อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ตั้งคำถามผู้สื่อข่าวถูกออกหมายจับ สิทธิเสรีภาพของสื่ออยู่ตรงไหน ขณะที่ นศ. งดจัดงานวันวาเลนไทน์ ชี้ ช่วงเวลาไม่เหมาะสม ด้าน นักวิชาการสื่อฯ-ภาคประชาชน กว่า 1,100 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ร่วม
วันนี้ (14 ก.พ. 67) คณะกรรมการนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กน.วส.) ออกประกาศยกเลิกกิจกรรม Super Valentine ในวันนี้ เนื่องจากเหตุผลของสถานการณ์สื่อมวลชนที่ถูกตั้งข้อหาสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาด
ทยาภา เจียรวาปี ประธาน กน.วส. เปิดเผยกับ The Active ว่า กิจกรรม Super Valentine จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาในคณะวารสารศาสตร์ฯ เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี แต่หลังจากเกิดประเด็นที่สื่อมวลชนถูกดำเนินคดี จึงมองว่าการจัดกิจกรรมสนุกสนานในช่วงเวลานี้ อาจเกิดความไม่เหมาะสม ที่สำคัญในฐานะของว่าที่นักสื่อสารมวลชน ไม่อยากให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้น สื่อมวลชนควรมีสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรม
“การที่ภาครัฐใช้กฎหมายมาเล่นงานสื่อมวลชน อาจไม่ใช่ทางออก แต่เหมือนการปิดปากสื่อ ลิดรอนเสรีภาพ ในภาพรวม การที่รัฐทำแบบนี้จึงเห็นว่าไม่ควร นักข่าวควรมีสิทธิได้ทำงานอย่างเต็มที่ เราไม่ได้มองสิทธิเหนือคนอื่น ถ้ามีโอกาสเข้าถึงข้อมูล ก็ต้องรายงานให้รอบด้าน ถ้ารัฐยังทำให้เกิดขึ้นอีก ยังมีการดำเนินคดีกับนักข่าว อาจทำให้เกิดความกลัว โดยเฉพาะกับสื่อมวลชนรุ่นใหม่ จะพูด จะทำอะไรได้หรือไม่ การทำหน้าที่จะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ อาจเกิดผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนในอนาคตได้”
ประธาน กน.วส. บอกด้วยว่า ในเวลานี้นอกจากยกเลิกจัดงานวาเลนไทน์แล้ว อยากเชิญชวนให้นักศึกษาสื่อสารมวลชนแต่งชุดดำ อย่างน้อยเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ทั้งนี้หากมีแนวทางใดเกิดขึ้นต่อประเด็นนี้ทาง กน.วส. ก็พร้อมให้ความร่วมมือ
อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ตั้งคำถามสิทธิเสรีภาพของสื่ออยู่ตรงไหน
ขณะที่วานนี้ (13 มี.ค. 67) รศ.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการอนาคตประเทศไทย Thai PBS กรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า กรณีนี้เป็นเหมือนกรณีศึกษาใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนไทย เพราะไม่เคยมีข้อกล่าวหา รวมถึงการออกหมายจับผู้สื่อข่าว ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดในคดีทางการเมือง ทั้งที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวกำลังปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทหน้าที่รายงานข่าวให้กับสังคม โดยได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการข่าว แต่กลับถูกออกหมายจับ โดยตั้งข้อสังเกตว่าคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 แต่กลับไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวมีตัวตน มีชื่อนามสกุล มีตำแหน่งที่ชัดเจนอยู่ในกองบรรณาธิการ ไม่ได้หลบหนีใด ๆ แต่ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมีการจับกุมตัวในวันที่ 13 ก.พ. 2567 ซึ่งระยะเวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้ว
รศ.วิไลวรรณ มองเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้สังคมเกิดความกลัว ซึ่งเป็นลักษณะของการคุกคามสื่ออีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ใช้แต่เพียงกับสื่อสารมวลชนหรือสื่อวิชาชีพเท่านั้น เพราะปัจจุบันในยุคของโซเชียลมีเดียทำให้ใคร ๆ ก็สามารถสร้างสรรค์สื่อลงบนโลกออนไลน์ได้ ดังนั้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ คนที่ต้องการรายงานความจริงกำลังถูกทำให้กลัว กระทั่งถูกทำให้เงียบไป สังเกตได้จากเหตุการณ์การออกหมายจับในครั้งนี้เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว 1 วัน แต่เพิ่งจะมีการพูดถึงเรื่องนี้ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก แม้กระทั่งในแวดวงนักวิชาชีพสื่อเองก็เคลื่อนไหวเรื่องนี้กันน้อยและช้ามากเช่นกัน ทำให้สังคมตั้งคำถามกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ถึงเรื่องเสรีภาพของสื่อ ทั้งที่สื่อควรต้องคอยกำกับกันเอง ต้องปกป้องดูแลซึ่งกันและกัน แต่ปรากฏว่าเรากลับเห็นความเงียบและความนิ่งที่องค์กรสื่อไม่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ แสดงว่าสื่อกำลังตกอยู่ในกลไกของการถูกทำให้กลัวจะกระทั่งทำให้เงียบหรือ
“แม้แต่ตัวอาจารย์เองที่ต้องการจะแชร์ข่าวนี้ในหลาย ๆ มิติ เพื่อทำให้สังคมได้เห็นว่ามีการถกเถียงกันถึงประเด็นนี้อย่างไร ซึ่งการแชร์ดังกล่าวก็อาจทำให้เราถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเราเป็นผู้สนับสนุนก็ได้ ทำให้ตัวอาจารย์เองก็มีความกลัวเกิดขึ้นลึก ๆ เหมือนกัน”
เมื่อถามว่าสังคมมีบรรยากาศของความกลัวที่จะนำเสนอความจริง สื่อควรจะวางตัวแบบไหน รศ.วิไลวรรณ บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก แต่ขอให้นักวิชาชีพสื่อทุกคนจงคิดว่า การทำงานของเราเป็นการทำตามบทบาทหน้าที่ของความเป็นสื่อ ที่ไม่บกพร่องต่อจิตวิญญาณ ต่ออุดมการณ์ และพวกเราต้องรวมใจกันเป็นหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาพวกเราโดนกลไกการแทรกแซงในหลากหลายมิติมาก ทำให้สื่ออ่อนแอ ดังนั้น เราต้องทบทวนตัวเองว่าพวกเรากำลังทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้องแล้ว การไม่นำเสนอความจริงต่างหากที่ถือว่าเป็นความผิดต่อสังคม พวกเราต้องรวมตัวกัน และทำให้องค์กรวิชาชีพของเราเข้มแข็งขึ้นมากกว่านี้
สมาคมสื่อฯ ออกแถลงการณ์ ห่วงกังวล หลังสื่อมวลชนถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกระทำผิดฯ
ขณะที่เวลา 14.45 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ แสดงกังวลสิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้นกรณีนักข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาฯ เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า สมาคมฯ รับทราบและติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยขอแสดงความกังวลถึงการตั้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จะเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งในเหตุการณ์ที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีความชัดเจนกับสังคม และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้บรรณาธิการและต้นสังกัด กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฏหมาย ยึดหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
วันเดียวกัน ยังมีกลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงภาคประชาชน ร่วมลงรายชื่อมากกว่า 1,100 คน ออกแถลงการณ์ร่วมต่อกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระ โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า มีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าในระดับใด ผู้สื่อข่าวไม่ใช่คู่ขัดแย้งของเหตุการณ์ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดหลักการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ (Peace journalism) คำนึงถึงการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ครอบคลุม เป็นธรรม และถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอ สามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ อันนำไปสู่การหาทางออกเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งได้ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามหลักวิชาชีพสื่อ ไม่สมควรถูกจับกุม พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ถูกจับกุมโดยเร็วที่สุด