วอนอย่าโทษเทศกาล ทำเสี่ยง HIV ชี้ชัด ‘พฤติกรรม – ระบบป้องกัน’ ที่ยังเข้าไม่ถึง น่าห่วงกว่า

SWING ย้ำ พฤติกรรมทางเพศโดยไม่ป้องกัน ไม่ได้รับยาป้องกันการติดเชื้อ โอกาสรับ หรือ ส่งเชื้อ HIV ย่อมมีอยู่แล้ว หนุน รัฐเร่งพัฒนาจุดบริการ – ขยายเวลาการเข้าถึง การตรวจ รับยาป้องกัน ให้ตอบโจทย์ประชาชน หลัง สธ. คาด ปี 2568 ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง

จากกรณี จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วงสงกรานต์ได้มีงานรื่นเริงปาร์ตี้ในสถานที่ต่าง ๆ ทำให้ประชาชนดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ผู้คนหลากหลายกลุ่มวัยไม่ว่าจะเป็นชายหญิง หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือไม่สวมถุงยางอนามัย ทำให้มีโอกาสการติดเชื้อ HIV ได้ง่าย โดยสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ติดเชื้อ HIV ยังไม่ทราบสถานะติดเชื้อของตนเองและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาทำให้คนเหล่านี้ถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอนต่อไป 

SWING ชี้การระบาด HIV ไม่เกี่ยวเทศกาลสงกรานต์

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีกระแสความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการระบาดของเชื้อ HIV ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยระบุว่า ปัญหาการติดเชื้อ HIV ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทศกาลใดเป็นพิเศษ แต่เกี่ยวข้องกับ “พฤติกรรม” ของแต่ละคนมากกว่า หากมีพฤติกรรมทางเพศโดยไม่ป้องกัน ไม่สวมถุงยางอนามัย หรือไม่ได้กินยาป้องกันการติดเชื้อ โอกาสรับหรือส่งเชื้อ HIV ก็ย่อมมีอยู่แล้ว 

ผู้อำนวยการ SWING ระบุด้วยว่า การโทษเทศกาลสงกรานต์ไม่ใช่ทางออก แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสคือ “ความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเอง” พร้อมทั้งชี้ว่า สัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นชัดเจนในระดับโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

พร้อมเน้นย้ำว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์เชิงนโยบาย โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่ความกลัว เพื่อให้ประชาชนร่วมมือกันป้องกันโรคได้อย่างยั่งยืน

“แคมเปญที่ให้ความรู้ประชาชนหายไปนานมาก เราต้องกลับมาเริ่มกันใหม่ และรัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องนี้ พร้อมจัดงบประมาณให้เพียงพอ รวมถึงจัดหาถุงยางอนามัยและยาป้องกันให้พร้อม”

สุรางค์ จันทร์แย้ม

สุรางค์ ยังบอกด้วยว่า ในอดีตประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา แต่ขณะนี้งบฯ ถูกระงับไปแล้ว รัฐจึงต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้

สำหรับสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นนั้น สุรางค์ เชื่อว่า มาจากการขาดข้อมูล ความรู้ และการตระหนักรู้ของประชาชน อีกทั้งจุดให้บริการตรวจและรับยาป้องกันยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและความหลากหลายในการเข้าถึง เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับการตรวจหาเชื้อ HIV อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งขณะนี้สามารถเข้าถึงชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเองได้ฟรีจาก สปสช. ซึ่งชุดตรวจคล้ายกับการตรวจโควิด เมื่อผลเปลี่ยนจึงค่อยไปยืนยันผลกับหน่วยบริการ และถ้าพบว่าติดเชื้อ ก็สามารถเริ่มกินยาได้ทันที ซึ่งจะช่วยกดปริมาณเชื้อในร่างกายและลดโอกาสในการแพร่เชื้อ

“แนวทางที่ SWING พยายามผลักดัน คือทำให้คนมีความรู้ เข้าใจ เข้าถึงการตรวจ และได้รับยาอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าตื่นตระหนก อย่าโทษเทศกาล แต่มาร่วมกันรับผิดชอบพฤติกรรมของเรา พร้อมผลักดันให้ระบบสนับสนุนและนโยบายของรัฐเดินหน้าไปพร้อมกัน”

สุรางค์ จันทร์แย้ม

คาด ปี 2568 ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ห่วง ‘ชายรักชาย’ เสี่ยงสูง

โดยปี 2568 กระทรวงสาธารณสุข คาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8,862 คน ซึ่งการติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายมากกว่า 60% มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวน 10,217 คน และมีผู้ติดเชื้อ HIV สะสมยังคงมีชีวิตอยู่จำนวน 568,565 คน 

ทั้งนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติจัดซื้อยาป้องกันโรค HIV ก่อนเสี่ยงและหลังจากเกิดความเสี่ยงให้กับประชาชนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่ได้รับความเสี่ยงจะต้องไปรับยา PEP Post-Exposure Prophylaxis เริ่มกินยาภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังมีความเสี่ยง และกินติดต่อกันนาน 28 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อสามารถรับยา PrEP Pre-Exposure Prophylaxis เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะมีรายละเอียดในเรื่องของวิธีการใช้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 689 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ HIV ประชาชนสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีการขยายความร่วมมือจัดบริการกับหน่วยบริการภาคประชาสังคม ได้แก่ Mplus เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, โคราช, CareMet เชียงใหม่, SWING ชลบุรี, RSAT อุบลราชธานี, สงขลา มากไปกว่านั้น ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ได้เจรจาตกลงที่จะขอซื้อยารักษาโรค HIV ชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์นาน มีทั่งรูปแบบฉีดและยากิน จาก บริษัท Mylan สำหรับยาต้าน HIV Lenacapavir ให้กับผู้ป่วย HIV เมื่อการดำเนินการผลิตที่ประเทศอินเดียแล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ป่วย HIVและเอดส์ ที่ดื้อยา และลดเวลาการที่จะต้องกินยาทุกวัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active