พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ คุ้มครองสิทธิการทำงานที่บ้าน อาจมีช่องโหว่

สภาองค์กรนายจ้าง ฯ ห่วงกฎหมายขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเรื่องกำหนดเวลาทำงาน การกำหนดหมวดหมู่ประเภทงานไม่ชัดเจน ด้านตัวแทนแรงงานสะท้อนปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องที่นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

จากกรณีที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 และจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 18 เม.ย. 2566 โดยเนื้อหาเป็นการแก้ไขในมาตรา 23 เพิ่มการคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน โดยนายจ้างกับลูกจ้างอาจทำการตกลงกันเกี่ยวกับลักษณะการปฏิบัติงานของลูกจ้าง ซึ่งสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือผ่านการใช้อุปกรณ์สารสนเทศต่าง ๆ

นายจ้างต้องจัดทำหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการตกลงกับลูกจ้าง คือ

1) ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง

2)  วัน เวลาทํางานปกติ เวลาพัก และการทํางานล่วงเวลา

3) หลักเกณฑ์การทํางานล่วงเวลาและการทํางานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่าง ๆ

4) ขอบเขตหน้าที่การทํางานของลูกจ้างและการควบคุมหรือกํากับการทํางานของนายจ้าง

5) ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทํางาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จําเป็น อันเนื่องจากการทํางาน

เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานตามที่ตกลง หรือสิ้นสุดการทำงานที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิ์ปฏิเสธการติดต่อสื่อสารกับนายจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างยินยอมโดยทำหนังสือไว้ก่อนล่วงหน้า

แม้การออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขคุณภาพชีวิตการทำงาน เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้น อีกทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีบทบัญญัติบางประการที่ควรแก้ไขให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับล่าสุดนี้ ก็มีบางประการที่ถูกมองว่ายังขัดกับบริบทของสังคม

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า กฎหมายขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในเรื่องการกำหนดระยะเวลาการทำงาน ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ว่าลูกจ้างต้องทำงานตลอดจนครบเวลา และหากกฎหมายกำหนดว่าห้ามติดต่อหลังหมดเวลางาน นั่นหมายความว่าลูกจ้างต้องทำงานให้เสร็จทันเวลา จึงมองว่ากฎหมายตัดช่องทางการติดต่อประสานงาน

ธนิต โสรัตน์ – รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ประเภทงานให้ชัดเจน เพราะการทำงานนอกสถานที่นั้นอาจหมายรวมถึง  คนขับรถบรรทุก งานบริการขนส่งสินค้า เซลล์ขายของ พนักงานช่างเทคนิค และอื่น ๆ จึงเกิดคำถามว่า กฎหมายนั้นเน้นบังคับใช้กับคนที่ทำงานที่บ้านเท่านั้นหรือไม่

อีกทั้งยังมองว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาจมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ข้อดี คือ การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งควรสนับสนุน เพราะการทำงานที่บ้านทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกล และลดการจราจรติดขัด ส่วนข้อเสีย คือ ความยุ่งยากในการระบุเวลาที่ชัดเจน เพราะการทำงานที่บ้านอาจมีธุระอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของนายจ้าง และอยากให้ตีความให้ชัดเจนว่า การทำงานนอกสถานที่หมายถึงการทำงานของกลุ่มงานแบบใด เพราะมีความทับซ้อนกับหลายอาชีพ

ด้าน สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับกับสภาพงาน และการทำงานในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เมื่อวิเคราะห์ก็พบว่า อาจเป็นการแก้ไขปัญหาในภาพกว้าง ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับคนทำงาน ซึ่งมองว่าคนทำงานมีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า และต้องมาดูว่าการตกลงกันนั้นมีลักษณะแบบใด หากคนงานปฏิเสธนายจ้างก็เสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง เพราะไม่ใช่นายจ้างทุกคนที่จะเห็นใจลูกจ้าง

นอกจากนี้ ยังมองว่า กฎหมายพยายามเขียนถึงภาระของคนทำงาน ซึ่งผู้จ้างจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ทั้งการจัดหาอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีความชัดเจน อาจต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดกว่านี้หรือมีกฎจากกระทรวงแรงงานมารองรับ

สาวิทย์ แก้วหวาน – ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

“หากผู้จ้างงานหรือนายจ้าง ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ้างงาน หรือ ละเมิดข้อตกลงการจ้างงานกระบวนการในการตรวจแรงงานจะทำได้หรือไม่ พนักงานตรวจแรงงานมีเพียงพอหรือไม่ มาตรการรองรับในสิ่งเหล่ามีหรือยัง แต่จากประสบการณ์แม้การทำงานปกติมีมากมายที่นายจ้างละเมิด จำนวนไม่น้อยที่รัฐยังไม่สามารถจัดการได้”

สาวิทย์ แก้วหวาน – ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สาวิทย์ ยังย้ำถึงข้อเสียเปรียบของคนทำงานหากไม่มีสหภาพแรงงานมาทำหน้าที่ดูแลข้อตกลงการจ้างงาน โดยมีข้อเสนอที่อยากให้รัฐตรากฎหมายสำหรับคนทำงานทุกสาขาอาชีพทั้งภาครัฐ เอกชน งานบริการ และแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้การจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้คนทำงานก็อาจจะทำให้การละเมิดข้อตกลงนั้นน้อยลง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active