ลุ้น โหวตร่างกฎหมายชาติพันธุ์ วาระสอง 8 ม.ค. นี้

‘ปธ.กมธ.ร่างฯ‘ เชื่อ สส. จะสนับสนุนและโหวตผ่านร่างฯ เพราะทบทวนข้อห่วงกังวลและข้อเสนอครั้งก่อนอย่างรอบคอบแล้ว ฝากประชาชน สังคม และกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ร่วมจับตาและให้กำลังใจการพิจารณารอบนี้ 

วันนี้ (4 ม.ค. 68) ปิยะรัฐชย์   ติยะไพรัช สส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เปิดเผยกับ The Active ว่า ในวันที่ 8 ม.ค. นี้ สภาผู้แทนราษฎรมีวาระสำคัญ ในการพิจารณาร่างกฎหมายชาติพันธุ์ วาระสอง

หลังจากเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567  สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในวาระ 2 และท้ายที่สุดสภาฯ มีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…กลับไปพิจารณาในข้อห่วงกังวล และคำแนะนำของ สส. อย่างเรื่องของกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องการทำงานของกลไกนี้ ทั้งเรื่องขนาด โครงสร้าง และงบประมาณ

จึงได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังมีประเด็นข้อห่วงใยในร่างฯ ฉบับนี้ เพื่อหารือรับฟังความเห็นต่อข้อกังวล หรือความห่วงใย และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ที่สุด 

ในส่วนของบทบัญญัติเกี่ยวกับสภากลุ่มชาติพันธุ์นั้น คณะกรรมาธิการได้รับข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร มาพิจารณาอย่างรอบด้านจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะปรับชื่อเป็น สภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามชื่อร่างกฎหมาย มีลักษณะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมาร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

“คู่ขนาน กับกลไกคณะกรรมการฯในร่างกฎหมาย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้เสียงหรือส่วนร่วมจองพี่น้องชาติพันธุ์จะไม่ตกไปแน่นอน”

ย้ำ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เกิดส่วนร่วมพัฒนา ยกศักยภาพทุนทางวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนทั้งประเทศ

ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังย้ำว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นร่างกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ แต่จะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีวัฒนธรรม และให้พวกเขาที่อยู่ห่างไกลและมีความเปราะบาง ได้เข้าถึงสิทธิและโอกาสเท่าเทียมคนในสังคม

ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมาย “คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม” ตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 โดยมีหลักการ 3 ประการ

1) คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของรัฐ

2) ส่งเสริมศักยภาพ โดย “ส่งเสริมศักยภาพ” สร้างกลไกการมีส่วนร่วมให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็น “หุ้นส่วน” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

3) สร้างความเสมอภาค ด้วยการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมี “ศักดิ์ศรี” ให้หลักประกันความเท่าเทียมที่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาพเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“และขอย้ำอีกครั้งว่า การมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือจะเป็นการให้เกิดการปกครองตนเอง แต่พื้นที่คุ้มครองฯ จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคมไทย ได้นำทุนทางวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศักยภาพมาหนุนเสริมการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้ง การดูแลรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม องค์ความรู้ภูมิปัญญารับมือภัยพิบัติ องค์ความรู้สมุนไพร ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ความมั่นคงทางอาหารที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากสู่เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมสู่ซอฟต์พาวเวอร์ ล้วนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ”

ชวนสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมจับตา เชื่อรอบนี้ สส.หนุนร่างโหวตผ่านวาระ 2

ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่น และคาดหวังว่า สภาผู้แทนราษฏรทั้ง 500 คน จะเห็นด้วยและสนับสนุนโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้เพื่อเป็นก้าวแรกที่เราจะเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ในการคุ้มครองส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์และสังคมพหุวัฒนธรรม

“เชื่อมั่นว่า กรรมาธิการฯ แต่ละพรรค ได้ไปทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคกันหมดแล้ว  ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องตกลงร่วมกัน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคประชาชน เราหวังให้กฎหมายนี้คลอดออกมาได้สำเร็จ  และเราจะทำให้เป็นก้าวแรก ขั้นแรกที่สร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องชาติพันธุ์ทั่วประเทศ”

ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังฝากถึงสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์ทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ จับตาและให้กำลังใจกับกรรมธิการ และ สส. ที่จะร่วมโหวตกม.นี้  พร้อมย้ำว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือภาคใดภาคหนึ่งทำ แต่กฎหมายนี้ยังรวมถึงภาคประชาชนด้วย เชื่อมั่นว่า พี่น้องประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์  จะได้รับฟังข่าวดีในวันที่ 8 ม.ค. นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active