ยกกรณี “ซาร่า” ช่องโหว่จับกุม-สวัสดิภาพ สุนัขจรจัดไทย

มูลนิธิวอชด็อกฯ และภาคประชาชน แจ้งความนายกเทศบาลตำบลบางบาลกับเจ้าหน้าที่รวม 6 คน ข้อหาทารุณกรรมสัตว์

ภาพ มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์

มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ และภาคประชาชนเข้าแจ้งความ ดำเนินคดีกับ นายกเทศบาลตำบลบางบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับเจ้าหน้าที่รวม 6 คน ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 20  หลังจากนายกเทศมนตรีตำบลบางบาล ยอมรับว่า “ซาร่า” สุนัขเพศผู้อายุ 4 ปี ที่กัดเจ้าของซึ่งเป็นคุณยายวัย 71 ปี ขณะมาหยิบชามข้าว 

ซึ่งระหว่างการจับกุมเพื่อนำมายังเทศบาล ซาร่าตายขณะนำไปเข้ากรง ด้วยความตกใจ เจ้าหน้าที่จึงนำซาร่าใส่กระสอบไปทิ้งข้างทาง แต่กลับมารายงานนายกฯ ว่าหมาหลุดหนีไป เพราะกลัวความผิด ยอมรับว่าสาเหตุที่ “ซาร่า” ตาย เพราะการจับผิดวิธี เนื่องจากเทศบาลไม่มีความพร้อมในการจับสุนัข เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียน

จากนั้น วัลลภ สุขเฉลิมศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล และเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ลงพื้นที่ไปค้นหาซากซาร่า บริเวณ จุดที่ได้รับแจ้งว่านำมาทิ้ง ไว้ริมถนน กลางทุ่งมหาพราหมณ์ ตำบลมหาพราหมณ์ พบซากโครงกระดูก สัตว์ และบริเวณริมชายน้ำในป่าละเมาะ จึงได้เก็บนำมาเป็นหลักฐาน นำส่งพนักงานสอบสวน

ร้อยตำรวจเอก ศรีสวัสดิ์ โพนเฉลียว พนักงานสอบสวน สภ.บางบาล ชี้แจงว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน จากภาพข่าว สื่อโทรทัศน์และจากมูลนิธิต่าง ๆ  พร้อมจะเชิญเจ้าหน้าที่เทศลบาลทั้ง 4 คน มาสอบปากคำ และรับทราบข้อกล่าวหา เบื้องต้นจะตั้งข้อหา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์

ภาพ มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์

จากเหตุการณ์ที่เกิดข้อถกเถียง นำมาสู่การตั้งคำถามถึงหน้าที่ของเทศบาล เช่น การใช้วิธีการที่รุนแรงเกินไป โดยใช้เชือกคล้องคอซึ่งอาจทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต การขาดความรู้และทักษะที่เหมาะสมในการจับกุมสัตว์อย่างปลอดภัย และการขาดการควบคุมกำกับดูแลที่ดีจากผู้บริหารหรือไม่ แต่ส่วนหนึ่งเทศบาลก็ต้องช่วยประชาชน รวมถึงความรับผิดชอบของผู้เลี้ยง ซึ่งล่าสุดหัวหน้ากู้ภัยสมาคมร่วมใจกู้ภัยเมืองเลย แจ้งงดให้บริการจับสุนัขและแมว ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตามทุกกรณี เพราะกลัวผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่มีโทษค่อนข้างรุนแรง

ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองสัตว์ในประเทศไทยที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลี้ยงดู ขนส่ง และประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ รวมถึงกำหนดโทษทางอาญาต่อการทารุณสัตว์ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่เคร่งครัดนัก เนื่องจากปัญหาการขาดบุคลากร งบประมาณ และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

ด้านเพจ มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ได้โพสต์บทเรียนจากความตายของซาร่า ว่า จะเป็นคุณูปการช่วยชีวิตหมาจรทั้งประเทศ เพราะจะไม่มีใครกล้าที่จะจับหมาจรไปปล่อยทิ้งบ่อขยะหรือไปปล่อยทิ้งในป่าอีกต่อไป หรือแม้แต่จะจับไปกักขังในกรง ปล่อยให้อดอยาก กัดกันตาย ในคอกพักพิงที่ไม่มีสวัสดิภาพสัตว์ก็ไม่ได้ 

ทั้งนี้ประชาชนคนให้ข้าวหมาจร คนรักสัตว์ทั่วประเทศ พบเห็น เทศบาล อบต.จับหมาแมวจรไปปล่อยทิ้ง สามารถเข้าแจ้งความทารุณกรรมสัตว์ได้ทันทีที่สถานีตำรวจในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งการจับสัตว์ด้วยวิธีที่ผิดรวมถึงการจับสัตว์ไปปล่อยทิ้งในที่ที่ไม่มีสวัสดิภาพสัตว์ นับเป็นการทารุณกรรมสัตว์ และเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 20 แห่งกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมฯ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active