ภาคประชาชน ชี้ เป็นเรื่องดี รัฐเดินหน้าโครงการหนองวัวซอ

ย้ำคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน โดยยึดหลักพิสูจน์สิทธิที่ดิน ไม่ควรให้ประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศที่ราชพัสดุ ต้องยอมรับว่าบุกรุกที่รัฐ และจ่ายค่าเช่าที่ของตนเองที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

จากกรณีที่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับคณะผู้บัญชาการทหารบก และกรมธนารักษ์ เพื่อดูความคืบหน้าโครงการหนองวัวซอโมเดล โดยมีเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ รับลงทะเบียน รับคำขอเช่าที่ราชพัสดุ สอบสวนสิทธิ ความต้องการสาธารณูปโภคตรวจแปลงที่ดิน โดยย้ำว่า ในส่วนของกลาโหมที่ดินของทหารที่มีอยู่แล้ว ที่ไหนไม่จำเป็นต้องใช้ ก็จะขอมาให้ประชาชนทำกิน แต่ไม่ใช่การแจกเอกสารสิทธิ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์ที่อนุญาตให้ใช้ และเปลี่ยนสถานะของประชาชนในการครอบครองที่ดินที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เช่าใช้ที่ดินอย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ

สำหรับโครงการนำร่องหนองวัวซอ เดิมเป็นพื้นที่สนามฝึกยิงปืนใหญ่ของ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 ที่อยู่ในความดูแลของ มทบ.24 ซึ่งจะส่งมอบให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อนำไปจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์จำนวน 10,476 ไร่ รวม 1,599 แปลง เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ 2 แปลง และเป็นที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ 1,597 แปลง

แบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย 257 แปลง และพื้นที่เพื่อการเกษตร จำนวน1,340 แปลง โดยสำนักงานธนารักษ์ จ.อุดรธานี จะประสานกับกรมธนารักษ์ เพื่อกำหนดรายละเอียด และกรอบระยะเวลาการแจกสัญญาเช่าให้กับผู้ที่จะเข้าใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เพื่อมอบให้แก่ประชาชนภายใน 25 ธันวาคม 2566​

ต่อประเด็นนี้  ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ที่ติดตามการแก้ปัญหาด้านที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยกับ The Active โดยมองว่า การเดินหน้า “หนองวัวซอโมเดล” เป็นเรื่องดี  และถึงเวลาแล้ว ที่รัฐ หรือกองทัพ ต้องจัดสรรและคืนที่ดินให้ประชาชน

เพราะหากดูข้อมูลพื้นที่ของธนารักษ์ ที่รัฐบาลขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่ของหลวง เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการ มีอยู่ทั้งหมดราว ๆ 12 ล้านไร่ ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า กระทรวงกลาโหม ขอใช้ที่ราชพัสดุมากที่สุด โดยถือครองที่ราชพัสดุมากถึง 6,250,000 ไร่ หรือประมาณ 50 % ของที่ราชพัสดุทั้งประเทศ  หรือหากจะคิดง่าย ๆ ก็ประมาณ 5 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

นี่ยังไม่รวมพื้นที่กองทัพ ขอใช้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขอใช้ประโยชน์จำนวนมาก และมีสัญญาเงื่อนไขขอใช้ ต่างจากประชาชนและเอกชนที่ขอสัมปทานได้แค่ไม่เกิน 30 ปี แต่กองทัพขอบนเงื่อนไขที่ใช้คำว่า จนกว่าจะหมดความจำเป็น คือใช้ไปได้ตลอด ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดสรรให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดิน เพราะต้องยอมรับข้อเท็จจริง ว่า มีหลายชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนการประกาศที่ราชพัสดุ หรือก่อนประกาศเขตอุทยาน และป่าสงวน 

อย่างกรณีล่าสุดนี้ที่หนองวัวซอ ถ้ารัฐจะแสดงความจริงใจ ต่อการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำกินให้กับประชาชนจริง ๆ เพื่อแก้ความยากจนตามที่รัฐบาลอ้าง จำเป็นต้องเริ่มจากหลักของการพิสูจน์สิทธิประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศที่ราชพัสดุ และกองทัพมาขอใช้ประโยชน์ เพื่อคืนความเป็นธรรมที่ดินที่อยู่มาก่อน ไม่ใช่ต้องให้ประชาชนมายอมรับว่าบุกรุกที่รัฐ แล้วต้องมาเช่าที่ของตนเอง

“ไม่ใช่ว่าวันนี้บอกว่า ทหารจะคืนที่ให้ธนารักษ์ แต่ปรากฎว่าประชาชนซึ่งอยู่มาก่อน จะต้องเข้าสู่กระบวนการเช่า ก็เป็นการไปเช่าที่ตนเองหรือบรรพบุรุษ อันนี้มันเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง และก็ไม่ได้เป็นการคืนสิทธิให้ประชาชนอย่างแท้จริง และตามหลักเกณฑ์ จะต้องไปยอมรับก่อน หมายความว่าคุณต้องยอมรับก่อนว่าคุณบุกรุกที่ดิน ซึ่งอันนี้ ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก เพราะถ้าไม่ยอมรับก็จะไม่ได้สิทธิในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ หรือได้สิทธิในการเช่า อันนี้เป็นเงื่อนไขที่ทางรัฐ เป็นผู้กำหนดขึ้น และทำให้ประชาชนเสียเปรียบพูดง่าย ๆ ว่า เป็นเงื่อนไขแบบมัดมือชก คือไปทำให้สิทธิประชาชนที่เขาควรจะมีสิทธิในที่ดินที่ดีกว่าการเช่า“ 

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส. )

ประยงค์ กล่าวว่า การดำเนินการกรณีนี้ เป็นไปในแนวทางและหลักการเดียวกับการจัดที่ดินของรัฐเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะ พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่จัดในโครงการ คทช. ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นไม่ควรต้องให้ประชาชนเช่า 

“ควรจัดให้ประชาชนทำประโยชน์ เหมือนกับตอนกลาโหมขอไปใช้ประโยชน์ ก็ไม่ได้เสียค่าเช่า แต่พอคืนให้ธนารักษ์แล้ว ทำไมต้องให้เช่า ทำไมไม่เป็นการจัดให้ทำประโยชน์“

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส. )

ประยงค์ ยังเห็นว่า จากนี้รัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ดินทุกประเภท  โดยตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน คือ การพิสูจน์สิทธิ รับรองสิทธิ และคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน 

ทั้งนี้ ยังเห็นว่า กองทัพ มีที่ดินมากเกินความจำเป็น โดยไปสร้างสนามกอล์ฟไม่น้อยกว่า 35 แห่ง ดังนั้นพื้นที่ตรงนั้น ควรเก็บเงินเพื่อมาบริหารแผ่นดินให้เกิดกับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เก็บเข้ากลาโหม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active