เปิดเทอม ยังพบครูกล้อนผมเด็ก-จับเข้าแถวตากแดด กมธ.ศึกษาจี้ ศธ.ปรามด่วน

นักเรียนน่วมหลังเปิดเทอม กฎโรงเรียนรุมเร้า ครูจับกล้อนผม ยังต้องเข้าแถวกลางแดด แม้มีประกาศ ศธ. กำชับไม่ให้ละเมิดสิทธิ ด้าน กมธ.การศึกษาจี้ ศธ.ให้ปรามอำนาจนิยมในสถานศึกษาโดยด่วน

หลังจากเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ได้ราว 1 สัปดาห์ บนหน้าสื่อพบเหตุครูละเมิดสิทธิเหนือร่างกาย จับเด็กกล้อนผมเนื่องจากทรงผมผิดระเบียบ มีการออกกฎระเบียบบังคับยี่ห้อรองเท้า ไปจนถึงการบังคับเข้าแถวกลางแดดเพื่อเคารพธงชาติ ซึ่งขัดจากประกาศทางกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นย้ำให้ทุก รร. คำนึงถึงสิทธิเด็ก จิตใจ และความปลอดภัยของเยาวชนเป็นหลัก ทาง The Active ได้สอบถามโดยตรงไปยัง ปารมี ไวจงเจริญ สส. พรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาและคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ. การศึกษา) สภาผู้แทนราษฎร ถึงความเห็นในประเด็นดังกล่าว

File:BRR moring.jpg
แฟ้มภาพ: นักเรียนเข้าแถวหน้าเสาธงโรงเรียน

ปารมี ยืนยันว่า นักเรียนทุกคนมีสิทธิเหนือเรือนร่างกายของตัวเองและไม่มีใครจะละเมิดสิทธินี้ได้ โดยเฉพาะผู้เป็นครูจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะครูควรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองนักเรียน และอย่างน้อย หากมองว่านักเรียนไว้ทรงผมผิดระเบียบจริงก็ไม่ควรนำกรรไกรไปกล้อนผม เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิด พ.ร.บ.วินัยครู และความผิดทางกฎหมายอาญา โรงเรียน ครู และนักเรียนจึงควรพูดคุยกันอย่างเปิดใจและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

ทั้งนี้ ปารมี เข้าใจดีว่าสิทธิเสื้อผ้าหน้าผมของนักเรียนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยแนวคิดของผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่กล้าเปิดเสรีให้กับนักเรียน ผสมกับนโยบายเดิมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนก่อน ตรีนุช เทียนทอง ที่ออกประกาศให้แต่ละโรงเรียนมีอำนาจในการจัดการกฎระเบียบด้วยตัวเอง ซึ่งหลายโรงเรียนสะท้อนมายังปารมีว่า นี่เป็นการผลักภาระให้กับสถานศึกษา เพราะแม้โรงเรียนอยากเปิดเสรีให้กับนักเรียน ก็เกรงผู้ปกครองจะไม่เข้าใจและต่อต้านกลับมา การออกเป็นคำสั่งชัดเจนจากส่วนกลางให้ ‘เสรีทรงผมและเครื่องแต่งกาย’ จะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิได้เห็นผลกว่า

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวสนับสนุนการกระจายอำนาจ เชื่อว่าแต่ละโรงเรียนควรได้จัดการตนเอง แต่การแก้ไขปัญหาเรื่องของการละเมิดสิทธิเหนือร่างกายและการย้ำสิทธิเสรีภาพนักเรียนอาจมีความจำเป็นต้องมีการสั่งการจากกระทรวงอย่างเป็นรูปธรรม”

ปารมี ไวจงเจริญ

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้มีการแก้ไขคำสั่งที่เคยมีมาในอดีตเช่น การยกเลิกครูนอนเวร ประกาศให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด เป็นต้น แต่มาตรการเหล่านี้กลับไม่เกิดประสิทธิภาพนัก เนื่องจากหลายโรงเรียนยังยึดการทำงานในลักษณะเดิมอยู่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น

ปารมี ยกตัวอย่างถึงเรื่องการผ่อนผันผ่อนปรนเครื่องแบบชุดนักเรียนที่ทาง ศธ. เพิ่งประกาศออกมา สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีความตั้งใจในการคืนสิทธิ์การแต่งกายให้กับนักเรียนอย่างแท้จริง เพราะหนึ่งเป็นเพียงการผ่อนปรนให้แต่ละสถานศึกษาพิจารณาด้วยตัวเอง และสองเป็นเพียงการออกบันทึกข้อความเท่านั้นไม่ใช่คำสั่งจากกระทรวงดังนั้นสถานศึกษาจึงไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

“เราอาจจะต้องพูดถึงเรื่องการขจัดอำนาจนิยมไปอีกหลายปี เราอาจต้องเรียกร้องเรื่องสิทธิทรงผมไปอีก น่ากังวล เพราะส่วนหนึ่งสังคมและผู้ปกครองบางส่วนก็ยังเชื่อในคุณค่าแบบเดิม ดังนั้น การสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธินั้นจึงจำเป็นมากต่อการเปลี่ยนแปลง”

ปารมี ไวจงเจริญ

ทั้งนี้ กมธ. การศึกษา จะเตรียมผลักดันเรื่องของการขจัดปัญหาอำนาจนิยมภายในโรงเรียนผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ใกล้จะนำเข้าสภาในเร็ว ๆ นี้ ประกบคู่กับฉบับของทางฝั่งรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ส่วนประเด็นที่มีโรงเรียนนำนักเรียนเข้าแถวกลางแดดตอนเช้าช่วงเปิดเทอมทางคณะกรรมาธิการการศึกษาได้เรียกตัวแทนของโรงเรียนพูดคุยทำความเข้าใจและกำชับมิให้มีการกระทำผิดซ้ำอีก หากเกิดสถานการณ์คล้ายเดิมขึ้นจะหารือไปสู่มาตรการการลงโทษอีกทีหนึ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active