กสม. ยืนยัน ‘ไรเดอร์’ คือลูกจ้าง ไม่ใช่พาร์ทเนอร​์ธุรกิจ เร่งทวงผู้ประกอบการ คืนสิทธิสวัสดิการ

‘กสม.’ แถลงยืนยัน ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ มีลักษณะงานไม่ต่างจาก ‘ลูกจ้าง’ ไม่ใช่ ‘พาร์ทเนอร์ธุรกิจ’ อย่างที่ผู้ประกอบการอ้างเพื่อเลี่ยงจัดหาสวัสดิการให้ ชี้ เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทวงสิทธิสวัสดิการให้กับไรเดอร์โดยเร็ว ด้าน ‘นักวิชาการ’ ชี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ทันโลก แนะใช้ ‘กฎกระทรวง’ ควบคู่แก้ไขกฎหมายแม่ เพื่อรองรับงานในสังคมยุคใหม่ได้รวดเร็ว-ยืดหยุ่นมากขึ้น

29 มี.ค. 2567 สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยว่าทางหน่วยงานได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ถึงกรณีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจำนวน 4 ราย เปิดรับไรเดอร์เพื่อส่งพัสดุ-อาหารในลักษณะเป็น ‘หุ้นส่วน’ แต่ไม่ถือเป็น ‘พนักงาน’ หรือ ‘ลูกจ้าง’ เพื่อเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคม ทำให้ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำงานเอง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องแบบ ค่าเสื่อมสภาพรถ ซ้ำร้ายยังไร้การคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุจากบริษัท ซึ่งทางผู้ร้องเรียนมองว่า อาจเป็นวิธีเลี่ยงของนายจ้างเพื่อไม่ให้อยู่ภายใต้บทบังคับของบทบัญญัติของกฎหมายอันเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง

จากการตรวจสอบของทาง กสม. พบว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลว่าจ้างโดยไม่มีการคุ้มครองสิทธิหรือให้สวัสดิการตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ รวมทั้งไม่ได้กำหนดให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม และยังมีข้อสังเกตว่า แพลตฟอร์มมีอำนาจในการบังคับบัญชาไรเดอร์โดยตรง ออกกฎควบคุมได้เบ็ดเสร็จ ไรเดอร์ไม่มีสิทธิต่อรองและไม่มีส่วนร่วมในกำไรหรือขาดทุนของผู้ประกอบการ เป็นต้น การทำงานเช่นนี้จึงไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพาร์ทเนอร์ แต่เข้าลักษณะของการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 575 ของกฎหมายแพ่งฯ และมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

เมื่อพิจารณาตามแนวคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ต่างมองไปในทางเดียวกันว่า ความสัมพันธ์ของแพลตฟอร์มและไรเดอร์ เป็นลักษณะของผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ได้มีสิทธิและส่วมร่วมในระนาบเดียวกัน ดังนั้น แรงงานแพลตฟอร์มไม่ใช่แรงงานอิสระ แต่เป็น ‘ลูกจ้าง’ และการหลีกเลี่ยงการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สุภัทรา ในฐานะผู้ชี้แจงของ กสม. ให้ข้อเสนอแนะต่อทางผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงาน ดังนี้

  • ให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลดำเนินการให้ไรเดอร์ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าจ้าง ระยะเวลาทำงาน การกำหนดวันลา วันหยุด เป็นต้น
  • ให้กระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียจากการที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องปฏิบัติต่อไรเดอร์ในฐานะ ‘นายจ้างและลูกจ้าง’ และกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองให้การใช้แรงงานไรเดอร์เป็นไปด้วยความเป็นธรรม โดยอาจกำหนดกฎกระทรวงให้งานไรเดอร์ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในลักษณะเดียวกันกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานศึกษารูปแบบแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับในระยะยาว เช่น การแก้ไขนิยามของนายจ้าง ลูกจ้างและสัญญาจ้าง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และนิยามการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างงาน ที่เปลี่ยนแปลงไป

‘นักวิชาการ’ ชี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ทันโลก

ความเห็นของทาง กสม. สอดคล้องกับข้อเสนอของ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยให้ความเห็นไว้ว่า ปัจจุบันมีงานรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานอิสระ ฟรีแลนซ์ ไลฟ์สตรีมเมอร์ ฯลฯ และด้วยนิยามของ ‘อาชีพ’ ที่หลากหลายมากขึ้นอาจทำให้คน 1 คนอาจทำงานได้มากกว่า 1 งาน แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและการประกันสังคมของไทยยังปรับตัวไม่เท่าทัน

“ตอนนี้กฎหมายตามไม่ทันแล้ว ถ้าสังเกตตอนนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานแค่ในภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม แต่งานใหม่ ๆ ไม่มีการคุ้มครองเพิ่มเติมเลย เราอาจจะต้องร่างกฎหมายคุ้มครองในภาพใหญ่ ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และถ้ามีงานรูปแบบใหม่ขึ้นมา ก็หันมาใช้กลไกการออกกฎกระทรวงที่มีความรวดเร็วกว่าควบคู่กันไป เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

ในประเด็นของสิทธิสวัสดิการและอำนาจในการต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์ม กฤษฎา ให้ข้อสังเกตว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มนี้เริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยค่าตอบแทนที่เย้ายวนและชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ทำให้มีแรงงานจำนวนมากที่ซึ่งตกงานอยู่ในขณะนั้น แห่เข้ามาทำงานแพลตฟอร์มมากขึ้นเพราะเล็งเห็นรายได้ดี แต่นานวันเข้า ค่ารอบที่ทางแพลตฟอร์มให้ถูกปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จนทำให้แรงงานจะต้องทำงาน 14 – 16 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าแรงระดับเดียวกับที่ได้มาก่อนหน้านี้

กฤษฎา มองว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มพยายามจะหาคนที่อ่อนแอที่สุดเข้ามาทำงานให้ ด้วยแรงงานแพลตฟอร์มจำนวนไม่น้อยเป็นผู้มีประวัติด้อย มีประวัติอาชญากรรม บางคนมีภาวะทุพพลภาพบางส่วน หรือบางคนมีอายุเกินวัยรับสมัครเข้าทำงาน ทำให้ไม่สามารถเลือกทำงานประจำได้หรือมีตัวเลือกของงานที่น้อย จึงต้องยินยอมทำงานไรเดอร์ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่เพียงพอ แต่ด้วยงานที่ต้องเสี่ยงภัยบนท้องถนน ทนกับแรงกดดันจากนายจ้างและลูกค้า จึงจำเป็นมากที่ภาครัฐต้องเข้าคุ้มครองและออกแบบกฎหมายให้ทันระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นแรงงานจะไม่อาจเข้าถึง ‘งานที่ดี’ ได้

“ธุรกิจแพลตฟอร์มมีการลดค่ารอบลงมาตลอด จนทุกวันนี้ต่ำมาก ถ้ามองในเชิงวิพากษ์ จะพบว่า แพลตฟอร์มพยายามที่จะเค้นหาคนที่ ‘อ่อนแอที่สุด’ เข้ามาทำงาน คนที่ไม่มีโอกาส หรือมีศักยภาพในการหางานที่ดีกว่านี้ได้ ในช่วงแรกจึงมีการให้ค่าแรงสูง ๆ โฆษณาว่าเป็นงานอิสระ เพื่อให้คนสนใจเข้าทำงาน สุดท้ายจะค่อย ๆ ปรับลดค่าแรง เพื่อเฟ้นหาคนที่ยอมกับค่าแรงเช่นนี้ได้”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active