ส่องกระบวนการคิด เยาวชนร่วมวาดภาพรัฐธรรมนูญ

คนรุ่นใหม่ขอพื้นที่ออกแบบรัฐธรรมนูญ ต่อเติมจินตนาการประเทศไทยในฝัน WeVis หวังคนรุ่นใหม่แสดงความคิดทางการเมืองเต็มที่ ตัวแทนเยาวชน ชี้ อยากได้รัฐธรรมนูญที่ยุติธรรม ประชาชนสามารถถกเถียงได้

สถานการณ์การเมืองไทยในเวลานี้ มีความเคลื่อนไหวทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเตรียมพิจารณาการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ถือเป็นการเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น

วันนี้ (8 ก.พ. 68) ที่ TIJ Common Ground  มีกิจกรรม Youth Dialogue on Dream Constitution เติมจินตนาการ ต่อความฝันให้ประเทศไทย โดยเป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนขบคิดและร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดหน้าตาของอนาคตประเทศไทย และให้เยาวชนได้มีโอกาสก้าวเข้ามาเพื่อริเริ่มวงสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองร่วมกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ตั้งประเด็นชวนคิด แสดงความต้องการในมุมของตนเอง พร้อมถกความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย เสมือนบันไดขั้นแรกในการเตรียมความพร้อมทั้งด้านเนื้อหาและประสบการณ์เพื่อนำไปสื่อสารกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมต่อไป

โดยมีกิจกรรมหลัก คือ Lego Serious Play: วาดภาพชีวิตในฝัน, แก้โจทย์เพื่อกติกาในฝัน ใช้เลโก้ วาดภาพในฝัน ผ่านการเล่น โดยให้แต่ละกลุ่มออกมาอธิบาย วาง common ground วาดภาพอนาคตแบบ collective และ deliverables: narrative 4 รูปแบบจาก 4 กลุ่ม และประเด็นข้อเสนอหรือหลักการที่มีร่วมกัน

ตัวแทนผู้ร่วมจัดอย่าง ณัฐกานต์ อมาตยกุล Project Lead จาก WeVis บอกว่า สิ่งที่จะรวบรวมและนำไปใส่ในแพลตฟอร์ม Dream Con เพื่อให้ดูว่าเสียงจากเยาวชน แม้จะเป็นคิดเห็นทางการเมืองจากคนรุ่นเดียวกัน แต่ก็อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันได้ โดยในวันนี้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นออกมาอย่างเต็มที่

ณัฐกานต์ บอกอีกว่าการพูดถึงเรื่องรัฐอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เครียดและจริงจัง แม้แต่ตัวเยาวชนเองหรือผู้ใหญ่ก็อาจจะนึกไม่ออก จึงใช้วิธีการมาต่อเลโก้ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการใช้ความคิด ต่อยอดจินตนาการ เราไม่ได้ถูกจำกัดจากความเป็นจริงที่อยู่ข้างหน้า กล้าที่จะออกจากกรอบ เมื่อเรากล้าคิดถึงอนาคตแบบออกจากกรอบแล้ว จะทำให้เราสามารถย้อนกลับมาถึงวิธีการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เราอยากได้

วาดภาพชีวิตในฝัน แก้โจทย์กติกาในฝัน กิจกรรมนี้เราอยากให้เยาวชนที่เข้าร่วมรู้สึกว่าตัวเองสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องรัฐธรรมนูญได้ร่วมสนทนากับเพื่อน ๆ และได้รู้ว่าการมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นอย่างไร แต่เรารู้ว่าสิ่งที่ เยาวชนในกิจกรรมนี้พูดไม่ใช่ข้อสรุปของเยาวชนทั้งประเทศ แต่คาดหวังว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมเพื่อให้เกิดกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต และทำให้เยาวชนมีโอกาสได้ส่งเสียงในเรื่องนี้มากขึ้น

ด้าน วรินทร สมฟอง นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า จากผู้เข้าร่วม 40 คน แต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อได้มาต่อเลโก้ ได้ทำกิจกรรมกลุ่ม และได้นั่งฟังทุกกลุ่ม เราจะเห็นเป็นขั้นตอนเดียวกัน สิ่งที่ตัวของเยาวชนได้พบเจอในเรื่องราวที่คล้าย ๆ กัน เช่น ทุกคนอยากเห็นรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การกระจายอำนาจ การบริหารเรื่องเงินและงบประมาณอย่างถูกต้องและเป็นธรรม 

สิ่งนี้ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของกระบวนการคิด ทำให้สามารถนำความคิดของเราสร้างออกมาเป็นภาพ และทำเกิดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น พร้อมเชื่อว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นประเทศของเราดีขึ้น และการได้พูดคุยกับคนรุ่นอื่น ๆ ก็ทำให้เราเห็นภาพและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป 

“ทุกคนก็แค่อยากให้ประเทศไทยดีขึ้น อยากให้บ้านเมืองของเราน่าอยู่ สิ่งนี้เลยทำให้อยากที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน และร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญ”

วรินทร บอกอีกว่า แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญในฝัน แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นฝันของใคร ? แต่ถ้าเป็นฝันของเยาวชนในวันนี้ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ซึ่งความฝันของเราก็จะถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ความฝันอาจไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืน และอันตรายในแง่ของการใช้กฎหมาย เพราะ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ากฎหมายจะถูกนำไปใช้ในลักษณะไหน เราจึงต้องการชุดคุณค่าที่สามารถให้ความสำคัญได้ ซึ่งเราอาจไม่สามารถออกแบบรัฐธรรมนูญในฝันของทุกคนในประเทศได้ แต่เราสามารถสร้างรัฐธรรมนูญให้ยุติธรรมได้ ซึ่งความยุติธรรมนี้เราสามารถขยายความไปได้ถึงกระบวนการ การได้มาซึ่งความยุติธรรม ที่สำคัญรัฐธรรมนูญต้องมีพื้นที่ให้เราได้ถกเถียง พูดคุย และการให้ความหมาย

กิจกรรมครั้งนี้ วรินทร ได้เป็นตัวแทนเยาวชนร่วมนำเสนอในหัวข้อ YOUTH DIALOGUE OUTCOME อนาคตประเทศไทยกับรัฐธรรมนูญในฝัน ในเวทีหลักของงานแฟร์เพื่อความแฟร์ “Thailand Rule of Law Fair 2025” เพื่อบอกเล่าความคิดเห็น และความสามารถในการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการออกแบบรัฐธรรมนูญอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active