มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย รวมเรื่องร้องเรียนช่วง 6 เดือนแรก ปี 66 ภัยการเงินทางออนไลน์เข้าถึงเยาวชนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ทำพ่อแม่เสี่ยงติดคุก ส่วนปัญหาคอนโดสร้างไม่เสร็จ ถูกบริษัทเดิมโกงซ้ำ เตือนคนไทย ตัดสินใจซื้อเมื่อโครงการเสร็จ หากถูกโกงแล้ว ยากจะได้คืน
21 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลระบุว่า ปัญหาผู้บริโภคถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาด้านสินค้าและบริการ ที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงปก รวมถึงปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ขายทิ้งงาน หรือเข้าข่ายมีเจตนาโกง
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ภาพรวมการทำงานรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีประเด็นที่น่าวิตกอย่างมาก นั่นคือ เยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี จำนวนมากถูกหลอกลวงทำธุรกรรมด้านการเงิน ยกตัวอย่างจากที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น นักศึกษาหญิงวัย 19 ปี ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงไปเปิดซิมโทรศัพท์มือถือถึง 3 ค่าย ด้วยความที่อยากทำงานหารายได้พิเศษ จึงเปิดเฟซบุ๊ก จนไปเจอ ข้อความ “เงินเดือนหลักหมื่น เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ ต้องการจำนวนมาก อายุ 18 ปีขึ้นไป สนใจติดต่อทางข้อความ Messenger” เป็นเพจเฟซบุ๊กหางานที่ไม่บอกตัวตนคนโพสต์ แต่ผู้เสียหายไม่ทันฉุกคิด จึงทักไปถาม ขั้นตอนการสมัคร ทางแก๊งมิจฉาชีพจึงหลอกเหยื่อว่า จะพาไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน ถึงจะพิจารณารับเป็นพนักงาน เมื่อไปถึงศูนย์บริการมือถือ เจ้าหน้าที่ขอแค่บัตรประชาชนเด็กนำไปเปิดซิมจนเสร็จสิ้นทั้ง 3 ค่าย ส่วนซิมกลายเป็นว่ามิจฉาชีพที่มาด้วยเก็บไว้เอง จากนั้นต่างคนต่างแยกย้าย โดยที่เด็กไม่รู้ตัวตนมิจฉาชีพรายนี้แม้แต่นิดเดียว มารู้ตัวว่าโดนหลอกเมื่อใบแจ้งหนี้ 3 ค่ายมือถือ รวมกว่า 20,000 บาทส่งถึงบ้าน เป็นยอดบิลที่เริ่มทำสัญญาเดือนเมษายน จนถึงเดือนมิถุนายน 2566
จากเหตุนี้ มีข้อสังเกตคือ มิจฉาชีพใช้วิธีวนหลอกเหยื่อให้เปิดซิมเพื่อเอามาใช้ฟรี พอครบ 3 เดือน ที่ไม่ได้จ่ายค่าบริการผู้ที่มีชื่อเปิดซิมจะถูกตัดสัญญาณอัตโนมัติ ส่วนยอดค่าใช้จ่ายจะตกเป็นของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ
อีกเหตุการณ์ที่เกิดกับนักศึกษาหญิงวัย 17 ปี รายหนึ่ง ได้รับการชักชวน จาก UP LINE ของบริษัทขายตรงมีการชี้ชวนขายฝัน จะได้เม็ดเงินมหาศาลจากงานนี้ ด้วยความที่อยากหารายได้จึงสมัครสมาชิก แต่สินค้าที่ถูกชักนำให้ขายมีราคาหลักหมื่น จึงไปกู้เงินจำนวน 15,000 บาท จากเพื่อน ๆ ถึง 40 คน ที่ร่วมกันลงขัน ซึ่งคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 10 แต่สุดท้ายขายสินค้าไม่ได้ ทำให้ติดหนี้เพื่อน จนคุณพ่อมารู้ภายหลังเพราะได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหนี้ จึงต้องเร่งไปปิดหนี้ พบว่ายอดรวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 40,000 บาท แต่ที่ตกใจยิ่งกว่า เมื่อลูกสาวยอมรับว่า ถูกเพื่อนชวนให้เล่นพนันออนไลน์ให้เอาเงินมาจ่ายหนี้ เจอเว็บพนันกินเงินอีก 10,000 บาท สรุปกรณีนี้ ลูกสาวเจอค่าวิชาชีวิตจากธุรกิจขายตรง รวมเบ็ดเสร็จ 50,000 บาท ยังดีที่พ่อตัดวงจรความเสียหายได้ทัน พร้อมเรียกร้องให้บริษัทขายตรงรายนั้นอย่าเอาเด็กเป็นเครื่องมือทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นกระทำการเกินกฎหมายกำหนด ที่ห้ามเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ซื้อสินค้าราคาแพงด้วยเงินผ่อนโดยที่พ่อ-แม่-ผู้ปกครองไม่อนุญาต แต่อีกฝ่ายกลับตอบมาว่าไม่ใช่หน้าที่ต้องมาดูแล
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้จากคุณพ่อของผู้เสียหายที่เป็นทนายความ เพื่อให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงเตือนภัย เพราะการไปยื่นฟ้องกับบริษัทขายตรง จะจบความเสียหายที่แค่ 1 คน แต่เพราะเหตุการณ์แบบนี้ได้รับรู้ข้อมูลมาว่า มีเยาวชนติดกับดักธุรกิจขายตรงที่หลอกขายฝัน จนบางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เล่นการพนัน ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือบางคนถึงขั้นยอมขายตัว
จากปัญหาภัยการเงินที่เกิดกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอให้ กสทช. ต้องกำกับดูแลให้โอเปอเรเตอร์ต้องควบคุมการซื้อซิมและโทรศัพท์ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วน สคบ. ควรมีมาตรการตรวจสอบ และให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ โดยไม่ทำธุรกิจกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี
เตือนคนไทย ตัดสินใจซื้อคอนโดฯ เมื่อโครงการเสร็จ หากถูกโกงแล้ว ยากจะได้คืน
ธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ส่วนข้อร้องเรียนด้านอสังหาริมทรัพย์คดีออล อินสไปร์ ถือว่าสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคเพราะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล เหตุการณ์นี้มีผู้เสียหายหลายร้อยคน ที่ซื้อคอนโดมิเนียมจาก 5 โครงการทั่วกรุงเทพฯ ที่ก่อสร้างโดย บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นข่าวเมื่อกลางปี 2565 ที่ผู้บริโภคพากันโพสต์แฉ “คอนโดฯ 4 ปี มีแต่โครง จ่ายเงินไปแล้วแต่สร้างไม่เสร็จ” มีผู้เสียหายมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงแม้ทำหนังสือแจ้งอีกฝ่ายมาเจรจา แต่กลับเพิกเฉย และแม้ว่ามีมาตรการกดดันบุกไปถึงบริษัท ก็ได้แค่รับปากยอมทำสัญญาจ่ายหนี้เป็นรายเดือน ตั้งแต่ 1-12 เดือน สูงสุด 12 เดือน ตามเงื่อนไขของแต่คน แต่สุดท้ายจ่ายแค่งวดเดียว จากนั้นย้ายสำนักงานใหญ่หนี โดยไม่ยอมแจ้งให้เจ้าหนี้รับรู้
ทั้งนี้ จากประมาณการความเสียหายในภาพรวมของ 5 โครงการคอนโดมิเนียม ออล อินสไปร์ เกือบพันล้านบาท เพราะมีผู้เสียหายมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กว่า 100 คน นอกจากผู้เสียหาย 32 ราย ที่ฟ้องศาล ล็อตแรก ยังมีผู้เสียหายล็อต 2 ที่เตรียมยื่นฟ้องศาล ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยู่ระหว่างดำเนินการ ล่าสุดยังได้รับการประสานจากชาวจีนที่เป็นผู้เสียหายจากคอนโดฯ ออล อินสไปร์ มาร้องขอความช่วยเหลือ
จากเหตุนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องบังคับให้บริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีระบบการทำสัญญาคุ้มครองผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 (Escrow Law) รวมถึง ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงาน สมาคมฯ เป็นตัวแทนควบคุมดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
ครึ่งปีแรก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนแล้ว เกือบ 900 เรื่อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มิถุนายน 2566 ฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียน พบผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อเนื่องรวม 894 เรื่อง เรื่องร้องเรียนสูงสุด 3 ลำดับแรกคือ 1. สินค้าและบริการทั่วไป 319 เรื่อง 2.การเงินการธนาคาร/ประกัน 135 เรื่อง 3. บริการขนส่งและยานพาหนะ 83 เรื่อง มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 744 เรื่องและกำลังดำเนินการ 150 เรื่อง
ส่วนปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับการร้องเรียน ทั้งปัญหาอาคารชุดที่ชำรุดบกพร่อง การสร้างก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ผิดกฎหมาย ผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงาน สร้างไม่เสร็จตามสัญญา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านบริการสาธารณะและยานพาหนะ เช่น ผู้บริโภครถโดยสารสาธารณะประสบอุบัติเหตุไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาผู้บริโภคหลากหลายด้าน ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง ทำหน้าที่ให้ข้อมูล คำแนะนำ วิธีการ แนวทางในการแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการ และการสนับสนุนการฟ้องคดีของผู้บริโภค ตลอดจนการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผลการดำเนินงานใน 6 เดือนแรกของปี ได้รับเรื่องร้องเรียน 894 เรื่อง มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 744 เรื่อง ดำเนินการสำเร็จมากกว่าร้อยละ 83
นอกจากนี้ ณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานต่อว่า นอกจากการทำงานดังกล่าว ในปี 2566 นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เริ่มทำงานในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคที่จ่ายเงินค่าสมัครวิ่ง กรณีวิ่งเทรลเกาะช้าง โดยผู้บริโภคและผู้จัดงานวิ่งสามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้