เครือข่ายด้านสาธารณสุข เร่งสร้างความเข้าใจทางสังคม หากตรวจไม่พบ ‘เชื้อไวรัลโหลด’ เท่ากับไม่ส่งต่อเชื้อเอชไอวีในทันที ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เหมือนกับคนทั่วไป ผลักดันการใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตัวเอง ให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจเร็ว รักษาไว ขอสังคมไม่ตีตรา หรือเลือกปฏิบัติ
วันนี้ (1 ธ.ค. 2565) สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและภาคี ร่วมเวทีประกาศเจตนารมณ์เรื่อง U=U: ระบบสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน ผู้ติดเชื้อต้องเท่าเทียมทุกคน เนื่องในวันเอดส์โลก เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี ในคอนเซ็ปต์ U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือตรวจไม่พบไวรัลโหลด = ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้ เพื่อลดการตีตราและอคติทางสังคมในการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี และเพศสภาพทุกรูปแบบ
พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ปัจจุบัน ระบบบริการของไทยมีความพร้อมในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพราะไม่ว่าจะใช้สิทธิประกันสังคม สปสช. ข้าราชการ สามารถที่จะเข้าถึงสิทธิการตรวจและการรักษาได้ภายในวันเดียวกัน ประตูแรกที่จะทำให้คนไปถึง U ที่ 1 ไม่ใช่เรื่องของการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ แต่เป็นความคิดเริ่มต้นที่จะตรวจหาเชื้อ ใครก็ตามที่เคยมีเซ็กส์ก็สามารถตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องรอมีอาการ
ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ทำให้คนจะมาตรวจเอชไอวีไม่ต้องกังวลอะไร ทำให้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ สบายใจเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปี หรือแม้แต่การใช้ชุดตรวจด้วยตัวเอง เมื่อตรวจแล้วพบเชื้อรักษาได้ทันทีก็ยิ่งจะทำให้ผู้รับบริการมั่นใจมากขึ้นว่า ได้รับการรักษาดูแล และเมื่อกินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง 3 เดือน 6 เดือน แล้วไม่เจอไวรัลโหลด หรือตรวจไม่เจอเชื้อในเลือด ก็เท่ากับว่าส่งต่อเชื้อให้ใครไม่ได้ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย มีอายุไขเท่ากับคนไม่มีเชื้อเอชไอวีแน่นอน
“ถ้าเรารู้ว่าเรามีเชื้อเอชไอวีแล้ว เป็นข่าวดีมากเพราะเราจะได้เจอสาเหตุแล้วนะว่าจะต้องรักษาเลยทันที ยาที่รักษาในตอนนี้ก็เป็นยาต้านไวรัสที่กินแค่วันละเม็ดเดียว กินง่ายมากผลข้างเคียงแทบไม่มี เมื่อกินไปแล้วจากเริ่มต้นเราจะมีเชื้อไวรัลโหลดสูง ภายใน 3-6 เดือนก็จะลดลงมาเหลือในระดับที่ตรวจไม่เจอ ในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมามีการคอนเฟิร์มผลการวิจัยว่าเมื่อไหร่ก็ตามเรากินยาต้านไวรัสแล้วไวรัลโหลดลดลงจนตรวจไม่เจอแล้ว เท่ากับว่าเราถ่ายทอดเชื้อให้ใครไม่ได้เลยในทันที กอด จูบ กินน้ำแก้วเดียวกัน กินข้าวร่วมกัน หรือแม้แต่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้เลย โอกาสเป็นศูนย์เลย”
พญ.นิตยา อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อ เมื่อไหร่ที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัลโหลดหรือ undetectable ก็มั่นใจได้เลยว่าเราไม่ใช่คนที่จะแพร่เชื้อให้ใครอีกต่อไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องแบกรับความรับผิดชอบ ในการที่จะใช้ชีวิตหรือระมัดระวังตัวว่าจะถ่ายทอดให้ใครเพราะถ่ายทอดเชื้อไม่ได้ คนรอบตัว คนในสังคม แต่ละคนจะมีบทบาทป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจจะมาจากคนที่ไม่รู้ว่ามีเชื้อหรือไม่ คนที่ไม่ได้ตรวจเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นต่อไปนี้ผู้ติดเชื้อจะสามารถใช้ชีวิตได้ มีศักดิ์ศรีในการมีคู่ได้ มีลูกได้ เลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้ถุงยางก็ได้ เพราะถุงยางไม่ได้ป้องกันเอชไอวีเป็นหลักแต่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้
อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิผู้ป่วยในการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งในปัจจุบันมียาและการรักษาที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนทั่วไป เรื่องนี้เพื่อนผู้ติดเชื้อต้องเข้าใจว่า ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลดน้อยลงเลย
“อยากจะพูดไปถึงโรงพยาบาล วันนี้บุคคลากรทางการแพทย์ ต้องออกมาพูดเรื่อง U=U อย่างมั่นใจ เพื่อให้คนมีทางเลือกมากขึ้นไม่ต้องลังเล การพูดข้อมูล ข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม อย่าคิดว่าการทำให้กลัวจะทำให้คนระวัง หลักคิดต้องเปลี่ยน การขู่ให้กลัวไม่ได้แก้ปัญหา แต่เราต้องทำให้เกิดความเข้าใจ หน่วยบริการสาธารณสุขต้องกล้าหาญพอที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะนี่คือความรู้ใหม่ ความเข้าใจใหม่ ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง หากเราสร้างการสื่อสารที่รอบได้ เราก็จะอยู่ร่วมกันได้”
นิมิตร เทียนอุดม ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) เป็นหนึ่งในตัวแทนกล่าวเจตนารมณ์ว่า เรามารวมกันในที่นี้เพื่อที่จะทำให้การตรวจหาไวรัสไม่เจอเท่ากับไม่แพร่เชื้อเป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทย สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีและคู่ คำว่าการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้ สำหรับพวกเขามันคือโอกาสในการใช้ชีวิต ที่ไม่ต้องกวาดระแวงกังวลว่าการอยู่รวมกับผู้อื่นเป็นอุปสรรค ทั้งการแสดงความรัก การร่วมรัก ไม่ใช่การทำร้ายคนที่เรารักอีกต่อไป มันจะช่วยทำให้การใช้ชีวิตร่วมกับคู่รักไม่ต่างจากคู่ที่ไม่มีเชื้อ การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีให้ใครไม่ได้ จึงเป็นการช่วยคงคุณค่าภายในตัวของผู้ติดเชื้อคนนั้น ช่วยลดการตีตราตนเองของผู้ติดเชื้อและคู่ ทำให้การวางแผนใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อและคู่มีความเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และคนทำงานด้านเอชไอวี คำว่าตรวจไม่พบไวรัส จะมีความหมายยิ่งขึ้น นับเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการทำกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อทำให้คนอยากตรวจหาเชื้อเอชไอวีมากขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันทำให้เกิดชุดตรวจเอชไอวีที่ตรวจด้วยตัวเองได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเข้ารักษาได้สะดวกมากขึ้น
“ผู้ติดเชื้อทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันกับคนอื่นในการมีงานทำ ในการได้เรียน และการอยู่ร่วมกันในสังคม และกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเอดส์จึงให้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง U=U มาเป็นมาตรการในการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ เราปักธงแล้วว่าจะต้องเป็นนโยบายของประเทศนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้เป็นนิมิตรหมายที่จะประกาศเจตนารมณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะใช้กลยุทธ์ U=U ยุติการระบาดของเอดส์ 1. ทำให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ อยากรู้สถานะของตัวเอง หากว่าติดเชื้อจะต้องได้รับยาโดยเร็ว 2. เราต้องให้ระบบบริการเกิด U=U คือการตรวจไม่เจอเชื้อ เท่ากับไม่แพร่เชื้อ และ 3. เราจะช่วยกันยุติการตีตราของผู้ติดเชื้อและเพศสภาพให้หมดไปโดยเร็ว”
จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส และประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ตอนนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมกำลังผลักดัน ร่างกฎหมายการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปที่พยายามจะคุ้มครอง สร้างมาตรฐานกลางที่รัฐ หรือหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องไม่เลือกปฏิบัติกับบุคคล ในข้อเท็จจริงเดียวกัน ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันในการเข้าไปบังคับใช้กับบุคคล ซึ่งเอชไอวีเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการดูแลคุ้มครองทางกฎหมายนี้ เครือข่ายพยายามผลักดันให้มีการบังคับใช้ ซึ่งคิดว่าเมื่อ U=U แล้ว เป็นที่ยุติในทางสุขภาพและวิทยาศาสตร์ในแง่ของนักกฎหมายก็ต้องยอมรับว่า เมื่อ U=U แล้วทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน คือ ไม่พบเชื้อ ไม่แพร่เชื้อ ทุกคนก็อยู่ในสถานะที่เท่าเทียม อยู่ร่วมกันได้ ไม่ควรถูกกีดกันในทุกรูปแบบ ทั้งการไม่รับเข้าเรียน ไม่รับเข้าทำงาน ไม่ให้เลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง หรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกให้หน่วยงาน เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อีกต่อไป ต้องมองเรื่องของศํกดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
“โดยหลักแล้ว การถูกเลือกปฏิบัติเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของความเสมอภาค ความเท่าเทียม ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติ มีประกาศของกระทรวง แนวทางการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ แต่ไม่ได้ออกกฎหมายลูกที่ชัดเจนว่าคุณห้ามบังคับตรวจเลือด ห้ามยุติการทำงานหากพบว่ามีเชื้อเอชไอวี กฎหมายตรงนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้านักกฎหมายที่เข้าใจ ว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด เมื่อ U=U ความเท่าเทียมย่อมมี ถ้าเรากลับไปมองเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว เราไม่สามารถละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของเขาได้เลย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือคนยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิด mind set ของตัวเองได้ ในเรื่องความสามารถในการตีความกฎหมาย อันนี้เป็นปัญหาอยู่”