พร้อมแก้ปัญหากฎหมายป่าไม้จำกัดสิทธิชุมชน ด้านเลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ตอบรับนำข้อเสนอสู่ฝ่ายนโยบาย ให้คณะทำงานโฉนดชุมชน หาแนวทางแก้ไขปัญหา
หลังลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วันนี้ (19 ก.พ.2566) ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริง การดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ในพื้นที่ที่ยื่นคำขอเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนของคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ณ ชุมชนบ้านแม่คองซ้าย หมู่ที่ 1 ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลังการขับเคลื่อนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ก.พ.2565 ว่าด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ รองรับ และเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
โดยในกิจกรรมมีผู้แทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.เชียงใหม่ ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่คองซ้ายชุมชนบ้านแม่ป่าเส้า อ.เชียงดาว, ชุมชนบ้านห้วยหก ชุมชนเลาวู อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ในนามเครือข่ายสมาชิกพีมูฟ ร่วมสะท้อนปัญหา พาคณะลงพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมการจัดการทรัพยากร และยื่นหนังสือเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำไปพิจารณาในการยกร่างระเบียบในคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว
“ภาคประชาชน ร่วมสะท้อนข้อจำกัด คทช.-กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ “
‘พีมูฟเชียงใหม่’ ได้ยื่นหนังสือถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ เพื่อขอให้เร่งรัดยกระดับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชนตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน และแก้ไขปัญหาจากพระราชบัญญัติป่าไม้ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
“การนำเสนอให้เร่งแนวทางจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื่องจากรูปแบบและแนวทางนี้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ที่ชุมชนมีสิทธิและเสรีภาพในการออกแบบ จัดการ และตัดสินใจได้โดยชุมชน ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชุมชนสามารถอยู่คู่กับป่าได้ภายใต้กฎระเบียบของชุมชนที่ออกแบบร่วมกัน ส่วนโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ยังไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดและก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน เช่น เงื่อนไขการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ หรือระยะเวลาในการถือครองพื้นที่ หากชุมชนรับนโยบายของ คทช.มาใช้ คงไม่สามารถดูแลและจัดการทรัพยากรตามวิถีของชุมชนได้ดังเดิม ”
ตัวแทนพีมูฟเลียงใหม่ กล่าว
นอกจากนั้น ชุมชนบ้านแม่คองซ้ายและบ้านแม่ป่าเส้า ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ทั้งที่ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ และสร้างข้อจำกัดภายใต้กฎหมายจำกัดสิทธิ ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่จะทำให้ชุมชนที่มีวิถีชีวิตดั่งเดิมจากผู้บุกเบิกโดยบรรพชน กลายเป็นผู้บุกรุกภายใต้การอนุญาติและเงื่อนไขซึ่งที่ผ่านมาชุมชนได้พิสูจน์แล้วว่าชุมชนอยู่คู่กับป่า ใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลและดูแลรักษาอย่างสมดุล
กอบกุล ตั้งใจสู้ ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่คองซ้าย ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตได้รับผลกระทบกฎหมายนโยบายของรัฐมาโดยตลอด ตั้งแต่นโยบายอพยพคนออกจากป่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ แม้ว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาจะมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างชุมชนและเขตรักษาพันธุ์ฯ แต่ชุมชนยังคงมีความกังวลใจในความที่ไม่มีกฎหมายหรือนโยบายที่รองรับและยืนยันสิทธิของชุมชนในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างชัดเจน
“เราดูแลป่า เราจัดการไฟ แต่สิ่งที่เราได้รับคือการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งจากเบื้องบนที่กระทบวิถีชีวิตของเรา จริงอยู่ว่าตอนนี้เราสามารถดำรงชีวิตในพื้นที่ที่เป็นทั้งบ้าน เป็นแหล่งอาหาร เป็นพื้นที่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราได้แต่ก็ไม่ได้มีสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าเราจะได้ใช้ชีวิตตามวิถีของเราไปได้อีกนานแค่ไหน หากเปลี่ยนจากการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการให้สิทธิชุมชนในการดูแลจัดการทรัพยากรตรงนี้ เชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะแค่ชุมชนแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้าที่จะดูแลจัดการได้ แต่ทุกพื้นที่สามารถทำได้เช่นกันหากมีการดำหนดข้อตกลงและกฎระเบียบชุมชนที่ชัดเจน ”
กอบกุล กล่าว
นอกจากนั้นยังพบข้อจำกัดในการ “เก็บหาของป่า” ในมาตรา 57 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2562 ซึ่งเป็นวิถีชีวิตสำคัญของชุมชนทั้งที่ถูกประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทับแล้ว โดยชุมชนมีพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทั้งหาสมุนไพร หาเศษไม้เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร และเป็นพื้นที่ป่าทางจิตวิญญาณของชุมชน ที่ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งชุมชนหวงแหนและร่วมรักษามายาวนาน ผ่านกฎระเบียบของชุมชน และการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพยายามจะออกหลักเกณฑ์การเก็บค่าธรรมเนียมการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะส่งผลกระทบกับชุมชนทั้งวิถีชีวิตในการดำรงชีพและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรายได้หลักของหลายชุมชน
“ ยืนยันยกระดับ โฉนดชุมชน รองรับสิทธิชุมชน ปลดล็อกข้อจำกัดกฎหมายป่าไม้ “
อดินันท์ เล่ายี่ปา ตัวแทนชาวบ้านห้วยหก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ สะท้อนว่าโฉนดชุมชนกับ คทช.ไม่เหมือนกันในเรื่องสิทธิของชุมชนที่เป็นสิทธิในพื้นที่ของเขา(ชาวบ้าน) ที่อยู่อาศัยมาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดมา พอมาเป็นรูปแบบ คทช.ก็ไม่สมเหตุสมผล ว่าทำไมชาวบ้านต้องขออนุญาตรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของเราเองอยากให้รัฐบาลเข้าใจถึงเหตุผลตรงนี้ ถ้าหากมีการรองรับสิทธิชุมชนให้จัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่ดินตรงนี้ก็ยังมีเท่าเดิม ป่าก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ขาดหายไปไหน เพราะที่ผ่านมาแม้ไม่ได้มีการสนับสนุนจากรัฐ ชุมชนก็ดูแลทรัพยากรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด
จากนั้น พีมูฟเชียงใหม่ ได้ยืนยันข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 4 ประการ
1. ขอให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดยต้องคำนึงถึง ความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติดังที่กล่าวมาข้างต้น
2. ขอให้เร่งรัดประสานงานเพื่อให้พิจารณาชะลอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและสร้างข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และอยู่อาศัยกับป่าตามวิถี จนกว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ “คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562” ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะแล้วเสร็จ
3. ให้ใช้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 เรื่อง ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ประกอบการศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
4. สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ถนน น้ำและไฟ อย่างบูรณาการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนโดยผ่านแผนการพัฒนาของชุมชน
ชาวบ้าน ยังสะท้อนปัญหามายาคติของสังคม คนอยู่กับป่า ต้นตอของปัญหาฝุ่นควัน โดยตัวแทนชุมชนบ้านแม่คองซ้าย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีวาทกรรมจากคนในสังคม ว่าคนที่อยู่กับป่าเป็นคนทำลายป่า เป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาไฟป่า ฝุ่นควัน ทั้งๆที่คนที่อยู่ในเมืองไม่ได้รับรู้เลยว่าคนที่อยู่ในพื้นที่มีการดูแลและจัดการไฟป่าในแต่ละปีอย่างไร และต้องเสี่ยงแค่ไหนในการดูแลไฟ จึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ว่ามันเยอะมากเหมือนที่คนในสังคมกล่าวหาเราหรือไม่ แล้วตราบใดที่ยังมีการใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิของชุมชนเช่นนี้ ชาวบ้านที่อยู่กับป่าคงไม่สามารถดูแลและจัดการได้อย่างเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา
“ หลายหน่วยงานตอบรับ นำข้อมูลความเห็นชาวบ้าน สู่ระดับนโยบาย “
ธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายตนมาในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ ซึ่งต้องขอขอบคุณทางชุมชน ทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดอำเภอ เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะนำสู่คณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ
“ผมได้รับฟังปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่มาจากชาวบ้านในอำเภอเชียงดาว ไม่ว่าจะเป็นทางชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ทำให้เราทราบความต้องการหลัก ๆ คือเรื่องพื้นที่ทำกิน ซึ่งทาง คทช.ก็จะดำเนินการต่อไปส่วนเราก็จะรวบรวมและนำเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป”
ธัชชญาณ์ณัช กล่าว
ศิริชัย เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้รับมอบหมายให้มารับฟังปัญหา เจตนารมณ์ของ สคทช. มีเจตนารมณ์ที่ดี เป็นไปได้ว่าที่ผ่านมาชุมชนที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากกฎหมาย สคทช. อาจจะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อให้มีทางออก โดยผ่านทาง คทช. จังหวัดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อยู่แล้ว ให้เกิดการทำงานแก้ปัญหา
“เราได้แบ่งกลุ่มพื้นที่ในการทำงานไว้ 4 กลุ่ม โดยจำแนกตามสถานะทางพื้นที่ โดยวันนี้เท่าที่ได้รับฟังจากทางหน่วยงานและชุมชน ก็เห็นว่ามีการร่วมมือกันค่อนข้างดี ตรงนี้คิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร สามารถดำเนินการไปตามกระบวนการของแต่ละหน่วยงานได้ เพราะฉะนั้นที่ทางชุมชนได้เสนอถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในส่วนของ คทช. เราได้รวบรวมประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะความต้องการสิทธิของชุมชน และความต้องการสาธารณูปโภคที่เราเห็นด้วยว่ายังค่อนข้างลำบาก ซึ่งทางเราจะนำเสนอตามขั้นตอนในเชิงนโยบายต่อไป”
ศิริชัย กล่าว
ด้าน อิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ก็จะมีประเด็นของชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอยู่แล้ว ซึ่งทางเราก็คิดมาตลอดว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องราษฎรอยู่อย่างถูกต้อง ก็ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ ตอนปี 2562 ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาวมีพื้นที่ที่สำรวจอยู่ 300,000 ไร่ ซึ่งมีคุณค่าทางระบบนิเวศสูง บ้านแม่คองซ้ายและแม่ป่าเส้าก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่มีระเบียบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมอุทยานฯ ก็ได้ดำเนินการตามมตินโยบายของ คทช. ตามกระบวนการที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนเหมือนกัน