ภาคประชาชนจับตาเวทีรับฟังฯครั้งแรก กำหนดพื้นที่อุทยานฯ ออบขาน จ.เชียงใหม่

หวั่นสร้างความชอบธรรม เมินเสียงส่วนน้อยผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เตรียมจัดเวทีคู่ขนานสร้างความเข้าใจ ก่อนร่วมเวทีภาครัฐ ขณะนายอำเภอสะเมิงยืนยัน ยังไม่ใช่เวทีชี้ขาด 

วันนี้ (13 ต.ค.2565) สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวถึงกรณีที่สำนักบริหารพื้นที่ 16 เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 17-22 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นการจัดเวทีครั้งแรก หลังมีประกาศกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขช่องกฎหมายอุทยานเดิม ที่ระบุไว้ว่า แนวทางการประกาศอุทยานต้องไม่ขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน มีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบคัดค้านกันมาเกิน 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกระบวนการรับฟังความเห็นแบบนี้ จึงคาราคาซังมา เลยกลายเป็นว่าเมื่อมีความขัดแย้งอยู่ ก็นำไปสู่การประกาศไม่ได้  ดังนั้นพอมีกฎหมายฉบับใหม่ จึงใส่กลไกนี้เข้าไป 

ซึ่งดูเหมือนดูดี ที่จะมีการรับฟังความเห็นของราษฎร ประชาชน ชุมชนที่เกี่ยวข้อง คือไม่ใช่แค่พื้นที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่จะประกาศเท่านั้น  ต้องรวมชุมชน ประชาชนที่อยู่ในอำเภอ จังหวัดนั้นๆด้วย คือรับฟังวงกว้างมากขึ้นและคำนิยามผู้มีส่วนได้เสีย ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ก็ขยายจำนวนกว้างขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าระดับของการมีส่วนได้เสียไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเหตุผลในการยอมรับ หรือเห็นด้วยในการประกาศอุทยาน จึงมีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่ ที่เข้าไปร่วมรับฟังความเห็น ซึ่งเป็นคนที่อาจไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงจากการประกาศ เขาอาจจะมีการแสดงความเห็นกันไปในมิติที่ว่า เมื่อรัฐอยากอนุรักษณ์ธรรมชาติ ดูแลรักษาป่าก็ดีอยู่แล้ว และต้องทำอยู่แล้วสุดท้ายก็จะมีข้อสรุปออกไปในทำนองนั้น 

“ อาจจะเป็นไปได้ที่จะใช้เวทีนี้สร้างความชอบธรรม ก็คืออาจจะไม่ใช่หรือไม่มีการทำประชามติ แต่อาจจะถามในเวทีว่าพี่น้องคิดยังไง ซึ่งหากคนที่มาร่วมส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วย ในเชิงเหตุผลอยากให้มีอุทยานในการรักษาป่า คือจะมีเหตุผลซ่อนอยู่ในการแสดงความเห็นแน่ๆในวันนั้น ถามว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเอาความเห็นไปใช้ประกอบความชอบธรรมในการประกาศอุทยาน ก็มีความเป็นไปได้ ที่เขาจะเอาไปประกอบในการที่จะให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเอาไปประกอบ ว่าเหมาะสมที่จะมีการให้ประกาศ คืออาจจะมีราษฎรบางส่วนเดือดร้อน แต่เห็นว่าทรัพยากรมีความสำคัญโน่นนี่นั่น ก็จะกลายเป็น เหตุผลไปประกอบการตัดสินใจ ไปประกอบเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ อันนี้เป็นไปได้ “ 

สุมิตรชัย หัตถสาร  ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
สุมิตรชัย หัตถสาร  ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

สุมิตรชัย กล่าวต่อว่า จึงต้องจับตาการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้  ซึ่งจริงๆตามหลักการเหตุผลความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่ควรจะเป็น คือคน หรือชุมชนที่เขาเดือดร้อนที่สุด รัฐควรจะต้องให้น้ำหนักในการรับฟังมากที่สุด ว่าถ้าประกาศขึ้นมา พวกเขาจะมีผลกระทบอะไร แล้วคุณมีมาตรการอะไรที่ช่วยเยียวยา หรือมีมาตรการอะไรมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องตอบ หากยืนยันว่าถ้าจำเป็นต้องประกาศจริงๆ 

“เหตุผลในการประกาศทับพื้นที่ป่าชุมชนของพี่ 4 หมู่บ้านใน อ.สะเมิง ที่เขาเป็นพื้นที่ใช้ทรัพยากรในการจัดการ ทั้ง เลี้ยงสัตว์ เข้าไปเก็บหน่อ เก็บเห็ดต่างๆ ทำเกษตร พื้นที่จิตวิญญานหรือพื้นที่ในวิถีวัฒนธรรมคำถามผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคต รัฐจะทำยังไง รัฐจะเยียวยายังไง หากบอกว่ามีความจำเป็นต้องประกาศจริงๆ  แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าหากต้องประกาศอุทยานจริงๆ แล้วทำไมไม่กันพื้นที่ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบออก “ 

สุมิตรชัย หัตถสาร  ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตุและคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้น ของความต้องการเพิ่มจำนวนพื้นที่รัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการเข้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยให้ครบ40% หรือไม่ 

โดยในวันที่ 16 -17 ตุลาคมนี้ สหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ ( สกน.) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย จะลงพื้นที่อำเภอสะเมิง เพื่อให้ข้อมูลชาวบ้าน ทั้งในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และพื้นที่โดยรอบ ก่อนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นของภาครัฐ ที่ที่ว่าการอำเภอสะเมิง ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ 

ก่อนหน้านี้ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ได้ออกมายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการคัดค้านกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานจะทับที่ชุมชนกว่า 24,000 ไร่ ทับป่าชุมชน ที่ทำกินของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มายาวนาน เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่จิตวิญญาน พื้นที่เก็บหาของป่าตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตและการทำเกษตรของชุมชน รวมถึงความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่จะมากขึ้น ไปจนถึงการที่ชาวบ้านเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในการบุกรุกป่าในอนาคต 

ด้าน ณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง ได้มารับหนังสือจากชาวบ้าน และกล่าวว่า ทางอำเภอขอรับเรื่องไว้และจะประสานงานไปยังอุทยานแห่งชาติออบขาน ขอดูรายละเอียดในหนังสือก่อนแล้วจะส่งต่อไปยังหน่วยงาน ซึ่งตนเป็นประธานในที่ประชุม แต่อำนาจหน้าที่นั้นอยู่ที่อุทยานแห่งชาติออบขาน ส่วนชาวบ้านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ย้ำว่าเป็นการประชุม ไม่ใช่การชี้ขาด ต้องว่าไปตามขั้นตอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active