กสม. เปิดเหตุผล ละเมิดเสรีภาพทางวิชาการของ ‘ศ.พวงทอง’

หลังหน่วยงานความมั่นคง แบนงานวิจัยเรื่อง “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” อ้าง ผู้วิจัยไม่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงโดยตรง  กสม. ชี้ เป็นการลิดรอนสิทธิและละเมิดงานวิชาการ แนะยุติการแทรกแซง หวังต้นสังกัดคุ้มครองบุคลากรหรือนักวิชาการในการใช้เสรีภาพทางวิชาการตามกฎหมาย 

ที่มา ฟ้าเดียวกัน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2567 พลตรี วินธัย  สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้แถลงข่าวขอความร่วมมือให้ระงับการตีพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัย เรื่อง “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ของ ศาสตราจารย์พวงทอง  ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อสังเกตต่อบทบาทและกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพ 

โดยขณะนั้น พลตรี วินธัยให้เหตุผลว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีคุณวุฒิการศึกษา และไม่ได้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงโดยตรงและจะประสานไปยังมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเพื่อให้พิจารณาเรื่องจริยธรรมของคนเขียน รวมถึงประกาศขอความร่วมมือให้ระงับการขาย เพราะหวั่นว่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหาย ทำให้สังคมเข้าใจผิดกระทบภาพลักษณ์องค์กร 

หลังจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการ จึงมีมติให้หยิบยกกรณีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568

เสรีภาพทางวิชาการ


วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองเสรีภาพทางวิชาการของผู้ทำงานวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่ขัดต่อหน้าที่หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องเคารพ และไม่ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างของบุคคลอื่นซึ่งเป็นสิทธิที่เกี่ยวพันโดยตรงกับสิทธิของบุคคลในการแสวงหา รับ และถ่ายทอดความรู้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตรวจสอบหรือถูกคุกคาม 

โดยชี้ว่า กรณี กอ.รมน. ขอความร่วมมือมิให้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ แนะยุติการแทรกแซง

โดยพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้การจัดการอุดมศึกษาต้องเป็นไปตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค ประกอบกับแนวปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค พ.ศ. 2564 กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดแนวทางปฏิบัติในการใช้เสรีภาพทางวิชาการ โดยต้องให้คณาจารย์มีเสรีภาพทางวิชาการโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้อำนาจ หรือการแทรกแซง สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และข้อเสนอแนะขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

จากการแถลงสรุปได้ว่าการพิจารณา กสม. ชี้เป็นการลิดรอนสิทธิและละเมิดงานวิชาการ ด้วยเหตุที่ว่า

  1. เหตุผลที่ กอ.รมน. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยอ้างว่าเหตุผู้วิจัยไม่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัย และเลือกใช้ข้อมูลเฉพาะที่สนับสนุนแนวคิดของตน และไม่ได้จัดเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  1. กรณีที่ กอ.รมน. เข้าพบผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ประสานล่วงหน้า ก่อนจัดกิจกรรมเปิดตัวงานวิจัยดังกล่าวเพียง 1 วัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า กอ.รมน. กระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หยุดการเผยแพร่งานวิจัย อันเป็นการแทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจาก กอ.รมน. มิได้แสดงให้เห็นว่า การเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าวขัดต่อหน้าที่หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เคารพและปิดกั้นความเห็นแตกต่างของบุคคลอื่นอย่างไร ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ และความสามารถของนักวิจัยในการวิเคราะห์กิจการทหารโดยปราศจากการบังคับจากภายนอกถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมในระบอบประชาธิปไตยและการกำหนดนโยบายอย่างรอบด้าน

แม้ว่า กอ.รมน. จะดำเนินการโดย “ขอความร่วมมือ” มากกว่าออกคำสั่งโดยตรง แต่ความไม่สมดุลของอำนาจสามารถสร้างผลกระทบให้บรรดานักวิชาการไม่กล้าที่จะทำการวิจัยอย่างเป็นอิสระได้ ส่วนข้อโต้แย้งของ กอ.รมน. เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของผู้วิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และความล้าสมัยของงานวิจัย เป็นการโต้แย้งในประเด็นเชิงเนื้อหาและคุณภาพของงานวิจัย รวมทั้งความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัย ไม่สามารถใช้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการของผู้ทำวิจัยได้ และการที่ กอ.รมน. แจ้งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้วิจัยตรวจสอบจริยธรรม รวมทั้งแจ้งว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย เป็นการดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ และปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคม ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการค้นคว้าหาความรู้ การตีพิมพ์และความอิสระทางปัญญา ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่า การที่ กอ.รมน. แถลงข่าวขอความร่วมมือระงับการตีพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังต่อ กอ.รมน. ให้ระงับและยุติการกระทำ อันเป็นการใช้อำนาจแทรกแซง ซึ่งมีลักษณะเป็นการลิดรอนต่อเสรีภาพทางวิชาการของศาสตราจารย์พวงทอง  ภวัครพันธุ์ เพื่อเป็นหลักประกันการใช้เสรีภาพในทางวิชาการต่องานวิจัย และให้กำหนดแนวทางและวางกรอบนโยบายโดยงดเว้นการกระทำในลักษณะการให้ระงับงานเขียนหรือการตีพิมพ์และเผยแพร่เอกสารทางวิชาการที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้วย”

นอกจากนี้ ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดคุ้มครองบุคลากรหรือนักวิชาการในการใช้เสรีภาพทางวิชาการตามที่พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และแนวปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคม หลักเสรีภาพทางวิชาการ หลักความเป็นอิสระ และหลักความเสมอภาค พ.ศ. 2564 กำหนดไว้

จากการสืบค้นข้อมูลของทีมข่าว พบว่า หนังสือในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทยเป็นหนังสือที่ถูกแปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2564 และเคยได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ จากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปีงบประมาณ 2566 และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2022 ของวารสาร Foreign Affairs 

ซึ่งนอกจากหนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ที่ถูกหน่วยงานความมั่นคงห้ามเผยแพร่แล้ว ที่ผ่านมาก็มีหนังสือจำนวนไม่น้อยที่รัฐไทยแบนห้ามจำหน่าย แจกจ่าย 

เช่น วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ถูกสั่งห้ามจำหน่าย โดยลงประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 เม.ย. 2549

หนังสือ “ค่อนศตวรรษ ประชาธิปไตยไทย ที่เต็มไปด้วยขวากหนาม” เขียนโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตำรวจสันติบาลได้เก็บยึดออกจากแผงหนังสือด้วยข้อกล่าวหาว่า ลงข้อความอันอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 

ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ได้สั่งระงับการขายหนังสือที่ชื่อว่า ‘A Coup for the Rich’ หรือ ‘การทำรัฐประหารเพื่อคนรวย’ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ โดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ลี้ภัยทางการเมือง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active