ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม ขยายกำหนดเวลา เฉพาะ 4 มาตรา อ้างกล้องไม่พอ องค์กรสิทธิฯ ชี้ ขัดรัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีอุปกรณ์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (14 ก.พ. 66) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ. 66)
สำหรับมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้
- มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
- มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
รัชดา กล่าวด้วยว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาบังคับใช้มาตรา 22 – 25 เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ
- การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
- การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้
องค์กรสิทธิฯ ชี้ พ.ร.ก. ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุผลฟังไม่ขึ้น
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับ The Active ว่า ไม่ควรนำเรื่องวัสดุอุปกรณ์มาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหายที่สำคัญนี้ โดยการบันทึกภาพต่อเนื่องทำให้ลดความเสี่ยงได้อย่างดี และยังเป็นพยานหลักฐานทางคดีอาญาได้ด้วย รวมทั้งยังพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจและประชาชนได้ด้วย
“มติครม. ที่ขอซื้อกล้องก่อน ของบฯก่อน ขอฝึกอบรมก่อน ไม่ใช่เหตุผลในการออก พ.ร.ก.ตามรัฐธรรมนูญ การเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราไปกว่า 7 เดือน คือมาตรา 22 – 25 เป็นกระกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ…”
รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 172 กำหนดว่า ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ส่วนมาตราอื่นจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน ตามกำหนดเดิม คือ 22 ก.พ. 2566 แม้ไม่มีการจัดซื้อกล้องและอุปกรณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด พรเพ็ญ กล่าวว่า วันนี้มติ ครม. ไม่ใช่การเลื่อนการบังคับใช้ทั้งฉบับ ทำให้การทรมาน อุ้มหายเป็นอาชญกรรมและอาชญากรที่กระทำผิดกฎหมาย จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แล้ว ผู้เสียหายก็จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมายนี้ได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง