกิน 50 เมตร ควรกำหนดให้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนใกล้ชิดกับรัฐบาลมากที่สุดเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นศูนย์กลางของการเรียกร้อง และทำอย่างไรให้ตำรวจไม่กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุม

จากสภาพปัญหาจากการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุดต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนหรือหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพให้น้อยที่สุด

ด้าน เฝาซี ล่าเต๊ะ Amnesty International Thailand ย้ำว่าการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนที่สามารถทำได้ การมีกฎหมายการชุมนุมเป็นเรื่องทั่วไปที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมี เจ้าหน้าที่รัฐควรสร้าวสมดุลให้การชุมนุมนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ แม้จะมีหรือไม่มี พ.ร.บ.การชุมนุมก็ตาม นอกจากนี้ผู้สังเกตการชุมนุมและสื่อมวลชนต้องได้รับการคุ้มครองด้วย แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่กำหนดไว้ ถ้าจะแก้เพิ่มเติมต้องให้นิยามสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ไว้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือเรื่องของเด็กและเยาวชน เพราะเด็กก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหมือนผู้ใหญ่ ควรแบ่งแยกการคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่รัฐต้องอบรมและเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเจ้าหน้ายังไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กเท่าที่ควร ต้องเพิ่มการทบทวนเรื่องสิทธิเด็ก และมีคู่มือการปฏิบัติต่อเด็กโดยเฉพาะ

การใช้กฎหมายซับซ้อนกันระหว่าง พ.ร.บ.การชุมนุมกับการออก พระราชกำหนดฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีเหตุผล เช่น เรื่องของการอยู่รอดของรัฐ ถ้ายกเลิกแล้วมาใช้ พระราชกำหนดฉุกเฉิน อย่างในการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งรัฐมองว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ รวมถึงมีการใช้อาวุธ รวมถึงมีการเขียนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบจึงทำให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

อัมรินทร์ ทิ้งท้ายว่าเนื่องจากหลาย ๆ ผลกระทบ และปัญหาของผู้ชุมนุม มีการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะเหมือนเป็นการจำกัดเรื่องการชุมนุม ดังนั้น การแก้จึงเป็นเรื่องยาก สุดท้ายอาจจะไม่เป็นการคุ้มครองเสรีภาพที่แท้จริง และอาจนำไปสู่การการยกเลิกและสร้างฉบับใหม่

ภายในงานมีนิทรรศการขนาดเล็ก นำเสนอข้อมูลและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการชุมนุม โดย iLaw และวัตถุพยานเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ชุมนุม โดย พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active