รัฐ – NGO ถกแก้ปัญหาระบบงบฯ เอชไอวี หลัง USAID ตัดทุนสนับสนุน 

IHRI ยื่น 3 ข้อเสนอ ปฏิรูประบบงบประมาณ – สถานะองค์กร – หนุนภาคประชาสังคมให้บริการสุขภาพอย่างยั่งยืน ขณะที่ SWING เคลียร์ชัด! รพ.บางละมุง ไม่ติดค้างหนี้ ย้ำ “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” พร้อมเดินหน้าระบบแยกจ่ายงบฯ ร่วมกับ สปสช. และกรมควบคุมโรค

ตามที่ The Active เสนอข่าว “เครือข่าย HIV จี้ สธ. เร่งคืน 30 ล้านค้างจ่าย 2 ปี หลังถูก USAID ตัดงบซ้ำ” ภาคประชาสังคมด้านเอชไอวีเผชิญวิกฤตซ้อน ทั้งถูกตัดงบฯ จาก USAID และโรงพยาบาลรัฐค้างชำระค่าบริการกว่า 30 ล้านบาท เข้ายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังได้รับผลกระทบการเข้าถึงบริการตรวจและยาป้องกัน พร้อมนัดหารือแก้ปัญหาร่วมกับอธิบดีกรมควบคุมโรคก่อนหน้านี้นั้น  

วันนี้ (17 เม.ย. 68) สุภาพร เพ็งโนนยาง ผู้จัดการด้านการพัฒนาศักยภาพและรณรงค์เชิงนโยบาย สถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าการหารือกับผู้บริหารกรมควบคุมโรค เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ในการผลักดันให้ภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงงบประมาณสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมเสนอ 3 ประเด็นหลัก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ประกอบด้วย

1. ขอเบิกจ่ายงบประมาณตรงจาก สปสช.

ขอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ภาคประชาสังคมที่ให้บริการสุขภาพ เช่น บริการเพร็พ (PrEP) สามารถเบิกจ่ายงบตรงได้โดยไม่ต้องผ่านหน่วยบริการทางการแพทย์แบบเดิม 

สุภาพร ระบุว่า ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมที่แม้ให้บริการด้านสุขภาพ แต่กลับไม่สามารถเบิกงบฯ ได้เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น สถานพยาบาล ตามนิยามของระบบสาธารณสุข

จึงอยากเห็นการจ่ายเงินแบบแยกส่วน คือ หากบริการใดดำเนินการโดยภาคประชาสังคม ก็ให้ สปสช. จ่ายตรงให้ภาคประชาสังคมได้เลย ไม่ต้องอ้อมผ่านโรงพยาบาล หรือคลินิก

เครือข่ายภาคประชาสังคมด้าน HIV หารือกับ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค (11 เม.ย. 68)

2. ให้ภาคประชาสังคมเป็นหน่วยบริการสุขภาพในระบบ

ประเด็นต่อมา คือการผลักดันให้ภาคประชาสังคมได้รับการรับรองเป็นประเภทหนึ่งของหน่วยบริการด้านสุขภาพ ภายในระบบสาธารณสุขไทย เพื่อเปิดทางให้สามารถเข้าถึงแหล่งงบประมาณในระยะยาว

“คนที่มารับบริการ HIV จากเรา ไม่ได้มีแค่ปัญหา HIV บางคนมีสุขภาพจิต มีปัญหาอื่น ๆ เราอยากให้เขาได้รับบริการครบวงจร แต่ตอนนี้เราทำไม่ได้เพราะสถานะเราไม่ใช่หน่วยบริการในระบบ”

สุภาพร เพ็งโนนยาง

สุภาพร ระบุด้วยว่า ข้อเสนอนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และต้องอาศัยคณะกรรมการระดับชาติอย่าง คช.ปอ. (คณะกรรมการเอกชาติด้านเอดส์) เป็นกลไกตั้งต้นเสนอเข้าสู่ระบบราชการ

3. เรียกร้องให้มีแหล่งทุนชัดเจน สนับสนุนภาคประชาสังคม

ประเด็นสุดท้ายคือข้อเรียกร้องให้รัฐจัดสรรงบประมาณจากภาษีอย่างเป็นทางการและต่อเนื่อง ไม่ขึ้นอยู่กับโอกาสหรือทุนต่างประเทศเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ภาคประชาสังคมทำงาน โดยต้องรอโอกาสจากต่างประเทศ ปีไหนมีทุนบ้างก็ทำได้ ปีไหนไม่มีทุนก็ต้องหยุด ทั้งที่งานบริการสุขภาพควรเป็นหน้าที่รัฐรองรับ

สุภาพร ยังบอกด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารกรมควบคุมโรค ฝ่ายรัฐรับฟังข้อเสนอและให้ความร่วมมือ พร้อมแนะนำแนวทาง เช่น การยื่นเรื่องให้ คช.ปอ. พิจารณาเพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยระบุว่าขั้นตอนต่อไปคือการจัดประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในเดือนมิถุนายน

“เราไม่สามารถรอแบบไม่มีความหวังได้ เพราะทุกวันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเริ่มตอนนี้ อาจจะได้เห็นผลในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้รู้สึกพอใจระดับหนึ่ง เพราะได้เห็นความพยายามจากทั้ง 2 ฝ่ายในการหาทางออก และเริ่มต้นพูดคุยกันบนโต๊ะอย่างเปิดใจ”

สุภาพร เพ็งโนนยาง

SWING เคลียร์ชัด! รพ.บางละมุง ไม่ได้ค้างหนี้

ขณะที่ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยว่า ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณระหว่างภาคประชาสังคม และโรงพยาบาล ซึ่งเคยสร้างความเข้าใจผิดว่าโรงพยาบาลบางละมุงติดค้างค่าบริการแก่ SWING นั้น ขณะนี้ได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันว่า “โรงพยาบาลบางละมุงไม่เป็นหนี้ SWING” แต่เป็นความคลาดเคลื่อนจากการไม่ได้บันทึกข้อมูลบริการเข้าระบบ

“เราเคยเข้าใจว่าโรงพยาบาลบางละมุงเป็นหนี้เรา เพราะเราจัดบริการให้แล้วไม่ได้รับเงิน แต่ความจริงคือโรงพยาบาลไม่ได้เคยบันทึก (คีย์) บริการของเราลงระบบ สปสช. ดังนั้นเงินก็ไม่ถูกส่งลงมา ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายให้เราได้ และเราเองก็ไม่สามารถคีย์เองได้ เพราะไม่มีรหัสผู้ให้บริการในระบบ”

สุรางค์ จันทร์แย้ม

สุรางค์ ยังย้ำว่า มูลนิธิ SWING ได้ให้บริการโดยไม่ได้รับเงินสนับสนุน และเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง ก็ได้ขอโทษที่เคยเข้าใจผิด พร้อมฝากให้สื่อช่วยชี้แจงว่าโรงพยาบาลไม่ได้ติดค้างเงินแต่อย่างใด และต่างฝ่ายก็ยังคงทำงานร่วมกันได้ดี 

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เข้าพบ ผอ.โรงพยาบาลบางละมุง

ส่วนกรณีที่เคยมีการเรียกร้องงบประมาณค้างจ่ายราว 30 ล้านบาทนั้น สุรางค์ บอกว่า ขณะนี้เข้าใจชัดแล้วว่าไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เพราะไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับโรงพยาบาล อีกทั้งไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายหรือนโยบายรองรับการจ่ายเงินผ่านงบฯ บำรุงโรงพยาบาล

เดินหน้าระบบแยกจ่าย 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SWING ได้หารือร่วมกับกรมควบคุมโรค และ สปสช. เพื่อจัดระบบใหม่ให้ แยกการจ่ายงบประมาณ อย่างชัดเจน คือ

  • บริการที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมให้จ่ายตรงจาก สปสช. สู่ภาคประชาสังคม

  • บริการที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลให้จ่ายตรงให้โรงพยาบาล

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือเสนอแนวทางแยกจ่ายไปยัง สปสช. ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2567 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ SWING อยากเรียกร้องให้มีการเร่งรัดเรื่องนี้ เพื่อป้องกันปัญหาเดิมไม่ให้เกิดซ้ำในปี 2568

“ตอนนี้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว และรัฐมนตรีก็ให้ไฟเขียวเดินหน้าแผนนี้ โดยจะมีการดำเนินการทันทีหลังเทศกาลสงกรานต์ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้”

สุรางค์ จันทร์แย้ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active