ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจา ให้ผู้บริโภคเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่เสียค่าบริการเพิ่ม ในฐานะเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท ต้องต่อรองได้มากกว่านี้ ไม่ให้สังคมตั้งข้อสังเกตเอื้อกลุ่มทุน
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะกรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค และเป็นอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “สถานีประชาชน” ถึงบทบาทของ กสทช. ต่อการรักษาสิทธิผู้บริโภคให้เข้าถึงการรับชมฟุตบอลโลก 2022 อย่างเท่าเทียม และไม่มีภาระเพิ่มเติม ภายหลังเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งได้รับสิทธิการถ่ายทอดสดจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีเงื่อนไข และข้อกำหนดที่อาจทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคสูงขึ้น
“กสทช. ติดกระดุมผิดเม็ดมาตั้งแต่แรก และกำลังจะทำผิดซ้ำซากหรือไม่ ทำผิดครั้งแรก คือ การออกกฎ Must have เมื่อ 8 ปีที่แล้ว อันเป็นที่มาของปัญหา ตอนนี้ กสทช. ชุดใหม่ กำลังจะทำผิดอีกครั้งหลังให้เงิน 600 ล้านบาท แต่ไม่มีเงื่อนไขเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค…”
สุภิญญา กล่าวว่า เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นเงินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของแม้แต่ กสทช. แต่ต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นสิทธิโดยตรงของประชาชน โดยมีการเก็บมาจากค่าธรรมเนียมของดิจิทัลทีวี การที่ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีทั้งหลายเข้ามาเรียกร้องจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะเขาเองมีสิทธิส่งเสียงได้ ในฐานะผู้เล่นหนึ่งในอุตสาหกรรมทีวี และในอีกแง่หนึ่ง คือ เป็นผู้บริโภคที่สามารถส่งเสียงได้ด้วย
“เราคาดหวังว่า กสทช. ชุดนี้ เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่ควรทำผิดซ้ำอีก แต่ก็ทำผิดเรื่องแรก คือ นำเงินจากกองทุน กทปส. 600 ล้าน ไปซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ท่ามกลางเสียงคัดค้านนานัปการของสังคมว่าเป็นการ “ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์” และตอนนี้กำลังทำผิดซ้ำซากเพิ่ม คือ ให้เงินไปแล้ว ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรี เป็นธรรมในอุตสาหกรรมทีวี หรือแม้แต่การจะคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม” สุภิญญากล่าว
“กสทช. คุณจะเอาหูเอานาเอาตาไปไร่ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนแบบนี้ไม่ได้ แล้วปล่อยให้ กกท. กับบริษัทเอกชนไปตัดสินกันเองอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นแบบที่เป็นข่าว คุณจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อเอกชนบางรายหรือไม่ เพราะตอนนี้มันเห็นชัดมากเกินไป และจะไม่ดีต่อ กสทช. ในระยะยาว จะทำให้วงการสื่อทีวีแตกแยกกันเองโดยไม่จำเป็น…”
สุภิญญา กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วเงินที่สนับสนุนผ่านกองทุนฯ เป็นเงินมากกว่าครึ่งของค่าลิขสิทธิ์ ถ้าไม่มีเงิน 600 ล้านนี้ แน่นอนว่าจะไม่ได้สิทธิในการถ่ายทอดฟุตบอลโลก กสทช. จำเป็นต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แน่นอนว่าอาจจะไม่ครบทุกนัด แต่อย่างน้อยผู้บริโภคต้องไม่จ่ายเงินเพิ่ม เพราะจะย้อนแย้งต่อความตั้งใจในการออกกฎ Must have ที่ กสทช. ออกแบบมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คือ ไม่ให้เอกชนสร้างเงื่อนไขในการขายบริการในกีฬาทั้ง 7 ประเภทนี้ คือ “ต้องดูผ่านฟรีทีวี” และมีกฎ Must carry ที่กำหนดว่าถ้าออกที่ไหน ต้องดูได้ทุกแพลตฟอร์มด้วย นี่เป็นที่มาของการออกกฎนี้ แต่ตอนนี้นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานั้นแล้ว ยังมาสร้างเงื่อนไขมากมายให้คนเข้าดูได้ยาก เป็นเงื่อนไขที่รับไม่ได้ ผิดแน่นอน ถ้าเป็นเงินของเอกชน 100% มันอีกเรื่องหนึ่ง
ครั้งที่ กสทช. อนุมัติเงิน 600 ล้าน อ้างว่าใช้ไปตาม ม.52 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ส่งเสริมให้คนเข้าถึงโทรทัศน์อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง รวมถึงคนด้อยโอกาส และคนพิการต้องเข้าถึงได้ด้วย แต่ตอนนี้แม้แต่คนทั่วไปยังดูยากเลย แล้วแบบนี้จะตรงกับเจตนารมณ์ได้อย่างไร
“กสทช. ห้ามเงียบ ตอนนี้เงียบเกินไป ต้องลุกออกมาให้คำตอบกับสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมย่อมสงสัยว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายเป็นพิเศษหรือไม่ นี่เป็นธรรมาภิบาลใหญ่ของ กสทช. ที่ผ่านมาถูกฟ้องจากดิจิทัลทีวี ในเรื่องประสิทธิภาพการบริหาร แต่นี่ใหญ่กว่านั้น เพราะ เป็นเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะเกิดวิกฤติศรัทธา และเกิดความระส่ำระส่ายในอุตสาหกรรมทีวีระยะยาวด้วย…”
ทางออกในระยะยาวนั้น กสทช. ชุดนี้ต้องแก้ไขกฎ must have ให้ชัดเจน แต่ตอนนี้ต้องแก้ปัญหาเรื่องเงื่อนไขการรับชมของประชาชนก่อน สิ่งที่จะต้องทำ คือ นั่งหัวโต๊ะ เชิญ กกท. ที่มาของเงินมาพูดคุย และก่อนจะให้เงินไป ต้องสร้างเงื่อนไข ส่งเสริมการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมต่อคนด้อยโอกาส ส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียม กสทช. ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่ควรปล่อยปัญหาไปแบบนี้ เพราะทุกอย่างจบได้ด้วยการเจรจา ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ในฐานะเจ้าของเงิน 600 ล้านต้องมีสิทธิต่อรองด้วย
นอกจากนั้นในมุมผู้บริโภค สุภิญญา ยืนยันว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคจะดูว่าภาระจะต้องไม่เพิ่มขึ้น ถ้าต้องไปหากล่องดู เสียค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่ม แบบนี้ไม่ใช่เงื่อนไขที่รับได้ นอกจากนั้นหากพูดให้ถึงที่สุด คือ ความคมชัดในการรับชมก็สำคัญ คุณภาพต้องดี ถ้าเอกชนพอใจแล้ว ผู้บริโภคพอใจหรือไม่ เราต้องขอดูต่อไป…
ทั้งนี้ ภายหลังสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ยื่นหนังสือต่อบอร์ด กสทช. เพื่อให้วินิจฉัยถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย จำนวน 64 แมตช์ ในทุกช่องฟรีทีวีและทุกแฟลตฟอร์ม เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดช่วงเย็นวานนี้ (22 พ.ย.) กลุ่มทรูเปิดเผยว่า พร้อมมอบสิทธิเปิดให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ออกอากาศการแข่งขัน 16 แมตช์ของฟุตบอลโลก 2022 คู่ขนานกับช่องทรูโฟร์ยูในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งรวมถึงแมตช์แรก เกมเปิดสนาม และแมตช์สุดท้ายคู่ชิงชนะเลิศที่จะเป็นการถ่ายทอดสดคู่ขนานกับ ช่อง T Sport 7 ขณะที่ลิขสิทธิ์การรับชมผ่านระบบออนไลน์ ยังคงต้องเป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎข้อบังคับที่ฟีฟ่ากำหนด
ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เผยว่า การถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์นั้น กสทช. ได้แจ้งกับ กกท. ว่า กฎ ‘Must have’ หรือหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี และ ‘Must carry’ หรือหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปของ กสทช. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นด้วย โดยเฉพาะกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีศักดิ์ใหญ่กว่ากฎของ กสทช. ดังนั้น เมื่อ กกท. ขายสิทธิให้กับทรูวิชั่นส์แล้ว กล่องอื่นไม่สามารถทำได้
ส่วนประเด็นที่ทรูวิชั่นส์ยื่นเรื่องถึง กสทช. เพื่อขออนุญาตถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นระบบ HD แทน SD นั้น รักษาการเลขา กสทช. ระบุว่า ส่วนตัวทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่เห็นเอกสาร ซึ่งเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ต้องรอมติที่ประชุมบอร์ด กสทช. พิจารณาอย่างละเอียด คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมในวันนี้