เครือข่ายพลังสูงวัยและภาคี จัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุสากล 2566 “สูงวัยยังไปต่อ” #OlderNotOver เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุแสดงศักยภาพ เสริมสร้างสุขภาวะ และเท่าทันสังคม-เทคโนโลยี พร้อมเปิดลงชื่อเสนอกฎหมายบำนาญ 3,000 บาท ถ้วนหน้า
วันนี้ (1 ต.ค. 2566) เครือข่ายพลังผู้สูงวัย กรุงเทพมหานคร กรมกิจการผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานวันผู้สูงอายุสากล 2566 (International Day for Older Person 2023) ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพมหานคร
อรนุช เลิศกุลดิลก ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลังผู้สูงวัย กลุ่มผู้สูงอายุชุมชนเมือง forOldy และผู้จัดงาน กล่าวว่า แนวคิดปีนี้ ต้องการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและการสื่อสารระหว่างวัย เพราะคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ในสังคมมีช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น โดยอยากให้งานนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้กับคนในสังคม เป็นพื้นที่บริการทางสังคม แนะนำสินค้าที่จัดทำโดยผู้สูงอายุ และทุกคนสามารถมาช็อปปิงความรู้ เทคนิคการใช้ชีวิต ทั้งนี้ มีองค์กรหน่วยงานที่ให้บริการผู้สุงอายุด้านต่าง ๆ มาให้บริการด้วย ทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข สปสช. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ขณะเดียวกัน ก็มีการรณรงค์ของภาคประชาสังคมเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และที่เน้นมากคือการดูแลตัวเองในช่วงบั้นปลายชีวิตให้มีสุขภาพจิตที่ดี เช่น พินัยกรรมชีวิต peaceful death ผ่านการทำกิจกรรมเวิร์กชอปต่าง ๆ
“เราได้เห็นว่าวันนี้มีผู้สูงอายุมากันเยอะขึ้น มากกว่าครั้งก่อน ๆ เราเห็นสถิติที่มากขึ้น และมีเครือข่ายร่วมจัดงานก็มากขึ้นทุกที ซึ่งในปีหน้าเราอยากให้ภาครัฐจัดหาสถานที่ให้เรา เพื่อรองรับจำนวนที่มากขึ้น เรามีความตั้งใจหวังให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีขึ้น และอยากให้เป็นวันที่รอคอย ให้ผู้สูงอายุได้มากินของอร่อย มาพบเพื่อน ทำกิจกรรม มารับของขวัญ และเป็นพื้นที่จะสนับสนุนแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เช่น มีบริการรู้เท่าทันสถานการณ์ของโลก สังคมออนไลน์ มีบริการปรึกษากฎหมาย ในทุกปีเราทำเราจัดกันเอง แต่ในอนาคตอยากให้ภาครัฐทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางได้เข้ามาเป็นแม่งานจัดงานจริง ๆ และเปิดพื้นที่ทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันในวันผู้สูงอายุสากลนี้”
ธมน เล็กปรีชากุล ผู้ประสานงาน องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า วันผู้สูงอายุปีนี้ตรงกับวันครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของปฏิญญาฯ ต้องร่วมกันรักษาสิทธิของผู้สูงอายุทุกมิติ ซึ่งมีความท้าทายทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความยากจน ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ เราต้องสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านนโยบายทางสังคม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ และความเท่าเทียมในการเข้าถึงสื่อออนไลน์
ด้าน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (We Fair) กล่าวว่าวันนี้เครือข่ายมารณรงค์เรื่องสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวันแรกของการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะรวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ (27 ก.ย. 2566) เครือข่ายได้ร่วมกันยื่นริเริ่ม ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ…. ต่อที่ปรึกษาประธานสภาฯ เพื่อให้บรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาไปแล้ว โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการที่เราจะพัฒนาเบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท เป็นบำนาญประชาชนถ้วนหน้า สองทุกคนจะได้รับบำนาญประชาชน ถือเป็นสิทธิสวัสดิการ ส่วนราชการให้เลือกรับสิทธิว่าจะรับบำนาญข้าราชการ หรือบำนาญประชาชน สามต้องการให้บำนาญประชาชนเป็นหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุโดยใช้เกณฑ์อัตราการจ่ายไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ 3,000 บาท
“การนำเสนอกฎหมายของเราปลายทางคือ 3,000 บาท แต่มันสามารถที่จะขยับเป็นขั้นบันไดได้ เดิมใช้เกณฑ์ 600-1,000 บาท เราสามารถปรับได้เลยเป็น 1,000 บาทเมื่ออายุ 60 ปี จะใช้งบประมาน 140,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งเดิมเราใช้ 80,000 ล้านบาท เพิ่มมากเพียงเล็กน้อย เท่ากับ 12% ของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น โดยบำนาญประชาชนจะมีผู้สูงอายุได้รับราว ๆ 11 ล้านคน หลังจากรวบรวมรายชื่อได้ตามที่กำหนดแล้ว ก็จะไปยื่นที่ประชุมสภา 13 ธันวาคมนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเปิดประชุมสภาสมัยที่ 2 พอดี”