นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ ย้ำเคลื่อนไหวเรื่องนี้มานานแต่ไม่ถึงไหน เตือนนักสร้าง เสพคอนเทนต์ แยกแยะเนื้อหา พร้อมชื่นชม พม. เร่งเยียวยา แต่การผลักดันสิทธิคนพิการยังอีกมาก
29 ธ.ค.67 จากกระแสข่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแสดงความเสียใจ ต่อ คุณยายของ “แบงค์ เลสเตอร์” ที่สูญเสียหลาน โดยเบื้องต้นทราบว่า “แบงค์” ถือบัตรคนพิการ ที่ออกโดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)
พร้อมติง คนหาประโยชน์จากคนพิการ ว่า เป็นคนพิการของสังคม และเป็นคนที่ทำให้สังคมไทยกำลังพิการ และเป็นตัวถ่วงสังคม พร้อมวอนให้หยุดการกระทำ
“ผมอยากให้กรณีของ แบงค์ เลสเตอร์ เป็นกรณีสุดท้าย เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่กรณีนี้คนเดียว แต่เชื่อว่า มีอีกหลายต่อหลายหลายคน ที่พิการด้านสติปัญญา คล้ายๆ กัน แบบนี้ โดนใช้เป็นเหยื่อ คนบางกลุ่มที่หวังหาประโยชน์ หวังหารายได้ผลประโยชน์ส่วนตัว จากความพิการของคนอื่น… วอนสังคมว่า ในช่วงปัจจุบันนี้ การทำคอนเทนท์มีรายได้เป็นกระแสที่สำคัญ ใครก็อยากทำคอนเทนท์ แต่ขอความกรุณาว่า อย่าเอาความพิการมาหากินแบบนี้”
The Active สัมภาษณ์ ประเด็นนี้ กับ ซาบะ- มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ แม้จะชื่นชม พม. ที่มาเร่งเยียวยา ช่วยเหลือ แต่มองว่าในภาพใหญ่การขับเคลื่อนสิทธิคนพิการ ยังห่างไกลสิ่งที่คนพิการควรจะได้รับอีกมาก
จากปรากฎการณ์ของ “แบงค์ เลสเตอร์” คุณซาบะ ระบุว่า การเอาคนพิการมาเล่นตลกคาเฟ่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย ต้องยอมรับว่า “บางกลุ่มก็ขำ บางกลุ่มก็ไม่ได้ตลกด้วย”
สิ่งที่เครือข่ายคนพิการ พยายามขับเคลื่อนมาตลอด คือ การพัฒนาคุณภาพของคนในสังคม ให้สามารถแยกแยะได้ว่าเนื้อหาแบบใด เหมาะสม หรือ ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
จึงจะเห็นได้ว่า พอเกิดเหตุการณ์เป็นข่าว ก็เป็นกระแสชั่วคราว และเตือนได้เพียงว่าต้องทำคอนเทนต์กันอย่างมีสติ เขาย้ำว่า การปฏิบัติกับคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาคนอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่กับ คนพิการ ความคาดหวังที่จะเห็นการจัดการเรื่องเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่ พม. แต่เป็นเจตน์จำนงของรัฐบาลที่จะออกมาแสดงความจริงในการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่าง เรื่อง “สิทธิคนพิการ” จะเห็นว่าปัจจุบันยังเต็มไปด้วยปัญหา เช่น รถไฟทางคู่ที่กำลังสร้างทั่วประเทศ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก สะพานข้ามชานชลา ที่ไม่ครบถ้วนสำหรับคนพิการ
จึงต้องการเห็น ทุก กระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้เห็นภาพของ “การพัฒนาคนอย่างยั่งยืน” โดยช่วยให้คนพิการแต่ละกลุ่มเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
“การพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน ไม่ยาก แต่ต้องจริงใจแก้ไข และต้องเป็นบทบาทของทั้งรัฐบาลไม่ใช่แค่ พม.”
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 ให้ประกัน “เอ็ม เอกชาติ”
ขณะที่วันนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งที่นายเอกชาติ หรือเอ็ม ผู้ต้องหาคดีความผิดต่อชีวิต ประมาท ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นฝากขังโดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วข้อหาที่ผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดเป็นการกระทำโดยประมาทไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและให้การรับสารภาพ แม้พนักงานสอบสวนจะคัดค้านการปล่อยชั่วคราวแต่ผู้ต้องหามีภูมิลำเนาที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
อีกทั้งผู้ต้องหาได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ยายของผู้ตายในเบื้องต้นแล้ว โดยชำระเงินปิดหนี้ให้ยายผู้ตายเป็นเงิน 288,397 บาท และอยู่ระหว่างเจรจาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้ตายอีก เชื่อว่า ผู้ต้องหาไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ตีราคาประกัน 200,000 บาท และให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง (EM) กับผู้ต้องหาด้วย โดยให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดจันทบุรี) พิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อ โดยวันนี้ ผู้ขอประกันตัว นำเงินสด 200,000 บาท วางประกันต่อศาลเรียบร้อยแล้ว