ส.ส.ชาติพันธุ์ ระบุ รัฐบาลต้องเร่งทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน พร้อมนิรโทษกรรมคดีที่ดิน ผลพวงนโยบายทวงคืนผืนป่า เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดินตาม ก.ม.อุทยานฯ
จากกรณีที่ มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อรายงานผลการพิจารณาศึกษา ผลกระทบของประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ จากการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 รวมทั้งมาตรการทวงคืนผืนป่าของภาครัฐ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565
The Active สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีดังกล่าว มานพ ยืนยันเห็นด้วยกับข้อมูลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำคัญ คือ ให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มีทั้งหมด 5 ฉบับ เสนอจากหลายฝ่าย แต่ร่างรัฐบาลที่ดำเนินการโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมนำเข้า ครม. แต่กลับไม่มีการบรรจุวาระการประชุม
ขณะร่างที่เสนอโดยประชาชน 2 ฉบับ แม้ฉบับแรกของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จะบรรจุวาระในสภาฯ แล้ว แต่ร่างที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ และร่างของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่ประธานรัฐสภาตีความเป็นกฎหมายการเงิน และส่งไปให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง กลับยังไม่มีความคืบหน้า จึงกลายเป็นคำถามสำคัญไปยังรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายปฏิรูป มาตรา 70
“รัฐบาลแถลงว่าจะทำนโยบายตรงนี้ บอกว่าจะดำเนินการ แต่ตอนนี้เป็นการยื้อเวลาหรือไม่ ไม่ทำตามสิ่งที่ตนแถลง ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อรายงานคณะกรรมาธิการฯ จึงต้องระบุให้ชัดว่าแต่ละร่างอยู่ในสถานะไหน และ กมธ. ต้องเขียนชัดเจนว่าให้รัฐบาลนำ 5 ร่างเข้าสู่การพิจารณาโดยเร็ว
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
มานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายกรัฐมตรีไม่ลงนามเรื่องนี้ ก็จะขัดเจตนารมณ์ของประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องจับตา ว่าตัดสินใจจะทำอย่างไรต่อกับรัฐบาลที่ยังไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
อีกประเด็นสำคัญที่เสนอ คือ เรื่องคดีที่ดิน ที่เป็นคดีแห้ง หรือ คดีที่ไม่พบผู้กระทำความผิด จำนวนคดีแห้งมีความสืบเนื่องกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ช่วงที่มีการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 และยังเกี่ยวเนื่องไปกับ พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 ในส่วนของการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้สิทธิในการแสดงตน เพื่อสำรวจการถือครองที่ดินที่ทำกินในเขตอุทยานฯ ภายใน 240 วัน
ทั้งนี้ ก่อนการประกาศ 240 วัน ปรากฏสถิติคดีแห้งเกิดขึ้นมาก่อน และช่วงที่มีการประกาศนโยบายให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสำรวจ 240 วัน ปรากฏว่ามีจำนวนคดีแห้งเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาคตะวันตก ตั้งแต่ จ.ตาก อุทัยธานี ถึงประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงภาคใต้ กรณีนี้เห็นว่ายังไม่มีอยู่ในรายงานการศึกษา โดยแปลงคดีแห้งเหล่านี้จะส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ 240 วัน ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ได้ ดังนั้น ประเด็นคดีแห้ง อยากให้มีรายละเอียดชัดเจนในเรื่องของนโยบายทวงคืนผืนป่าและผลสืบเนื่องต่อ พ.ร.บ.อุทยานฯ
“ขอเรียกร้องให้จำหน่าย หรือให้นิรโทษกรรมสิ่งเหล่านี้ ให้คนที่อยู่ในแปลงคดีเหล่านี้ได้กลับมาพิสูจน์ตนเองตามเงื่อนไข ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ก็คือคุณก็ผิด แต่ถ้าเข้าเงื่อนไข ประชาชนควรได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น“
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล