ตัวแทน กมธ.ยกร่างกฎหมายสัดส่วนพรรคการเมือง รัฐบาล และภาคประชาชน เห็นพ้องเป้าหมายเร่งดันร่าง กม.เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจสังคม โดยเฉพาะ 3 ประเด็นหลัก ที่เป็นข้อกังวลและความท้าทายต่อร่างกฎหมาย
วันนี้ (10 ส.ค.2567) ในโอกาสเดือนแห่งชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ การยอมรับในสิทธิและศักยภาพของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และมีอยู่ทั่วโลก เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2567 ในเวที Policy Forum “ เส้นทาง ความหวัง กฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของไทย “ ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ Policy watch Thai PBS The Active ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย
โดยมีผู้ร่วมเสวนา เป็นตัวแทนที่ปรึกษาและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สัดส่วน ภาคประชาชน พรรคการเมือง และรัฐบาล รวมถึงผู้อาวุโสในสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ดำเนินเวทีโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS
เวทีเริ่มต้นด้วยการฟังเสียงของตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ได้เข้าไปมีบทบาทในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.…เป็นโอกาสการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง
“ ย้อนไปในวันที่สภามีการโหวตรับหลักการร่างกฎหมายนี้ มี สส.เต็มไปหมด และมองมาที่พวกเรา ตอนอธิบายความสำคัญที่ต้องมีกฎหมายนี้เรารู้สึกขนลุกมาก เพราะคนเหล่านี้เขาสามารถพาประเทศไปทิศทางใดก็ได้ เขาสนับสนุนเรา ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและมั่นใจว่า ในประเทศนี้ มีคนที่มองเห็น และไม่ได้มีแค่พวกเรา “
วิทวัส เทพสง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนพีมูฟ
“ มีโอกาสได้เสนอกฎหมายโดยประชาชน และมีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมาธิการ มีส่วนสำคัญ ไม่ใช่แค่เราที่เสนอกฎหมาย แต่เรามีโอกาสได้เข้ามาพิจารณากฎหมายด้วย ถือเป็นโอกาสและส่วนร่วมจริงๆ “
ศักดา แสนมี่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วน สชพ.
ในเวทียังเห็นพ้องกันถึงความสำคัญที่ต้องมีกฎหมายนี้ เพราะต้องยอมรับว่า สังคมไทยมีความหลากหลายของผู้คน ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับถูกละเมิดสิทธิ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิทธิในที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย และข้อจำกัดต่อส่วนร่วมการดูแลจัดการทรัพยากร รวมถึงสิทธิชุมชนดั้งเดิม
“ คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยต้องคุยกันให้ชัดเจน เพราะมีเลขบัตรประชาชน ทะเบียน อยู่อย่างถูกต้อง แต่นโยบายป่าไม้บอกเขาไม่ถูกต้อง การจะทำระบบสาธารณูปโภคอะไร ที่สำคัญต่างๆบอกว่าผิดกฎหมาย จึงต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่สามารถอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ จึงต้องกันพื้นที่ออกมาให้ถูกต้อง เพื่อเกิดความเท่าเทียม”
สมบัติ ยะสินธุ์ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์
“ กฎหมายฉบับนี้โดยส่วนตัวผมมองว่า มันแสดงการยอมรับความเป็นมนุษย์หลากหลายในประเทศไทย ไม่ได้นิยามของคำว่าคนไทยเพียงอย่างเดียวในประเทศไทย และในฐานะที่ตนเองมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ การยอมรับในชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง มันเป็นกุญแจดอกเล็กๆ ปลดล็อกปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กม.ฉบับนี้ถือว่าเปิดการยอมรับว่าประเทศไทยมีชาติพันธุ์มลายูอยู่ “
จตุรนต์ เอี่ยมโสภา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย
สมบัติ ยะสินธุ์ จตุรนต์ เอี่ยมโสภา
“ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หัวใจสำคัญร่างกฎหมายฯ”
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า เรื่องคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บนหลักสากลจะคิดอยู่ 2 เรื่อง คือภูมิปัญญาที่มนุษย์ อยู่ร่วมกับธรรมชาติในมิติแห่งจิตวิญญาณ คือชุมชนกับภาครัฐบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่มีสิทธิบริหารจัดการป่า การจัดการร่วมต้องเป็นการจัดการใหม่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องปรับหลักคิด เมื่อรักษาแล้ว ต้องนึกถึงการใช้ทรัพยากรบนหลักความยั่งยืนด้วย
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญมากและได้รับการร้องเรียนจากลุ่มชนชาติพันธุ์ เรื่องผลกระทบที่ดินที่อยู่อาศัย ที่ทำกินทั้งบนเขาในทะเล เป็นเรื่องสำคัญมากว่าต้องออกมาให้ดี ให้มีการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์อย่างครอบคลุม
มานพ คีรีภูวดล กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนพรรคก้าวไกล ระบุว่า พื้นที่ที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คือเครื่องมือใหม่ที่ลดความขัดแย้งในสังคม เรากำลังทำเครื่องมือใหม่ลดความขัดแย้งกันระหว่างรัฐและชุมชนในพื้นที่เขตอุทยานฯประกาศครอบทับชุมชน ก็พิสูจน์กันไปเลยว่า ใครดูแลพื้นที่ได้ดี ชุมชนชาติพันธุ์ไหนดูแลทรัพยากรได้ดี ก็ต้องมีการดูแลคุ้มครอง
เตือนใจ ดีเทศน์ ปรีดา คงแป้น มานพ คีรีภูวดล
“ 3 ข้อกังวล ความท้าทาย ต่อ ร่างกฎหมายชาติพันธุ์”
ในเวทียังได้มีการเปิดเผยถึงประเด็นที่เป็นข้อกังวลที่เป็นข้อทักท้วงจากบางหน่วยงาน
ตั้งแต่ 1.นิยามคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ที่กังวลกระทบความมั่นคง โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติคำว่าชาติพันธุ์ จึงครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ทางสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ชี้แจงและมองถึงเรื่องการยอมรับตัวตนความหลากหลายของผู้คนในสังคมไทย และประโยชน์ต่อการส่งเสริมกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในระดับสากล
2.ประเด็นกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่กังวลว่าจะเป็นองค์กรแยกตัวเฉพาะ แต่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองยืนยันว่า นี่จะเป็นกลไกที่เป็นช่องทางให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการเสนอปัญหา ทางออกในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปจนถึงส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศ
3.ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของร่างกฎหมาย อย่างพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกตั้งข้อกังวลเรื่องการเป็นพื้นที่ปกครอง หรือมีสิทธิพิเศษ ทางกรรมาธิการฯต่างยืนยัน และพยายามทำความเข้าใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีสิทธิพิเศษใดให้กลุ่มชาติพันธุ์ แต่จะเป็นการคุ้มครองเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรม ไปจนถึงการสนับสนุนศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ที่มีความโดดเด่น และเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศ ส่วนร่วมในการพัฒนา ดูแลจัดการทรัพยากร
“ ผมคิดว่า ล่าสุดที่อธิบดีกรมอุทยานฯออกมาแถลงว่า กฎหมายนี้ เป็น 1 ใน 2 กฎหมายที่จะทำให้เกิดการปล่อยผี บุกรุกป่าครั้งใหญ่ นี่เป็นอคติครั้งใหญ่ที่สั่งสมมานานเกินไป สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้ก้าวข้ามอคตินี้ไป ด้วยการหยิบรูปธรรมกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านการเจรจาพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง ดังนั้นจึงหวังร่างกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสื่อสารและผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เข้าใจด้วย “
ไมตรี จงไกรจักร ทีปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.)
“ ต้องอาศัยพลังทุกองคาพยพ ร่วมผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ให้สำเร็จ “
จักรภพ เพ็ญแข ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้มาร่วมกิจกรรมเนื่องในการรณรงค์เฉลิมฉลองกฎหมายฯ และการรณรงค์เนื่องในเดือนชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนเริ่มเวทีเสวนา กล่าวว่า ทางประธานฯและคณะกรรมาธิการฯทำงานหนักมาก ในการผลักดันทั้ง 2 ด้าน ทั้งการเดินหน้าเพื่อให้เกิดการคุ้มครองชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ และอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายความมั่นคงของไทย เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ก็ต้องทำความเข้าใจ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ และ พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้เป็นการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิเหนือคนไทย แต่ให้ขึ้นมาเท่าเทียมกัน ตรงนี้ต้องลงรายละเอียดทั้งการใช้ภาษากฎหมาย และหน่วยงานบางหน่วยเข้าไปเกี่ยวข้องพูดคุยกันมากขึ้น แก้ไขความเห็นที่ไม่ตรงกันต่างๆให้กฎหมายเดินหน้า ออกมาได้
“ เรื่องนี้ ต้องอาศัยพลังการเมืองค่อนข้างเยอะ เนื่องจากว่า ยังมีผู้กังวลในเชิงความมั่นคง ในเชิงสิทธิต่างๆพอสมควร แต่ด้วยความที่จุดเริ่มต้นในกมธ.วิสามัญฯพิจารณา กม.นี้ พูดคุยกันค่อนข้างเรียบร้อย และสามารถประสานทำความเข้าใจในส่วนความเห็นไม่ตรงกันได้ค่อนข้างดี เชื่อว่าถึงวาระ 2 -3 จะไม่ ขลุกขลักมาก คงใช้เวลาไม่มาก “
จักรภพ เพ็ญแข ที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์
จักรภพ ยังย้ำว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ เพราะ สส.เพื่อไทยหลายจังหวัดมีพี่น้องชุมชนชาติพันธุ์ที่ต้องดูแล นี่ไม่ใช่งานพรรคแต่เป็นงานหลัก เชื่อว่า สส.เพื่อไทย และพรรคการเมืองต่างๆจะได้พิจารณา เดินหน้าไปกับเรา
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มีหลายประเด็น ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ทำหน้าที่ได้ดี สำคัญตั้งแต่นิยามที่เป็นข้อถกเถียงกันว่า เป็นเชื้อชาติ เป็นชนเผ่า หรือชาติพันธุ์
“ แต่เราต้องยอมรับความหลากหลายผู้คนในประเทศเรา ที่เป็นจุดเด่น จุดแข็ง เป็นประโยชน์ ไม่ได้เป็นจุดอ่อนประเทศไทย อย่างที่เราทำได้ใน กม.สมรสเท่าเทียมมาแล้ว “
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล
พิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมองจุดแข็ง ต้องมองการเติมเต็มความเป็นไทย ไม่ลดความเป็นชาติพันธุ์ เช่น ไม่ยอมให้เขาพูดภาษาของเขาเอง ไม่แยกวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อให้เขามีสัญชาติ ต้องให้เข้าถึงสิทธิ ทั้งการศึกษา ที่ดิน สาธารณสุข และเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญ กับเศรษฐกิจชาติพันธุ์อันนี้ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม
ปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว มองว่า ตนเองก็เป็นลูกครึ่งเพราะคุณแม่เป็นไทใหญ่ และแม่ฮ่องสอน ล้วนแล้วแต่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาก พร้อมจะสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองเข้าถึงสิทธิต่างๆ ทุกมิติ แต่อาจมีบางประเด็นเป็นข้อกังวลอยู่ ก็ต้องตกลงและทำความเข้าใจกัน โดยทางพรรคพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายนี้
“ อนาคต ความหวัง สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนเกี่ยวกับกฎหมายชาติพันธุ์ “
อภินันท์ ธรรมเสนา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า มี 3 เรื่องที่ต้องทำจากนี้ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพี่น้องชาติพันธุ์ คือ 1.พี่น้องชาติพันธุ์จะต้องลุกขึ้นมา ทำความเข้าใจกฎหมายนี้ สื่อสารกฎหมายนี้ ให้พี่น้องพวกเราทุกคนเข้าใจหลักการและสาระสำคัญกฎหมายนี้
ส่วนที่ 2 เมื่อมีกฎหมาย เปิดโอกาสให้พวกเราแล้ว ควรจะเป็นโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงและต้องแสดงศักยภาพของตนเองมากขึ้น
ส่วนที่ 3 คือ กลไกที่เปิดให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีส่วนร่วม ก็คือการมีสภากลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง อยากให้รักษากลไกนี้ไว้อย่างยึดมั่นในหลักการช่องทางการมีส่วนร่วม
อภินันท์ ธรรมเสนา ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์
ด้าน ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รู้สึกมีความหวังว่า สิ่งที่เราฝันเราปรารถนามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และขับเคลื่อนกันมาหลายทศวรรษกำลังใกล้สู่ความเป็นจริง ตอนนี้อาจจะยังเป็นความฝันอยู่ สิ่งที่เรารู้สึก คือมันเป็นสิ่งที่เปิดให้พี่น้องชนเผ่า ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง