มิจฉาชีพออกอุบายใช้โปรไฟล์น่าเชื่อถือก่อนปิดเพจหนี พบภายหลังใช้บัญชีม้าหลอกเหยื่อ สอดคล้อง ศูนย์ AOC ระงับบัญชีม้าแล้วรวม 4 แสนบัญชี เป็นการหลอกซื้อขายสินค้า มากที่สุด
19 ม.ค. 68 The Active ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายถูกหลอกซื้อไก่ไข่จากฟาร์มแห่งหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าอยู่ใน จ.ตาก จำนวน 10 ตัว เป็นเงินมัดจำ 800 บาท แต่เมื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ทางเพจกลับแจ้งว่าให้โอนค่าประกันขนส่ง 1,500 บาท
แต่ผู้เสียหายเกิดความสงสัยจึงติดต่อกลับไปทางเพจเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม และขอเงินมัดจำคืน เมื่อตกลงกันไม่ได้ เพจได้บล็อกช่องทางในการการติดต่อ เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอก จึงรีบติดต่อธนาคารแจ้งระงับการโอนเงิน และรับหมายเลขอ้างอิงเพื่อใช้ในการแจ้งความกับศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) พร้อมกับนำหลักฐานเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่
“สงสัยตั้งแต่ทางร้านเรียกเงินมัดจำ แต่เพราะเช็กบัญชีปลายทางกับเว็บ Blacklistseller แล้วไม่พบประวัติอาชญากรรม บวกกับทางเพจมีผู้ติดตามจำนวนมาก และเคลื่อนไหวอยู่ตลอด จึงหลงเชื่อ จากนี้ต้องเช็กให้รอบคอบ จะอาศัยความเชื่อใจ และภาพที่ดูมีความน่าเชื่อถือของแบรนด์ไม่ได้”
ผู้เสียหาย
หลังได้รับข้อมูล The Active ได้ติดต่อไปยังเพจฟาร์มขายไก่ไข่ดังกล่าว จากนั้นถูกบล็อกช่องทางติดต่อและปิดเพจในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อสืบค้นในช่องทางออนไลน์ พบมีผู้เสียหายในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือน ม.ค. 68 มีผู้ที่เสียหายตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ทั้งที่ประสงค์แจ้งความ และไม่ดำเนินคดีใด ๆ เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้สามารถทวงเงินดังกล่าวคืนมาได้
AOC เผย ระงับบัญชีปลายทางหลอกออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 1,186 บัญชี
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศูนย์ AOC 1441 มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 1,375,908 สาย (เฉลี่ยต่อวัน 3,149 สาย) มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นรวม 20,202,376 บาท โดยระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่
- หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 143,854 บัญชี คิดเป็น 30.62 %
- หลอกลวงหารายได้พิเศษ 111,947 บัญชี คิดเป็น 23.83 %
- หลอกลวงลงทุน 68,776 บัญชี คิดเป็น 14.64 %
- หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 43,861 บัญชี คิดเป็น 9.34 %
- หลอกลวงให้กู้เงิน 35,342 บัญชี คิดเป็น 7.52 %
- คดีอื่น ๆ 66,030 บัญชี คิดเป็น 14.05 %
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการหลอกลวงขายสินค้าราคาถูกกว่าร้านอื่น ๆ หลอกให้ลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ ติดตั้งแอปพลิเคชัน ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook ดังนั้นเพื่อไม่เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ก่อนโอนควรตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใด ๆ”
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ AOC ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใด ๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง