สว.อังคณา ระบุรัฐบาลไทยละเมิดคำมั่น UNHCR เหตุจดหมายชาวอุยกูร์คือหลักฐานสำคัญ ว่าไม่อยากกลับจีน ขณะนายกรัฐมนตรีย้ำ ไม่มีการละเมิดสิทธิ์ รัฐบาลเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปตรวจเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับเพื่อความโปร่งใส
วันนี้ (1 มี.ค.2568) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)โดย พลตำรวจเอก ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร.และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ที่เดินทางไปพร้อมกัน เพื่อส่งชาวอุยกูร์ ที่อยู่ห่างไกลกลับไปพบกับครอบครัวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยย้ำว่า จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลจีนให้ความมั่นใจอีกครั้งว่า พวกเขาคือพลเมืองจีนที่จะต้องดูแลเป็นอย่างดี และหลังจากเดินทางส่งชาวอุยกูร์ถึงบ้านแล้ว ได้วางกรอบไว้ว่าประมาณ 15 วัน – 1 เดือน คณะผู้แทนระดับสูงของไทย จะบินไปติดตามพันธสัญญาที่ทั้งสองประเทศให้ไว้ต่อกันอย่างต่อเนื่อง
โดยคณะที่มี เลขาธิการ สมช.ร่วมอยู่ด้วย รายงานว่า ได้อยู่สังเกตการณ์และตรวจสอบชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับสู่แผ่นดินแม่ในรอบ 11 ปี ที่เรียกว่า“ 11 Year Mission possible “โดยชาวอุยกูร์ 40 คนเดินทางถึงเมือง “คาซือ” หรือ เมืองคัชการ์ มณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่ใกล้กับบ้านเกิดของชาวอุยกูร์กลุ่มดังกล่าวมากที่สุด
จิรายุ กล่าวว่า สำหรับการเดินทางเยือนจีนเพื่อสังเกตการณ์และตรวจเยี่ยมการส่งกลับชาวอุยกูร์ครั้งแรกของคณะผู้แทนไทยนั้นจะเดินทางกลับในวันอาทิตย์นี้ พร้อมสรุปรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายใน 7 วัน โดยจะมีการติดตามตรวจสอบตามว่าชาวอุยกูร์ 40 คนที่กลับแผ่นดินแม่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีสิทธิเสรีภาพต่อไป ตามเจตจำนงของทั้งสองประเทศ ส่วนการเดินทางครั้งที่ 2 เมื่อคณะดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทยและมีการสรุปรายงานเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะกำหนดการเดินทางไปตรวจเยี่ยมชาวอุยกูร์อีกครั้งในระยะเวลาประมาณ 15 ถึง 30 วัน ซึ่ง รัฐบาลไทยยืนยันถึงความโปร่งใสและจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนเดินทางร่วมในการตรวจเยี่ยม
สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ระบุก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และข้อตกลงสหประชาชาติ โดยไม่มีการละเมิดสิทธิ์ เป็นความสมัครใจเดินทางกลับ

วันที่ 28 ก.พ.2568 กัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่าน FB เปิดจดหมาย 3 ฉบับที่มีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน คือขอความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวในไทยมานานเกือบ 11 ปี และยืนยันไม่สมัครใจกลับจีน โดยฉบับแรกมาจากผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ถึง UNHCR เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 แต่จดหมายไปไม่ถึง UNHCR ฉบับที่สอง จดหมายจากญาติของผู้ต้องกักที่เป็นตัวแทนของ 43 อุยกูร์ ถึงนายกรัฐมนตรีไทย ขอให้ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เป็นลูกๆ และสามีพวกเขาไปประเทศอื่น จดหมายส่งไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2567 ฉบับที่สามเขียนเขียนโดยผู้ต้องกักอุยกูร์ในห้องกักที่สวนพลูเพื่อขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากภัยอันตราย โดยพวกเขาประกาศอดอาหารเป็นเวลา 19 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 -28 ม.ค.2568
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา และเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกกับ The Active ว่า ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชาวอุยกูร์ที่มาลี้ภัยในไทยหลายครั้ง ที่ด่านสะเดา เสียงสะท้อนที่ได้รับจากชาวอุยกูร์ พบว่า พวกเขาอยากไปอยู่กับครอบครัวที่ตุรกี และเมื่อจดหมายเพิ่งถูกเปิดเผยออกมา คนที่เข้าไปเยี่ยมได้ส่งออกมาให้ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ส่วนตัวก็รับทราบมาตลอดว่า ชาวอุยกูร์เหล่านั้นไม่ได้อยากกลับจีน
ตอนที่เป็นผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ ที่เจนนีวา สหประชาชาติได้มีการออกรายงานหลายฉบับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง
ปัญหาก็คือ สิ่งที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีออกมาพูด ว่าชาวอุยกูร์สมัครใจกลับจีน แต่ถ้าสมัครใจกลับจริง ทำไมกรรมาธิการขอเข้าเยี่ยม 3 ครั้งถึงไม่ให้เยี่ยม และทำไมไม่ให้เขามาแถลงข่าวเอง
“จดหมายของชาวอุยกูร์ที่ออกมา เป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่าเขาไม่อยากกลับ เพราะว่าเขากลัวอันตราย”
ส่วนท่าทีของนานาชาติ อย่างประเทศญี่ปุ่นที่ออกมาประกาศให้ระวังเหตุวินาศกรรมในไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีสมาคมอุยกูร์อยู่ ซึ่งคนอุยกูร์ที่เขาลี้ภัย จะไปพำนักอยู่แทบทุกประเทศทั่วโลก

ถ้าถามว่าไทยจะสู้หน้ากับชาวโลกได้อย่างไร ก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร เมื่อวาน (28 ก.พ.68) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ และมีการประชุมขึ้น ปรากฏว่า ทูตไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม หาตัวไม่เจอ เพราะทุกคนก็อยากจะถามว่า ทำไมรัฐบาลไทยถึงละเมิดต่อคำมั่นที่เคยให้ไว้
อังคณา ยังมองว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เวลานี้ ละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ที่บังคับใช้ในไทยครบ 2 ปี และยังละเมิดสัตยาบันอนุสัญญาอุ้มหายฯ และมาตร 16 ของอนุสัญญาอุ้มหายฯ จึงคิดว่าคณะกรรมการการบังคับสูญหาย สหประชาชาติ อาจมีปฏิกิริยาต่อท่าทีของรัฐบาลไทย ในฐานะภาคีสมาชิก
ส่วนชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับล่าสุด อังคณา ระบุว่า ที่ซินเจียงมีค่ายอบรมขนาดใหญ่ เรียกว่า “ค่ายอบรมการศึกษา” ซึ่งคนที่เข้าไปอยู่ในค่ายจะไม่ได้รับอนุญาตให้ญาติเข้าไปเยี่ยมได้ ทนายจะขอให้ปล่อยตัวก็ไม่ได้ ซึ่งทางสหประชาติ ถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ภาพที่ปรากฎออกมา ว่ามีญาติมาต้อนรับ ชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับไป ซึ่งสังคมตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเหมือนละครฉากหนึ่ง เป็นเพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เพราะก่อนหน้านี้ ที่มีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนเมื่อปี 2558 ก็พบข้อมูลว่าญาติยังไม่รู้ชะตากรรมของคนกลุ่มนี้
“109 คน ที่ส่งไปเมื่อปี 2558 ญาติยังติดต่อมาตลอดว่า ญาติยังไม่รู้ที่อยู่ และชะตากรรมของชาวอุยกูร์กลุ่มนั้นเลย”